ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากตกอยู่ในภาวะหนี้ท่วมหัว หรือมีหนี้ระยะยาวและหนี้ก้อนโตซึ่งดอกเบี้ยที่ขึ้นพุ่งๆในแต่ละเดือนตามความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจนับวันจะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ผ่อนไปอย่างไรก็รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้ช่วยให้เงินต้นลดลงสักที ถึงอย่างไรก็ดี ทุกคนย่อมมีความจำเป็นบางอย่างบังคับทำให้คนเราต้องสร้างหนี้ เช่น สินเชื่อซื้อบ้าน เงินกู้ซื้อรถ ภาวะการขาดทุนในธุรกิจ หนี้บัตรเครดิต หรืออุบัติเหตุทางการเงินอื่น ๆ
เมื่อเกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว หลายคนเคร่งเครียดและวิตกกังวลใจ คิดมากว่าทำอย่างไรจึงจะชำระหนี้สินจำนวนมากให้หมดโดยเร็ว จะได้ลดเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อให้ภาระหนี้ลดน้อยลงให้มากที่สุด โดยการจ่ายดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้ชีวิตลำบากและต้องมีเงินพอใช้ในแต่ละเดือน การจ่ายหนี้จะสามารถเรียงลำดับความสำคัญของหนี้ได้ดังนี้
-
หนี้บ้าน
เป็นหนี้ก้อนใหญ่ในชีวิต สินเชื่อบ้านมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารและความสามารถในการชำระเงินของผู้กู้ รายละเอียดของดอกเบี้ยในแต่ละเดือน วิธีการผ่อนบ้านให้หมดได้เร็ว ไม่เป็นหนี้นานเกินไปจนรู้สึกว่าผ่อนเท่าไรก็ไม่หมดสักที โดยปกติใช้เวลาผ่อนชำระนานหลายสิบปี
เคล็ดลับที่ 1 เพิ่มยอดผ่อนในแต่ละงวดให้มากขึ้น ช่วยให้หนี้หมดไว เช่น กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ค่างวด 22,300 บาท/เดือน ดอกเบี้ยประมาณ 2.5 ล้านบาท หากเพิ่มเงินผ่อน 10% หรือ 2,230 บาท ระยะเวลาผ่อนเหลือ 17 ปี ดอกเบี้ยเงินต้นลดเหลือ 1.9 ล้านบาท หรือเพิ่มเงินผ่อน 30% หรือ 6,690 บาท ระยะเวลาผ่อนเหลือ 12.5 ปี ดอกเบี้ยลดเหลือ 1.1 ล้านบาท
เคล็ดลับที่ 2 โปะบ้านด้วยเงินก้อนเพื่อให้ยอดหนี้ลดลง เช่น เงินโบนัส เมื่อกู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 2.5 ล้านบาท ถ้านำเงินโบนัสมาโปะบ้าน 100,000 บาท ลดดอกเบี้ยได้ 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนลดลงเกือบ 1.5 ปี หรือมีแหล่งการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้ โดยไม่มีความเสี่ยงสูงนัก ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี
เคล็ดลับที่ 3 รีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ย หรือย้ายสถาบันการเงิน ทำให้จ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน อาจช่วยประหยัดเงินได้ถึงหลักแสน แต่การรีไฟแนนซ์มีค่าใช้จ่ายตามมาด้วย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการจำนอง 1% ของวงเงินกู้ใหม่ ค่าอากรแสตมป์ 0.05% และค่าประเมินหลักประกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร จึงควรตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญาให้ดีก่อนรีไฟแนนซ์
อ่านเพิ่มเติม >> อยาก รีไฟแนนซ์หนี้ ต้องทำอย่างไร ? <<
การแปลงหนี้ดอกเบี้ยสูงให้เป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำลง โดยเฉพาะกรณีที่มีหนี้นอกระบบจะเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงมาก จึงควรแปลงหนี้ให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าและสามารถผ่อนชำระในระยะยาวได้ด้วย แต่ถ้าทำอย่างไรก็ไม่มีทางหารายได้มาเพียงพอผ่อนชำระหนี้ ควรใช้วิธีการเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ผ่อนชำระในระยะยาวขึ้นอีกนิดและช่วยให้บริหารควบคุมรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ดีขึ้น
-
หนี้รถ
โดยปกติไม่ควรก่อหนี้บ้านพร้อมกับหนี้รถซึ่งเป็นหนี้ก้อนเล็กรองลงมาจากสินเชื่อซื้อบ้าน วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ทำให้จ่ายดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ยิ่งเลือกผ่อนยาวก็ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ปรับเพิ่มดอกเบี้ยจาก 2.5-5% ต่อปี เป็น 5-10% ต่อปี การปลดหนี้รถที่ดีที่สุดคือวิธีการนำเงินก้อนมาชำระหนี้รถให้หมดในครั้งเดียว ช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยซึ่งจะลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง
3. หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด
หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุด ไม่นับหนี้นอกระบบ จึงไม่ควรสร้างหนี้บัตรเครดิตซึ่งเป็นภาระหนักทางการเงินอันหนักหน่วงที่สุด โดยปกติเมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว สามารถหาเงินไปชำระเต็มจำนวน ลูกหนี้จะไม่เสียดอกเบี้ย แต่ถ้าชำระไม่เต็มจำนวนจะคำนวณดอกเบี้ยจากยอดคงค้างตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่ายเดือนถัดไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหนี้สะสมตามมาและสร้างความทุกข์ที่ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตในระยะยาวได้
ลูกหนี้บัตรเครดิตควรชำระเต็มจำนวน มั่นใจว่าจะจ่ายตรงตามเวลาและเงื่อนไข เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่มและรักษาประวัติข้อมูลเครดิตให้ดีอยู่เสมอ เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึงเกือบ 20% ต่อปี ยิ่งชำระขั้นตํ่าหลายรอบบิล ดอกเบี้ยจะพอกพูนเร็วมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนี้บัตรเครดิตในที่สุด เทคนิคการกำจัดหนี้บัตรเครดิตขั้นแรกคือ อย่ามีหนี้ค้างชำระ พยายามชำระหนี้สินให้หมดในเร็ววัน
ส่วนการเบิกเงินสดจะไม่มีระยะเวลาการปลอดดอกเบี้ย การคำนวณดอกเบี้ยจะเริ่มคำนวณจากวันที่ลูกค้าทำรายเบิกเงินสดจากบัตรมาใช้จ่ายถึงวันชำระเงิน บัตรกดเงินสดจะคิดดอกเบี้ยสูงถึง 28% ต่อปี และยังมีค่าธรรมเนียมในการกดเงินอีก 3% ของจำนวนเงินที่กดอีกด้วย ลูกหนี้ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก และใช้เวลานานกว่าจะปลดหนี้ได้หมด
เมื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดแล้ว วิธีการผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 5-10% ของยอดหนี้ ทำให้ยอดหนี้ที่เป็นเงินต้นลดลงไปน้อยมาก ทางที่ดีควรหาเงินมาชำระหนี้เพิ่ม หรือโปะให้หมดเร็วที่สุด
ลูกหนี้ต้องมีวินัยในการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ ภาระการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้แต่ละเดือน ควรวางแผนการจ่ายให้เหมาะสม หากจ่ายน้อยจะเสียดอกเบี้ยมาก หากจ่ายมากช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้มากขึ้น แต่อาจส่งผลให้ไม่มีเงินเหลือเป็นเงินออมเผื่อสำรอง อาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินกรณีมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินด้านอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอชำระหนี้ตามปกติ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ในทางกลับกัน หากแต่ละเดือน หากเงินสำรองยามฉุกเฉินนี้ไม่ได้มีภาระต้องจ่ายในกรณีฉุกเฉินใดๆ ก็สามารถนำไปรวมเป็นเงินออมเพื่อยามเกษียณอายุ ย่อมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ในอนาคตด้วย
ผู้ที่มีหนี้ก้อนใหญ่และอยู่ในสถานการณ์เงินไม่พอใช้หนี้ จ่ายหนี้ได้ไม่เต็มจำนวน หรือจ่ายเงินช้ากว่ากำหนด ควรหารือกับสถาบันการเงินเพื่อปรึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ขอลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดจนกว่าจะสามารถกลับไปชำระเงินในแบบเดิมที่เคยตกลงกันไว้
เทคนิคข้างต้นเป็นทางออกที่ดีในการลดดอกเบี้ย หรือลดเวลาในการผ่อนชำระ เพื่อปลดหนี้ได้ไวขึ้น พร้อมกับการสร้างวินัยในตัวเอง ไม่ก่อหนี้เพิ่ม เพื่อลดเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อการ ปลดหนี้ระยะยาว ที่รวดเร็วกว่าเดิม สามารถปลดหนี้เพื่อมีอิสระทางการเงินได้ในที่สุด