ในยุคที่เศรษฐกิจเริ่มทรงตัว และบรรดาสินค้าข้าวของต่างๆเริ่มถีบตัวสูงขึ้นจนเกินรายได้ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลให้คนไทนตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และหันมาใส่ใจเรื่องการวางแผนทางการเงินในทุกสาขาอาชีพ ประกอบกับสภาวะสงครามที่เพิ่งประกาศไป แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นใน แถบทวีปเอเชียของเราเลยก็ตาม แต่ทุกอย่างล้วนมีผลกระทบมาถึงเราแทบทั้งสิ้น
วันนี้เราได้รวบรวมสารพัดวิธี วางแผนการใช้เงิน อย่างรอบคอบ ในสภาวะเศรษฐพกิจเช่นนี้มาฝากกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
1. การวางแผนการเงิน
ถือเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการวางแผนจะนำพาไปสู่ความสำเร็จในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเงินในครอบครัว ค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือในส่วนของกิจการต่างๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงรายได้ เงินออม ภาษี และการจัดการหนี้สินต่างๆ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเอง เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของค่าใช้จ่าย และอุปนิสัยส่วนตัว ว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะล้มเหลวทางด้านการเงินมากเพียงใด จะได้นำมาปรับใช้กับการวางแผนในครั้งนี้ได้
2) ตั้งเป้าหมายเป็นระยะเวลา โดยอ้างอิงจากเป้าหมายที่ต้องการและความเป็นไปได้ โดยแบ่งเป็นระยะเวลา เช่น 3,5,7,10,15,20 ปี ตามลำดับความยากง่ายของเป้าหมายต่างๆเหล่านั้น
3) จัดสัดส่วนการใช้จ่ายให้เหมาะสม โดยกันค่าใช้จ่ายจำเป็นออกมาก่อน แล้วนำเวินที่เหลือมาออมและลงทุนตามวิธีการต่างๆที่คุณถนัด เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
4) ทดลองแผนที่วางไว้ เพื่อดูทิศทางความเป็นไปได้ หากดูแล้วยังไม่ถึงเป้าหมาย ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น ปรับลดค่าใช้จ่ายลง หรือลดเป้าหมายลง แล้วเพิ่มระยะเวลาแทน เป็นต้น
2. ควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว
หรือเรียกว่ายๆว่าการจัดทำงบดุลค่าใช้จ่ายนั่นเอง เพราะแผนการเงินจะสำเร็จไปไม่ได้ หากไม่มีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งวิธีควบคุมไม่ให้แผนการเงินของคุณรั่วไหล มีดังนี้
1) รวบรวมตัวเลขรายได้ทั้งหมด แล้วระบุถึงแหล่งที่มา เช่น เงินเดือน ค่าเช่า โบนัสพิเศษ รายได้จากร้านค้าออนไลน์ เงินปันผลต่างๆ เป็นต้น
2) จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยหมั่นจดบัญชีทุกวัน เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของเงินรายได้และรายจ่ายต่างๆ เพื่อที่คุณจะได้รู้ที่มาที่ไป ว่าคุณเสียเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง
3) คาดคะเนรายจ่ายในอนาคต เพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างมีความผันแปร เช่นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ดังนั้นคุณจึงต้องบวกรายจ่ายในอนาคตเข้าไปด้วย ประมาณ 10% ของรายจ่ายปกติ
4) จัดทำรายงานสรุปงบประมาณ และทำงบดุลเงินสด โดยเพิ่มช่องในสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่าย แบ่งเป็นระยะเวลาตามช่วงต่างๆ เช่น ต่อสัปดาห์,ราย 15 วัน ,ต่อเดือน,ต่อปี เป็นต้น แล้วรวมยอดทั้งส่วนของรายรับรายจ่าย นำมาเปรียบเทียบกัน หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ ก็ให้กลับมาดูในด้านรายละเอียด ว่าพอจะปรับลดอะไรลงได้บ้าง
3. สนุกกับการออมเงิน
โดยเก็บออมแยกเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีรายจ่ายฉุกเฉิน บัญชีเงินออม และบัญชีเพื่อการลงทุน ซึ่งเคล็ดลับในการออมนั้น มี 2 วิธี ได้แก่ การออมแบบหักจากเงินเดือนตามเปอร์เซ็นต์ในทุกๆเดือน หรือออมแบบเพิ่มมูลค่า ซึ่งเหมาะสำหรับคนชอบช้อปปิ้ง โดยบวกเพิ่ม10%จากยอดซื้อแล้วนำมาออม เป็นต้น
4. บริหารหนี้อย่างชาญฉลาด
หนี้สินนั้นมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะเป็นหนี้แบบไหน หนี้บางอย่างถือเป็นหนี้ดี เพราะใช้ให้เป็นประโยชน์ในรายจ่ายจำเป็นต่างๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก เป็นต้น หนี้อีกแบบคือหนี้สินฟุ่มเฟือย ซึ่งหมายถึงหนี้ที่ใช้จ่ายโดยไม่เกิดประโยชน์ ใช้ในเรื่องฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น ซื้อเพื่อการอวดฐานะทางสังคม ซื้อเพื่อบำบัดความเครียด เป็นต้น
วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการลดหนี้คือ ชำระเงินคืนเป็นก้อน เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆตั้งเป้าหมายในการปลดหนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
อ่านเพิ่มเติม >> บริหารหนี้อย่างไร ให้หมดหนี้แบบหมดจด <<
5. วางแผนประหยัดภาษี
สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่นหาข้ออ้างเรื่องอัตราค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น การบริจาค ค่าเลี้ยงดูบุตรดอกเบี้ยในการกู้ซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยต่างๆ เบี้ยประกันชีวิต และการเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น
ควรวางแผนในเรื่องการเสียภาษีร่วมด้วย โดยการศึกษาตามเว็ปไซต์ที่ให้ความรู้ต่างๆ ว่าการเสียภาษีในรูปแบบไหนที่เหมาะกับคุณ และมีความคุ้มค่ามากที่สุด
6. วางแผนการเงินในช่วงวัยเกษียณ
ก่อนอื่น คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร และถึงเวลานั้นอยากมีเงินเดือนใช้เดือนละเท่าไร โดยใช้วิธีนำอัตราเงินเดือนในเดือนสุดท้ายมาหารครึ่ง ซึ่งตัวเลขที่ได้จะเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนในวัยเกษียณที่ค่อนข้างแน่นอน โดยคำนวณง่ายๆรวมกับค่าสาธารณูปโภคต่างๆที่ใช้ในปัจจุบัน อย่าลืมหาแหล่งรายได้ถาวรเอาไว้ด้วยเผื่อฉุกเฉิน เช่น ปล่อยบ้านให้เช่า หรือนำเงินเก็บางส่วนไปลงทุนตามแหล่งต่างๆ เป็นต้น
7. วางแผนเพื่อการลงทุน
โดยวางแผนให้รอบคอบสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ อย่าลืมวางเงินแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ด้วย เช่น ถ้าคุณต้องการลงทุน 1 แสนบาท คุณก็ต้องมีเงินเก็บ 2 แสนบาทขึ้นไป เพื่อที่คุณจะได้ไม่เจ็บตัวมากเมื่อต้องประสบสภาวะขาดทุนในอนาคต และควรมองหาแหล่งลงทุนอื่นๆสำรองเอาไว้ด้วย
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นวิธีการบริหารเงินอย่างง่ายๆ ที่จะทำให้คุณมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต โดยไม่ต้องหวังพึ่งลูกหลานหรือรายได้จากรัฐมาเลี้ยงดูตัวเองในวัยเกษียณ เพื่อที่คุณจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุขและไร้ความกังวลไปตลอดชีวิต