คนยุคใหม่ต้องหันมาใส่ใจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กันให้มากขึ้น แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะคิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้ายิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ก็จะยิ่งมีความรู้มาก ยิ่งวางแผนการเงินเร็ว ก็จะยิ่งมีเงินเก็บเร็วและมาก ต่อไปชีวิตไม่ลำบากแน่ ๆ
มีหนังสือเพิ่งออกใหม่อยู่เล่มหนึ่งค่ะ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “สร้างวินัยทางการเงินกันใหม่” เขียนโดย เนตรทราย ราชรักษ์ เป็นหนังสือขนาดกะทัดรัด เล่มเล็ก น้ำหนักเบา ถืออ่านได้แบบสบาย ๆ ความโดดเด่นที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สะดุดตาตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดอ่านก็คือรูปวาดการ์ตูนน่ารัก ๆ ที่อยู่หน้าปกและมีตลอดแทบทุกหน้าในหนังสือเล่มนี้ ช่วยให้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ดูเป็นหนังสือการเงินแบบหนัก ๆ ที่อ่านแล้วต้องทำหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะเครียด
เมื่อลองเปิดอ่านเนื้อหาด้านในก็จะพบว่า ไม่ใช่แต่เพียงรูปวาดการ์ตูนเท่านั้นที่โดดเด่น แต่เนื้อหาภายในเล่มก็สร้างความประทับใจให้กับคนอ่านได้ไม่แพ้กัน เพราะสไตล์การเขียนไม่เน้นความจริงจังหรือซีเรียส สำนวนการเขียนอ่านง่าย ทำให้เรื่องการเงินใกล้ตัวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้แบบง่าย ๆ
แม้ขนาดของหนังสือเล่มนี้จะเล็กกะทัดรัด แต่เนื้อหาการเงินด้านในนั้นไม่ได้เล็กเหมือนขนาดของหนังสือเลย เพราะครอบคลุมเนื้อหาที่น่าสนใจแทบทุกหมวดหมู่ที่เรานึกอยากจะรู้หรืออยากจะอ่าน หนังสือเล่มนี้มีให้หมด เรียกว่าหากใครที่คิดอยากวางแผนการเงินให้กับตัวเอง อ่านหนังสือเล่มนี้เล่มเดียวจบครบ
ประโยคที่ว่า “ทำยังไงให้ได้เงิน ไม่สำคัญเท่ากับ ทำยังไงให้เงินยังอยู่ในกระเป๋า” เป็นใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ หากว่าเงินที่อยู่ในกระเป๋าเรายังไม่สามารถรักษาไว้ได้ ก็อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้ได้เงินมาก ๆ เลย คุณเนตรทรายว่าอย่างนั้นค่ะ
เราลองไปดูเนื้อหาบางตอนที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้กันดีกว่าค่ะ
- การควบคุมอารมณ์ ใครเปิดอ่านมาถึงหน้านี้จะอมยิ้มกับตัวเองแล้วบอกว่าตรูก็เคยเป็น คนหลายคนเป็นกันค่ะ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วก็เลือกวิธีบำบัดอารมณ์ขึ้นลงของตัวเองด้วยการใช้จ่าย เครียดก็ซื้อ โมโหก็ซื้อ เสียใจก็ซื้อ ดีใจก็ซื้อ เบื่อก็ซื้อ โดยสะกดจิตตัวเองว่าใช้เงินแล้วจะหายโกรธ ใช้เงินแล้วจะหายเครียด ใช้เงินแล้วจะหายเหนื่อย ใช้เงินแล้วจะสบายใจ ใช้เงินแล้วจะมีชีวิตต่อได้ ลองคิดดูว่าในหนึ่งวันคนเราก็ต้องมีอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าต้องบำบัดด้วยการใช้จ่าย ก็คงต้องใช้ทุกวัน แล้วแบบนี้เราจะเก็บเงินอยู่ได้อย่างไร คุณเนตรทรายได้แนะนำว่ามีหลายวิธีที่ช่วยบำบัดอารมณ์แบบไม่สิ้นเปลืองเงิน เช่น ทำกับข้าวกินกันเองในบ้าน ไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ฯลฯ ของแบบนี้ต้องลองทำดู ต้องเริ่ม ต้องลองด้วยตัวเองถึงจะรู้ค่ะ อย่าให้อารมณ์ทำให้เงินให้กระเป๋าหลุดลอยไป
- พกเงินเท่าที่จำเป็น คอนเซ็ปต์นี้เข้าใจได้ง่าย ๆ ค่ะ ถ้าเรามีเงินในกระเป๋ามาก โอกาสที่จะหยิบใช้ก็มากตามไปด้วย ลองดูค่ะ พกเงินเท่าที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันเท่านั้น แล้วจะไม่มีช่องให้เราหยิบจ่ายเงินกับเรื่องไม่จำเป็นที่อาจเข้ามาวันใดก็ได้ ไม่ใช่เพราะอะไรพอตัดสินใจจะซื้อแล้ว เปิดกระเป๋าออกมา เงินไม่พอจ่าย ก็จบไปแบบง่าย ๆ ค่ะ เราสามารถจำกัดเงินที่เราจะใช้จ่ายในแต่ละวันได้ด้วยพฤติกรรมการพกเงินเท่าที่จำเป็นนี้แหละค่ะ ช่วยได้จริง ๆ
- อย่าปล่อยใจไปกับสังคม สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เอื้อให้คนต้องใช้จ่ายเงินกันมากขึ้นจริง ๆ แต่ก่อนเราคิดว่าไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน ขอเพียงแต่อยู่บ้านเท่านั้นก็จะประหยัดเงินได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะแม้แต่การนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้านก็ยังสามารถจับจ่ายผ่านทางออนไลน์ได้แบบสบาย นั่งสไลด์ไอโฟนอยู่ในสังคมโลกออนไลน์ก็เหมือนอยู่ในโลกกว้าง เห็นว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร เห็นว่าใครมีอะไร ซื้ออะไร กินอะไร แล้วช่องทางการจับจ่ายแบบง่าย ๆ และสะดวกอย่างการซื้อของออนไลน์ก็ทำให้เราต้องเสียเงิน ดังนั้นการควบคุมอย่าปล่อยให้ใจลอยไปกับสังคมรอบข้าง เราต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวซึ่งก็คือเป้าหมายของการวางแผนการเงินที่เราตั้งไว้นั่นเอง
- ไม่สร้างหนี้หลายก้อนในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีค่ะ ว่าในปัจจุบันนี้หากว่าเราอยากได้อะไรแล้วรอเก็บเงินให้ครบแล้วค่อยซื้อนั้นทำได้ยาก ยิ่งเป็นของชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือรถยนต์ก็แทบจะหมดหวังหากจะต้องรอแบบนั้น คนเราจึงจำเป็นต้องมีหนี้เพื่อซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเราวางแผนที่จะมีหนี้แบบมีเป้าหมาย คือรู้แน่นอนว่าเราควบคุมหนี้นี้ได้ รายได้เพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้โดยที่ไม่มีปัญหา สิ่งสำคัญที่จะทำให้หนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ก็คือการสร้างหนี้หลายก้อนในเวลาเดียวกัน ทำให้หนี้ที่มีอยู่ประปรายตรงนี้บ้าง ตรงนั้นบ้าง เมื่อรวมกันก็กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่าที่เราคิดไว้ กลายเป็นปัญหาหนี้ที่แก้ไม่ตกได้ ดังนั้นในเมื่อหนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้เป็นหนี้ทีละก้อน จ่ายให้จบเป็นเรื่อง ๆ แล้วค่อยสร้างหนี้ใหม่ แบบนี้จะบริหารจัดการได้ดีและง่ายกว่ากันค่ะ
เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องที่เคยอ่านหรือรู้ ๆ กันอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่สามารถทำได้ การเลือกซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านก็จะเป็นการเปิดโลกการเงิน นำเรื่องการวางแผนการเงินกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ใครที่ยังไม่เริ่มจะได้เริ่มเสียที หรือใครที่เริ่มแล้วก็อ่านดูได้ว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องไปที่เราสามารถทำเพิ่มเติมได้อีก
เนื้อหาช่วงหลังของหนังสือเล่มนี้เป็นการให้ความรู้ในเรื่องการเป็นหนี้ ว่าเมื่อมีหนี้แล้วควรจัดการอย่างไร เรื่องดอกเบี้ยของธนาคาร เรื่องการผ่อนอสังหาริมทรัพย์และรีไฟแนนซ์ ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์กับคนที่ต้องการวางแผนเรื่องหนี้มาก ใครที่กำลังมองหาหนังสือที่จะช่วยเรื่องวางแผนการเงินและการเป็นหนี้ ก็ขอแนะนำหนังสือเล่มกะทัดรัดอ่านสบาย ๆ เล่มนี้ค่ะ