เมื่อเราทำงานได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มอยากจะมีบ้านหรือคอนโนมิเนียมเป็นของตัวเอง และมักจะมีคำถามตามมาว่ามีเงินเดือนเท่านี้ ต้องการกู้ซื้อบ้านราคาเท่านี้ ธนาคารจะอนุมัติหรือไม่ ไม่ต้องกังวลหรือสงสัยกันต่อไป มาดูกันว่าเวลากู้เงินซื้อบ้าน ธนาคารจะพิจารณาจากอะไรบ้าง
เริ่มที่ตัวเราที่จะเป็นคนกู้เงินก่อนดีกว่า
อันดับแรกเลย คือ เราจะต้องมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ถ้าเป็นช่วงทดลองงานอยู่อาจจะยากสักหน่อย เพราะธนาคารอาจจะมองว่ายังไม่มั่นคง รายได้ที่มีจะต้องเพียงพอต่อค่างวดที่จะผ่อนในแต่ละเดือน ในขณะเดียวกันรายจ่ายก็ต้องไม่เกินตัวด้วย โดยเฉพาะบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเวลาที่ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้ให้นั้น ธนาคารจะดูข้อมูลสินเชื่อต่างๆ ของเราที่เครดิตบูโรประกอบด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประวัติการชำระเงินของเราจะต้องสวยงาม ไม่มีประวัติชำระเงินล่าช้าหรือหนี้เสีย และเพื่อให้อุ่นใจอีกสักนิด ก็ควรที่จะมีเงินสำรองอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าธนาคารอาจจะไม่ขอข้อมูลก็ตาม เราอาจใช้โปรแกรมคำนวณอัตโนมัติที่มีให้บริการอยู่ในหลายเว็บไซด์เพื่อประเมินในเบื้องต้นได้
ระยะเวลากู้
เมื่อสำรวจความพร้อมทางด้านการเงินของเราแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ว่าจะกู้เป็นระยะเวลากี่ปีดี คำตอบที่มักจะได้รับการแนะนำจากธนาคาร คือ เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระนานที่สุด เพื่อให้จำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดไม่สูงมาก ถ้าหากเรามีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตค่อยเพิ่มอัตราการผ่อนชำระให้สูงขึ้น เพื่อลดเงินต้นและดอกเบี้ย ตามปกติระยะเวลาที่ธนาคารจะปล่อยกู้ได้นานที่สุด คือ 30 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ด้วย เช่น ถ้าตอนนี้เรามีอายุไม่เกิน 40 ปี ธนาคารยังสามารถให้ระยะเวลาผ่อนชำระได้นาน 30 ปี ได้ โดยธนาคารจะคำนวณอายุผู้กู้บวกกับระยะเวลาผ่อนชำระ โดยต้องไม่เกิน 60 หรือ 70 ปี แล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร หรือถ้าเป็นการกู้ร่วม จะคำนวณจากอายุของผู้กู้ที่น้อยกว่า
วงเงินที่จะกู้
สำหรับวงเงินที่ธนาคารจะอนุมัติให้เรานั้นมาจาก 2 ส่วน คือ ราคาประเมินของบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่เราจะซื้อ กับความสามารถในการผ่อนชำระหรือสถานะทางการเงินของเรานั่นเอง โดยการประเมินราคาบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้น หากเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมใหม่นั้น ธนาคารมักจะให้กู้เกือบ 100% ของราคาซื้อขาย บางธนาคารยังอนุมัติวงเงินเพิ่มเพื่อตกแต่งที่อยู่อาศัยด้วย ส่วนมากธนาคารมักจะไม่ทำการประเมินราคาบ้านใหม่ แต่มักจะอนุมัติสินเชื่อตามราคาซื้อขายเลย
แต่หากเราต้องการ ซื้อบ้านมือสอง เราอาจจะต้องมีเงินสำรองก้อนหนึ่ง เพราะธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้เพียง 80-90% ของราคาประเมินเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการประเมินราคา และค่าโอน หรือค่าใช้จ่ายในการการจดจำนองที่ดิน เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน เพราะฉะนั้นการซื้อบ้านมือสองเราจึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองที่มากอยู่สักหน่อย
คำถามที่ตามมาอีกคำถามหนึ่งคือ หากว่าเราเกิดถูกใจบ้านใหม่ของโครงการหนึ่งมากๆ แล้วกลัวคนอื่นจะมาซื้อตัดหน้าไปเสียก่อน จึงรีบจ่ายเงินค่าจองก่อนได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ หากในภายหลังธนาคารไม่อนุมัติ จะได้รับเงินจองคืนหรือเปล่า
คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโครงการ แต่โดยส่วนใหญ่ทางโครงการจะคืนเงินจองให้กับลูกค้าในกรณีที่ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าให้สนใจซื้อโครงการนั่นเอง
เมื่อเรารู้แล้วว่าธนาคารพิจารณาอะไรบ้าง เราก็สามารถเตรียมตัวในส่วนของเราให้พร้อม สร้างวินัยทางการเงิน ชำระค่างวดบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆให้ตรงเวลา ในขณะเดียวกันก็ออมเงินไว้ส่วนหนึ่ง เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะยังมีเงินสำรองจ่ายค่างวดอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้เราก็สามารถมีบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเองได้แล้ว….