ถ้าจะให้นิยามหรือคำจำกัดความของ “ความรวย” นั้นก็ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเรื่องระดับความรวยที่ต้องมีเท่าไหร่จึงจะเรียกว่ารวย ทั้งความรวยยังมีหลากหลายมิติไม่ได้จำเพาะอยู่แต่เรื่องเงินทองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ คำว่า “รวย” ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนมีเงิน 1 ล้านบาทก็เรียกว่ารวยแล้ว ส่วนสำหรับบางคนมีเป็นสิบล้านร้อยล้านก็ยังไม่คิดว่าตัวเองรวยอยู่ดี
“ความรวย” ของคุณมีหน้าตาเป็นแบบไหนกันคะ วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้ไปอ่านเจอเข้ากับบทความหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจดี เลยอยากนำมาแบ่งปันให้อ่านกันค่ะ “ความรวยที่ไม่โจ่งแจ้ง” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกเราทุกวันนี้นั้นเป็นโลกของทุนนิยมเต็มใบ มองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องให้ต้องใช้เงิน จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องทำงานเพื่อจะได้มีเงินทองมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อของที่อยากได้ อยากมี และอยากกิน เพื่อเติมเต็มให้กับทั้งความจำเป็นและความต้องการของเรา ถ้าอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ข้าวของเครื่องใช้ที่หามาเพียงเพื่อให้เราอยู่รอดไปวัน ๆ เราคงไม่ต้องดิ้นรนเพื่อเดินเข้าหาความรวยกัน แต่นี่ไม่ใช่!
เพราะสิ่งของทุกอย่างที่เราหาซื้อมานั้นในอีกทางหนึ่งมันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงสถานะของเราได้เหมือนกัน มนุษย์เราเมื่อก้าวข้ามพ้นความจำเป็นขั้นพื้นฐานและมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว ก็แน่นอนว่าย่อมต้องมีความต้องการอยากเป็นที่ยอมรับของสังคมและสิ่งของต่าง ๆ ที่เรากินและเราใช้นี่แหละที่เราเชื่อว่า (และบ่อยครั้งมันเป็นจริง) จะทำให้เราเป็นที่ยอมรับของสังคมได้จริง ๆ
ย้อนกลับไปในอดีตมนุษย์เราได้มีการแบ่งแยกชนชั้นสถานะกันโดยใช้สายเลือดและฐานันดรเป็นตัวแบ่ง แต่เมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมที่เป็นยุคแห่งการบริโภคอย่างเต็มตัวเช่นนี้แล้ว สิ่งที่จะแบ่งชนชั้นและสถานะของมนุษย์ก็คือข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดจากการบริโภคของเรานี่เอง คนที่มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หรูขับ ใส่เสื้อผ้าถือกระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง กินแต่อาหารในร้านเลิศหรู สวมใส่นาฬิกามีระดับ ก็มักจะถูกมองว่าอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง ที่เรียกว่าคนรวยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความรวยที่เกิดจากการแบ่งสถานะทางสังคมจากข้าวของเครื่องใช้ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยสายตากำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากนิยามของความรวยนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะคนรวยยุคใหม่จะไม่ลงทุนกับข้าวของเครื่องใช้เพื่อบ่งบอกสถานะอีกต่อไป แต่จะเลือกลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” หรือที่คนเขียนบทความเขาใช้คำว่า “ความรวยที่ไม่โจ่งแจ้ง” นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม : คนรุ่นใหม่ มองเรื่องความรวยอย่างไร
Currid-Halkett ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Sum of Small Things: A Theory of the Aspiration Class” ได้บอกเอาไว้ถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูงในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ข้าวของที่หรูหราอีกต่อไป แต่จะหันไปบริโภคสิ่งที่มีความซับซ้อนขึ้น เช่น วัฒนธรรม การศึกษา อาหารสุขภาพ กิจกรรมยามว่างที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ ดังนั้นคนรวยในยุคปัจจุบันจะไม่ได้มีลักษณะเหมือนอย่างเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจะไม่ได้ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องครบ สวมแหวนเพชรเม็ดโต ทำผมสวยราวกับต้องออกงานตลอดเวลาอีกต่อไป คนรวยยุคใหม่อาจแต่งตัวสบาย ๆ แต่ภายใต้ความสบายนั้นเป็นเสื้อผ้าออร์แกนิกที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้เน้นต้องอยู่บ้านใหญ่โตหรูหรา แต่เน้นแนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนใคร เช่น Home school การเลือกกิจกรรมยามว่างเก๋ ๆ เช่น เล่นโยคะ ที่บอกเลยว่าต้องมีเวลามากพอเท่านั้นถึงจะทำได้ นอกจากนั้น Currid-Halkett ยังได้ทำการสำรวจและพบว่ากลุ่มคนมีรายได้สูงยุคใหม่ในประเทศอเมริกามีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนกับการศึกษามากกว่าสิ่งของที่ให้ความรู้สึกหรูหรา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงรสนิยมและการเลือกบริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้นของคนรวยยุคใหม่
ความรวยที่ไม่โจ่งแจ้งแบบนี้เองที่ต้องนับว่ามีต้นทุนของรสนิยมที่สูงกว่าทุนเศรษฐกิจอย่างที่แล้ว ๆ มา คิดตามง่าย ๆ อย่างค่าเรียนดนตรี ค่าเรียนศิลปะ ค่าเรียนภาษา รวมไปถึงการบริโภคทางวรรณกรรมทั้งเรื่องของหนังสือ การละคร ดูคอนเสิร์ตต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากทั้งสิ้น มีความเชื่อว่าการสร้างสมให้ตัวเองมีวัฒนธรรมและรสนิยมตามแบบคนรวยยุคใหม่ จะทำให้เข้าสังคมและทำงานกับคนในระดับเดียวกันได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นช่องทางที่ต่อยอดนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มากขึ้นต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน
โลกเราหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องหมายแสดงถึงกาลเวลาที่ผ่านไป สิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมมีการผันผ่านและเปลี่ยนแปลงไปด้วย นิยามของคำว่า “รวย” ก็เช่นกัน มีเงินยังไม่มากพอที่จะเรียกว่าเป็นคนรวยตามคำนิยามในเรื่องของเศรษฐกิจเลย นี่ไปเรื่องรวยทางวัฒนธรรมแบบไม่โจ่งแจ้งอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน ชีวิตมันจะมีรสชาติมันก็ต้องมีการผสมผสาน ทักษะทางดนตรีหรือศิลปะเป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์ที่เราควรมีควบคู่ไปอยู่แล้ว บางครั้งไม่ต้องรอให้รวยมีเงินแล้วค่อยทำก็ได้ อยากเรียนเปียโนก็เรียน ชอบวาดรูปก็ไปเรียน อยากเรียนภาษาที่ 3 เพิ่มก็ไปเรียน เพื่อให้ชีวิตมีหลากหลายมิติ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องก็คือ เมื่อเรามีรายได้มากพอที่จะเรียกว่าเป็นคนรวยแล้วก็ต้องอย่าลืมที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือหรือขาดแคลนด้วย นั่นต่างหากที่จะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมของผู้ที่ได้ชื่อว่าคนรวยยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณข้อมูล
https://thematter.co/pulse/inconspicuous-consumption-is-new-trend/26787