ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งใน ปัจจัยพื้นฐานสี่ประการในการดำรงชีวิต บ้านเป็นศูนย์รวมสมาชิกในครอบครัว และศูนย์รวมจิตใจ ใครที่ทำงานเหนื่อยก็อยากกลับบ้าน เพราะบ้านเป็นที่พักผ่อนที่ทำให้เราสบายกายสบายใจที่สุดเมื่อได้อยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องเร่ร่อนหาที่พักข้างทางไปวันๆ เพราะฉะนั้นแล้ว ใครที่มีบ้านเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือไม่ ก็จงภูมิใจเถิดที่เรายังมีบ้านให้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง บทความนี้เราจึงจะกล่าวถึงเรื่องบ้าน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้สร้างบ้านด้วยเงินสด แต่กู้ธนาคารมาเพื่อผ่อนบ้าน เมื่อผ่อนครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป เราจะมาลำดับขั้นตอนกันคร่าวๆเพื่อความเข้าใจกันก่อน
- รับโฉนดที่ดินและบ้านจากธนาคาร หลังจากที่เราผ่อนกู้ครบตามกำหนดที่มีไว้ในสัญญาแล้ว ทางธนาคารที่เรายื่นกู้ด้วยนั้น จะส่งใบแจ้งให้ผู้กู้ไปติดต่อขอรับโฉนด และเอกสารหลักฐานว่าได้ผ่อนชำระหนี้ครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเราก็จะได้รับโฉนดที่ดินมา
- ติดต่อกรมที่ดินในเขตพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ เพื่อดำเนินการแก้ไขชื่อให้เป็นชื่อของเรา ว่าโฉนดนี้หลุดจำนองแล้ว เราเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของ ตรงนี้จะเสียค่าธรรมเนียมหลักร้อย โดยการดำเนินการนี้ไม่ใช่การโอน แต่เป็นการปลดจำนองจากธนาคาร เพราะตั้งแต่ที่เราทำสัญญากับทางธนาคารนั้น ก็มีการบันทึกในสารบัญหลังโฉนดอยู่แล้ว ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพียงแค่เราใช้โฉนดบ้านเป็นหลักประกันในการกู้เงินเท่านั้น ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ยังเป็นชื่อเดิม ดังนั้นเมื่อเราชำระหนี้จนหมดสิ้น หลักประกันซึ่งก็คือโฉนดที่ดินที่เรายื่นไว้ก็จะพ้นจากสัญญา โดยไม่ต้องโอนแต่อย่างใด
นอกจากเรื่องของการผ่อนบ้านหมดแล้ว ก็ยังมีคำถามมากมายเกิดขึ้น อย่างเช่น
- กรณีมีผู้กู้ร่วม หมายถึง กู้บ้านร่วมกันสองคน (อาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือสามีภรรยา) แล้วกรรมสิทธิ์จะตกอยู่กับผู้ใด ?
ตอบ ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่า ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นจะถูกบันทึกลงสารบัญด้านหลังโฉนดอยู่แล้ว ดังนั้น ในกรณีดังกล่าว เช่น นางเอื้ออารีและนายมนัส ได้ทำสัญญากู้ซื้อบ้านร่วมกัน เมื่อครบสัญญาแล้วได้รับโฉนดคืน ก็ต้องมาดูว่า ในวันที่ทำสัญญาร่วมกันนั้น ใครเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ ในกรณีนี้ นายมนัสผู้เป็นสามีตัดสินใจใส่ชื่อของภรรยาคือนางเอื้ออารีลงไป ดังนั้น นางเอื้ออารี จึงได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนี้ไป หากนางเอื้ออารีต้องการโอนหรือยกบ้านหลังนี้ให้แก่ลูกในภายหลัง ก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามความต้องการ - กรณีกู้ร่วมกัน แต่ผู้กู้ร่วมอีกคนหนึ่ง ไม่ได้ร่วมผ่อนชำระด้วย จะทำอย่างไร?
ตอบ ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมคนใดคนหนึ่งนั้น ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ขาดการชำระหนี้บ่อยครั้ง เรื่องนี้ผู้กู้ทั้งสองก็ต้องมาเจรจาตกลงกันก่อนว่า จะเปลี่ยนผู้กู้ร่วมหรือไม่ หรือจะให้มีผู้กู้เพียงคนเดียว คือผู้ที่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ เพราะหากผู้กู้อีกคนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น จะทำให้เกิดปัญหาในการผ่อนชำระหนี้กับทางธนาคารในภายหลัง ดังนั้นจึงอาจหาทางออกด้วยการหาผู้กู้ร่วมคนใหม่ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือหากผู้กู้มั่นใจว่า สามารถผ่อนชำระหนี้แต่เพียงผู้เดียวได้ ควรติดต่อกับทางธนาคารเพื่อดำเนินการแก้ไขชื่อผู้กู้ร่วมในทันที เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง - เสียค่าธรรมเนียมเพื่อดำเนินการคืนกรรมสิทธิ์แก่ผู้กู้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ?
ตอบ ค่าธรรมเนียมอยู่ในหลักร้อยดังที่กล่าวไป โดยสามารถดำเนินการได้ที่ สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัย ตามวันและเวลาราชการ
สำหรับผู้ที่ยังผ่อนบ้านไม่หมด แต่อยากผ่อนให้หมดไวๆล่ะ จะทำอย่างไร เราก็มีวิธีมาแนะนำเช่นเดียวกัน
อยากผ่อนบ้านให้หมดเร็วๆสามารถใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- การจ่ายเพิ่มในทุกๆเดือน เช่น เรามีค่าผ่อนบ้านรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท เราอาจชำระเพิ่มอีก 2,000 บาท เป็น 17,000 บาท หากเรามีกำลังที่จะจ่ายไหว ก็จะสามารถลดเงินต้นได้เร็วขึ้น แถมยังช่วยลดดอกเบี้ยไปในตัวด้วยล่ะ
- โปะด้วยเงินออมและเงินโบนัสเพื่อให้หมดไว ในช่วงปลายปี หากเรานำเงินโบนัส หรือแบ่งเงินที่ออมไว้ออกมาก้อนหนึ่งเพื่อนำมาโปะหนี้ ก็จะทำให้หนี้ลดลงเร็วขึ้น โดยเงินที่นำมาโปะเพิ่มนี้ ควรเป็นเงินที่ไม่มีผลต่อการใช้จ่ายตามปรกติของเรา เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิต
เอาเป็นว่าสำหรับใครก็ตามที่ผ่อนบ้านจนหมดแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่สำหรับคนที่ยังเหลือยอดหนี้และระยะเวลาการผ่อนอีกนาน ก็ค่อยๆผ่อนไปตามที่ธนาคารกำหนด กรรมสิทธิ์ในบ้านอยู่อีกไม่ไกล ไม่นานเกินกำลัง และความสามารถแน่นอน เราขอเป็นกำลังใจให้