การบริหารเงินออมมีหลายวิธีที่จะช่วยให้เงินออมของคุณงอกเงยขึ้นทั้งจากการกระทำภายนอกและภายในซึ่งได้แก่พลังใจ พลังความคิด ที่จะทำให้การบริหารเงินออมของคุณไปถึงจุดหมายที่ต้องการ โดยมี 10 วิธีที่จะช่วยคุณไปถึงจุดหมายด้วยตัวของคุณเอง ส่วนวิธีการจะมีอะไรบ้างนั้นมาติดตามเลยค่ะ
1.เน้นประหยัด
อะไรประหยัดได้ก็ควรประหยัด การประหยัดนับว่าเป็นการบริหารเงินที่ดีที่หลายคนใช้แล้วเห็นผลเป็นมูลค่าเงินทันที เช่น ประหยัดค่าโดยสารจากนั่งรถแท็กซี่มาเป็นรถโดยสารประจำทางจะช่วยเซฟเงินขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง เราควรสร้างนิสัยแห่งการประหยัดให้เป็นนิสัยเพื่อจะได้ไม่มานั่งเสียใจว่าทำไม่เราถึงเป็นคนที่ไม่รู้จักประหยัดไม่รู้จักบริหารการเงิน ถึงแม้จะเป็นเงินเล็กน้อยแต่ถ้าประหยัดทุกวันก็สามารถมีเงินเหลือเก็บได้มากอยู่
2.ออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย
ทุกสิ่งหากมีเป้าหมายและเราทำได้จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เช่น บางคนตั้งเป้าหมายว่าจะออมสำหรับให้พอค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน และก็ทำได้ถือว่าเป้าหมายบรรลุ แต่อาจมีหลายคนที่ยังทำได้ไม่ถึงเป้าหมายแต่ถ้าได้เริ่มต้นอย่างมีวินัยก็เชื่อว่าจะไปถึงเป้าหมายเช่นกัน และควรตั้งใจที่จะออมไปทุกเดือนเพราะเงินออมจะช่วยคุณได้ในหลายเรื่อง
3.มองหาทางเลือกการลงทุนอื่น
นำเงินออมที่เหลือมาเลือกลงทุน เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวม หลายคนเตือนว่าการลงทุนในกองทุนรวมมีความเสี่ยง แต่ก็อย่าวิตกจนเกินไป เพราะมีกองทุนรวมบางประเภทที่มีความปลอดภัยเหมือนฝากเงินธนาคาร ลองศึกษาข้อมูลดูก่อน
4.หาความรู้อยู่เสมอ
เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน คุณควรหาความรู้อยู่เสมอ ซึ่งมีวิธีหาความรู้อย่างง่าย ๆ มากมาย ไม่ว่าจะหาความรู้ด้วยตนเองหรือสอบถามผู้มีประสบการณ์ ล้วนมีส่วนช่วยให้คุณได้ข้อมูลความรู้เพิ่มขึ้น และลองใคร่ครวญข้อมูลเพื่อชั่งน้ำหนักวิเคราะห์ด้วยตนเองก่อนแล้วจึงตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่
5.อดทนเพื่อรอโอกาส
โอกาสในการลงทุนไม่ได้มีหนเดียว คุณมีโอกาสหลายครั้งเว้นเสียแต่ว่าคุณจะปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไป การนำเงินไปลงทุนที่ยังไม่ได้คิดรอบด้านอาจจะทำให้คุณเสียทั้งเงินและเวลา ดังนั้น จงศึกษาให้ดีก่อนที่จะลงทุน คำนึงถึงผลได้ผลเสีย ของการลงทุนแต่ละแห่ง แล้วนำมาคัดสรรอีกทีว่าควรจะลงทุนประเภทใดจึงจะเหมาะสมและมีรายได้งอกเงย
6.กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
การลงทุนในบ้านเรามีหลายประเภทคุณอาจเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หลาย ๆ ตัว เช่น ลงทุนในหุ้น ในทองคำ ในน้ำมัน ในเงินฝาก ในอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศและต่างประเทศบ้าง เผื่อบางตัวขาดทุน ก็จะมีตัวอื่นที่มีกำไรให้เราได้มีกำลังใจบ้าง การกระจายความเสี่ยงดีกว่ากระจุกการลงทุนอยู่ที่แห่งเดียว
7.ลงทุนในสิ่งที่ตนเข้าใจเท่านั้น
ข้อนี้แม้แต่วอร์เลน บัฟเฟตต์ เศรษฐีหุ้น เขาจะยังไม่ซื้อหุ้น หากเขายังไม่เข้าใจว่าบริษัทที่เขาจะซื้อหุ้นนั้นผลิตอะไร และไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร เขาก็ยังไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะเขาเองก็ไม่ได้เก่งกว่า ดังนั้น ตัวเราเองก็เช่นกันหากยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงก็อย่าเพิ่งลงทุน ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะน้อย แต่ก็ยังอุ่นใจที่เรารู้ว่าเงินยังอยู่ในกระเป๋า
8.ลงทุนในของดีมีคุณภาพ
เวลาจะเลือกลงทุนให้คุณเลือกลงทุนในของจริงและเป็นของดี ถึงแม้ว่าของดีจะมีราคาแพงกว่า แต่เมื่อเทียบคุณค่าแล้ว ของดีมักจะคุ้มค่า มีความมั่นคงและปลอดภัยกว่า อย่ามองหาการลงทุนที่เป็นของถูกแต่เพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าคุณจะซื้อหุ้น จะต้องซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี อยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี มีความเติบโต เป็นผู้นำตลาด เป็นต้น
9.ลงทุนเดือนละครั้ง
สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา คุณอาจเลือกวันใดวันหนึ่งของเดือนที่สะดวกและว่าง ๆ นำเงินไปลงทุนอาจจะเดือนละครั้ง นำเงินไปฝากธนาคารไปซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุน หรือไปซื้อหุ้น ซึ่งการทยอยลงทุนเดือนละครั้งถือว่าเป็นการเฉลี่ยต้นทุนที่ดี
10.ต้องมีวินัย
คุณต้องมีวินัยข้อนี้สำคัญมาก เมื่อคุณตั้งใจไว้ว่าจะออมเงินเป็นจำนวนเท่าไร คุณต้องทำให้ได้ตามนั้น และหากคุณตั้งใจว่าจะลงทุนกับอะไร คุณก็ต้องทำให้ได้ คอยหมั่นปรับปรุงแผนการลงทุนของตนเองเสมอให้เหมาะสมกับภาวการณ์
การบริหารเงินออมให้งอกเงยนั้นทำไม่ยากแต่คุณต้องมีความรู้และเข้าใจในการนำเงินออมไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ คุณจะต้องเข้าใจในสิ่งที่คุณจะลงทุนอย่างแจ่มแจ้งก่อนมิใช่คลุมเครือแล้วยอมเสี่ยงนำเงินที่สู้อดออมมาไปลงทุนในกิจการที่ตนเองก็ยังไม่เข้าใจ นอกจากนี้เมื่อคุณตั้งใจออมเงินเป็นจำนวนเท่าไรในแต่ละเดือนควรทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพราะมีทางเลือกให้ลงทุนที่หลากหลาย ควรแบ่งเงินไปลงทุนในหลาย ๆ ตัว เพื่อที่ตัวไหนมีกำไรคุณก็จะได้รับ ส่วนตัวไหนขาดทุนจะได้เฉลี่ยได้ ไม่ทำให้คุณเจ็บตัวมากนัก