การเป็นหนี้บัตรเครดิตนั้นได้มีการสำรวจมาแล้วว่ากว่าร้อยละ 90 เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายเงินเกินตัว จับจ่ายในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นหรือมีความจำเป็นน้อย การเป็นหนี้บัตรเพราะเหตุจำเป็นฉุกเฉินกลับมีอยู่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ยังมีข้อมูลยืนยันด้วยว่าพฤติกรรมที่มีรูปแบบการใช้เงินแบบนี้ อยู่ในกลุ่มคนทำงานเงินเดือนประจำที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (15,000-50,000 บาทต่อเดือน)
เมื่อสอบถามและวิเคราะห์พฤติกรรมการออมของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ละเลยและไม่เห็นความสำคัญในการออม หรือออมแล้วแต่เมื่อถึงเวลาก็ถอนออกมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยอื่น ๆ แทน อีกทั้งมีนิสัยติดการผ่อน เพราะปัจจุบันสินค้าราคาไม่กี่พันบาทก็สามารถผ่อนได้ อีกทั้งฐานเงินเดือนเพียง 15,000 บาทก็สามารถทำบัตรเครดิตได้ ทำให้คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็สามารถซื้อของที่ราคาสูงขึ้นมาได้ หลายคนเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนที่ราคาสูงกว่าเงินเดือนตัวเอง เหตุผลหลักคือเจ้าของสินค้าทำการตลาดเจาะขยายฐานรายได้ลูกค้าโดยการออกโปรแกรมผ่อน 6 เดือน 10 เดือน ทำให้สามารถแบ่งจ่ายได้ เมื่อซื้อเดือนนี้แล้วเดือนหน้าอาจเผลอรูดซื้อสินค้าผ่อนอีกโดยไม่ได้คำนึงถึงภาระผ่อนเกิดขึ้น
เมื่อติดนิสัยเช่นนี้ วันหนึ่งอาจทำให้เงินสดขาดมือ ต้นเดือนเงินเดือนออกก็รีบโปะหนี้บัตรเครดิต กลางเดือนเงินเริ่มร่อยหรอก็เริ่มประหยัด ปลายเดือนไม่เหลือเงินก็กินอด ๆ อยาก ๆ ใช้ชีวิตดราม่ากินมาม่าเคล้าน้ำตากันไป หรือซ้ำร้ายบางคนก็ต้องกินร้านแพงหน่อยเพราะไม่มีเงินสดจะกิน ต้องเข้าร้านอาหารที่รับบัตรเครดิตเท่านั้น รูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้เมื่อใช้ชีวิตอยู่กับมันไปนานเข้าก็จะติดเป็นนิสัย เพราะมันจะวนเข้าวงจรฉายซ้ำไปซ้ำมาทุกเดือน ๆ
อ่านเพิ่มเติม >> ทำไมคนจึงเป็น หนี้บัตรเครดิต กันง่าย ๆ <<
เมื่อพฤติกรรมในอดีตเป็นตัวการสำคัญให้เป็นหนี้ การปรับปรุงลักษณะนิสัยการจับจ่ายให้มีวินัยทางการเงินย่อมมีความจำเป็นมาก แต่ถ้าหากมีหนี้ก้อนโตแล้วจากลักษณะนิสัยการใช้จ่ายที่ตั้งอยู่บนความประมาท ก็ต้องชำระหนี้ให้เรียบร้อยแล้วค่อยเริ่มต้นใหม่
การชำระเงินเพื่อ ปิดยอดหนี้บัตรเครดิต นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การผ่อนจ่าย จ่ายเป็นก้อน ถ้าหนี้ก้อนใหญ่มาก อาจเจรจาต่อรองหรือขอแฮร์คัทได้ เมื่อพิจารณาการผ่อนจ่ายและการจ่ายเป็นก้อนนั้น โดยปกติบัตรเครดิตจะมียอดบังคับชำระขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ถ้าเลยจุดนั้นมามากแล้ว การเข้าโปรแกรมขอผ่อนจ่ายกับทางธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตอาจเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายที่สุด โดยจะมีดอกเบี้ยที่ทางธนาคารกำหนดไว้ ซึ่งถือว่ายอมรับได้ แต่ต้องแจ้งไว้ก่อน เพราะถ้าไม่ติดต่อเพื่อขอเข้าโปรแกรมผ่อนชำระ ทางธนาคารจะคิดเป็นหนี้ก้อนรวมก้อนเดียวและคิดอัตราดอกเบี้ยที่หนี้ทั้งก้อน
-
การขอแบ่งหนี้ผ่อนชำระ
เวลาคิดดอกเบี้ยผ่อนจะคิดเป็นอัตราคงที่ตามจำนวนงวด (เดือน) ผ่อน รวมเข้ากับหนี้แล้วหารจำนวนงวด ก็จะได้จำนวนเงินต่องวดผ่อนชำระได้ (Flat rate แบบผ่อนรถ) แต่ถ้ามีเงินก้อนเป็นรายได้ เขาให้พิจารณาเป็น 2 แบบ
- แบบแรกถ้ามีเงินก้อนที่เข้ามาแบบไม่ได้วางแผนไว้ ก็ให้ดูว่าหนี้ที่เหลืออยู่ค้างอยู่มากหรือไม่ ถ้ายังค้างอยู่เป็นจำนวนมาก คุยกับธนาคารขอ refinance โปะเงินก้อนได้เลย
- แต่ถ้าเหลือค้างอยู่ไม่มาก ให้เลือกผ่อนตามระยะผ่อนเหมือนเดิมจนหมด เว้นแต่ถ้าพิจารณาดูแล้วว่าการเก็บเงินก้อนนั้นเสี่ยงต่อการเอาออกมาใช้โดยไม่จำเป็นแล้ว ก็อาจโปะปิดหนี้ทั้งก้อนไปเลย เป็นการปลอดภัยไว้ก่อน
-
จ่ายเป็นก้อน
สำหรับแบบที่สองถ้ามีเงินก้อนเข้ามาและรู้อยู่ก่อนแล้ว เช่น เงินโบนัสออกเดือนมกราคม ให้บอกแผนโปะเงินกับทางธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อวางแผนล่วงหน้าไว้เลย (โดยมากธนาคารไม่คาดหวังกับเงินโบนัส เพราะไม่สามารถคาดเดาได้) แต่ถ้าโบนัสเข้าเดือนมกราคม แล้วปัจจุบันคือเดือนธันวาคม เราอาจดีเลย์การจ่ายเป็นรอจ่ายเดือนหน้าไปเลย ถ้าระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาตามหนี้ ก็ให้แจ้งตามตรง การดีเลย์การจ่าย แต่แสดงเจตนาชัดเจนว่าจะจ่ายไม่หนีหนี้ ธนาคารยังไม่ส่งข้อมูลเข้าเครดิตบูโรให้เรามีประวัติเสีย ทั้งนี้ขอให้ถามเจ้าหน้าที่ถึงสถานะเครดิตของเราให้ละเอียด
ถ้าก้อนหนี้บัตรมีขนาดใหญ่มากเกินกว่าการผ่อนจ่ายตามรอบรายได้ อีกทั้งยังมีการผิดนัดชำระหนี้แล้ว ถึงแม้ว่าข้อมูลนี้จะถูกส่งเข้าเครดิตบูโรแล้ว แต่หน้าที่การจ่ายชำระหนี้ก็ยังอยู่ ไม่มีจ่ายได้ แต่ห้ามหนี ไม่อย่างนั้นแล้วสถานะในเครดิตบูโรจะถูกปรับให้ต่ำลงอีก ต่อไปจะทำอะไรเกี่ยวกับการเงินก็จะไม่เหลือเครดิตเลย ถ้าเข้ากรณีนี้แล้วให้ขอเจรจากับธนาคารเจ้าของบัตร เพื่อต่อรองลดหนี้ ลดดอกเบี้ย เพิ่มระยะเวลาผ่อน ธนาคารอาจพิจารณาตามสมควร แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง และอาจแสดงทีท่าบางอย่างที่ธนาคารคาดว่าหนี้ก้อนนี้อาจเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ซึ่งปกติธนาคารไม่อยากตัดเป็น NPL เพราะส่งผลต่อยอด NPL ที่ต้องแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย ทางธนาคารอาจให้บริษัทเร่งรัดหนี้สินติดตามหนี้ โดยอาจขอรับเงินจากหนี้แค่ 70% หรือต่ำกว่านั้น ส่วนต่างให้บริษัทเร่งรัดหนี้สินเป็นค่าติดตาม
เมื่อเข้าข่ายนี้แล้ว ถ้าเราติดต่อเข้าไปเพื่อขอเจรจา ส่วนใหญ่ธนาคารอาจทำแฮร์คัท หรือตัดหนี้ให้เหลือ 70% เลย ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง อย่าคิดต่อรองกับธนาคารถ้ารู้ไม่จริง การรู้ไม่จริงแล้วแสดงทีท่าว่ารู้ แถมยังต่อแล้วต่ออีกย่อมไม่เป็นผลดี การแสดงความจริงใจและตั้งใจว่าต้องการชำระหนี้ แต่เกิดปัญหาต้องการความช่วยเหลือมักได้ผลดีกว่า
อ่านเพิ่มเติม >> กู้เงินมาปิดยอดหนี้บัตรเครดิต คุ้มไม่คุ้ม ดีไม่ดีอย่างไร ? <<
พฤติกรรมการใช้จ่ายแบบไม่มีจิตสำนึกเกิดจากวินัยการเงินล้วน ๆ หากไม่ปรับปรุงนิสัยการใช้จ่ายก็จะเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น จบหนี้ก้อนนี้ ก้อนใหม่ก็เพิ่มมาอีก ใช้หนี้วนไปวนมาไม่มีวันหลุดพ้น ดังนั้นสำนึกตระหนักรู้ถึงวินัยการเงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดและเป็นหนี้ก้อนใหญ่ไปแล้ว ก็จงแก้ไขและพิจารณาการชำระตามวิธีชำระปิดยอดหนี้บัตรให้เหมาะสมโดยเคร่งครัดและให้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิต