กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่ช่วยต่อชีวิตเรื่องการศึกษาให้กับใครหลายคนจนมีหน้าที่การงานมั่นคง แต่กลับพบว่า มีผู้กู้อีกจำนวนหนึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดที่จะชดใช้หนี้ที่ได้กู้ไป ส่งผลให้เงินในกองทุนไม่เพียงพอสำหรับนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องได้กู้ต่อ
ก่อนหน้านี้ ทางกองทุนได้ดำเนินการกับผู้กู้ที่ค้างชำระเงินกู้ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีผู้ถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 90,000 ล้านบาท และเฉพาะในปี 2559 มีผู้ที่ถูกฟ้องไปแล้ว 170,000 ราย ส่วนกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มีผู้ถูกฟ้องไปแล้ว 85,000 ราย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี สืบทรัพย์และยึดทรัพย์กว่า 50,000 ราย รวมเป็นหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม : โปรโมชั่น ชำระหนี้คืน กยศ. ลดหนี้/ลดเบี้ยปรับ !
จากปัญหาต่อเนื่องยาวนานนี้เอง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศเผยแพร่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ผ่านเว็บไซต์ จึงทำให้ร่างกฎหมายมีผลประกาศใช้ในทันที โดยมีสาระสำคัญยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และมีมาตรการเข้มงวดในการชำระคืนเงินกู้ ให้นายจ้างสามารถหักเงินเดือนเพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาได้ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ
- ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน โดยให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้ หักเงินได้พึงประเมินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบเพื่อชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน
- ผู้กู้ยืมต้องแจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อชำระเงินกู้ยืม
- ผู้กู้ยืมต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน
- เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น
- ในกรณีจําเป็น อาจผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชําระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจํานวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กําหนดไว้ หรือลดหย่อนหนี้ หรือระงับการชําระเงินคืนกองทุน ตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกําหนด
- ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนได้
- เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของกองทุน ให้หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน จัดส่งข้อมูลให้กองทุนตามที่กองทุนร้องขอภายในเวลาอันสมควร
- ต้องหักเงินให้กองทุนเป็นลำดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
การไม่มีหนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากเมื่อใดที่เราตัดสินใจไปกู้ยืมเงินใครมา โดยเฉพาะเงินเพื่อการศึกษาจากกองทุนของภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินจากภาษีประชาชนของคนทั่วประเทศ และต้องส่งต่อสู่รุ่นน้องคนอื่นๆ ได้มีโอกาสทางการศึกษาด้วย ในฐานะผู้กู้ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบ และจิตสำนึกในการชำระคืน เพื่อแทนคำขอบคุณที่ช่วยต่อลมหายใจทางการศึกษา และสร้างอนาคตหน้าที่การงานให้ดีได้มาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา