หนี้บัตรเครดิต หยุดจ่ายจะโดนยึดทรัพย์ไหม อะไรจะตามมาหาเราไม่ชำระหนี้
บัตรเครดิต เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็เกิดหนี้พอกได้ ปัญหาเรื่องเงินเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ในอดีตเราอาจจะเคยเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ผ่อนชำระหนี้ตรงเวลามาโดยตลอด แต่วันหนึ่งเกิดขาดสภาพคล่องขึ้นมา เพื่อนๆ หลายคนก็อาจจะต้องหยุดพักการชำระหนี้ไปก่อน บางคนคิดว่าจะหยุดจ่ายไปเลย แต่คำถามที่น่ากังวลก็คือหนี้บัตรเครดิต หยุดจ่ายจะโดนยึดทรัพย์ไหม? เพราะการที่ลูกหนี้อย่างเราไม่ยอมชำระหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหนี้เองก็มีสิทธิ์ที่จะไปดำเนินคดี หรือแม้แต่ฟ้องร้องเราได้ และนี่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหากทุกคนหยุดชำระหนี้บัตรเครดิต
หนี้บัตรเครดิต หยุดจ่ายจะโดนยึดทรัพย์ไหม สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราหยุดชำระหนี้
- การทวงถามหนี้ อันดับแรกเจ้าหนี้อย่างธนาคารจะโทรติดต่อเรามาเพื่อทวงถามว่าเราลืมชำระหนี้หรือเปล่า ในช่วงแรกการโทรมาของเจ้าหน้าที่จะยังไม่ถี่สักเท่าไหร่ แต่ถ้าเรายังไม่จ่ายอีกก็จะมีการทวงถามที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันกันเลย หรือบางทีอาจจะมีการเสนอส่วนลดให้เราปิดหนี้ได้ เป็นการยกเลิกบัตรเครดิต และผ่อนจ่ายตามเวลาที่กำหนด 3 เดือน 6 เดือน ว่ากันไป
- การส่งจดหมายทวงถาม และแจ้งยอดหนี้สิน ถ้าเจ้าหน้าที่โทรมาถามแล้ว แต่เราก็ยังไม่จ่ายอีก ขั้นตอนต่อมาก็คือเราจะได้รับจดหมายทวงถามหนี้ เป็นจดหมายแจ้งยอดหนี้สินของเราที่ค้างชำระเอาไว้ จะถูกส่งไปตามที่อยู่ที่เราเคยกรอกตอนที่ไปสมัคร และในระหว่างนี้ก็ยังจะมีเจ้าหน้าที่โทรถามเราเรื่อยๆ เหมือนเดิม
- การฟ้องดำเนินคดี ถ้าส่งจดหมายก็แล้ว โทรหาก็แล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ สิ่งที่จะตามมาคือสิ่งที่หลายคนกลัวที่สุด นั่นก็คือการฟ้องดำเนินคดีนั่นเอง เจ้าหน้าที่ศาลจะติดตามเราจากที่อยู่ทะเบียนบ้าน และนัดให้เราไปไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ตามวันที่กำหนด
ไม่ต้องตกใจไป เพราะเราสามารถไปพูดคุยเจรจาเพื่อชี้แจ้งปัญหาเรื่องเงินของเราให้ธนาคารเข้าใจ ว่าเราชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และหาทางออกร่วมกัน สามารถขอให้ศาลลดอัตราดอกเบี้ยก็ได้อีกด้วย หากจบในขั้นตอนนี้ก็จะลงเอยด้วยการประนอมหนี้ ให้เราจ่ายไปตามที่ตกลง แต่ถ้าไม่สามารถจ่ายได้ ศาลจะออกคำพิพากษาให้เราชำระหนี้เต็มยอดตามเดิม
- การขึ้นศาล ถ้าเราไม่ยอมไปตามนัดเจรจาไกล่เกลี่ย สิ่งที่เราจะได้รับตามมาก็คือหมายศาลนั่นเอง หมายความว่าเราได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างเต็มขั้นเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้น เราเลยอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ไกล่เกลี่ยให้เรียบร้อยตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจา ไปตามที่ศาลนัดทุกครั้งจะดีกว่า เพราะการขึ้นศาลเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ยิ่งถ้าเรามีปัญหาเรื่องเงิน ไม่สามารถจ้างทนายได้อยู่แล้ว โอกาสจะชนะคดีก็จะน้อยลงกว่าเดิม
- บังคับคดี ในกรณีที่ขึ้นศาลแล้วเราแพ้คดี ขั้นตอนต่อมาก็จะเข้าสู่การบังคับคดี เจ้าหน้าที่จะสืบทรัพย์ เพื่อตรวจสอบว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้าเราเคยใช้สินทรัพย์ในการค้ำประกัน ก็จะทำให้การยึดทรัพย์รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ไปตามขั้นตอน สินทรัพย์ที่ถูกยึดไป หากเป็นเงินก็ไม่มีปัญหา หากเป็นข้าวของ ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ก็จะต้องนำเอาไปขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาใช้หนี้ ปัญหาก็คือการขายทอดตลาดนั้น เป็นการขายในราคาที่ค่อนข้างถูก ถ้าของที่ขายไปยังได้เงินมาไม่พอ ก็อาจจะมีการบังคับคดียึดเงินเดือนของเราเพิ่มได้
9 สิ่งที่จะโดนยึดทรัพย์คดีหนี้บัตรเครดิต
กฎหมายไม่ได้ใจร้ายกับลูกหนี้ถึงขนาดนั้น เพราะคงไม่มีลูกหนี้คนไหนที่อยากจะติดหนี้แล้วไม่ใช้อย่างแน่นอน หากเพื่อนๆ ถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นตอนการบังคับคดี ยึดทรัพย์เพื่อนำเอาไปขายทอดตลาด หรือนำเงินที่ได้คืนให้กับเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะกฎหมายไม่สามารถยึดทรัพย์เราได้ทุกอย่าง สิ่งที่สามารถยึดได้มีดังนี้
- ของมีค่า พวกเครื่องประดับทั้งหลาย อย่างเช่น เพชร พลอย ทองคำ เงิน นาฬิกาหรู ของสะสมราคาแพง
- บ้าน และที่ดิน ถึงแม้ว่ามันจะติดจำนอง แต่เจ้าหนี้ก็สามารถยึดได้เหมือนกัน
- รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา และเราไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการทำงาน
- เงิน ทั้งเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของเรา เงินปันผลที่ได้มาจากการลงทุน ทรัพย์สินในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ กองทุน หรือทองคำ
- เงินเดือน เจ้าหนี้สามารถขออายัดได้สูงสุดไม่เกิน 30% แต่จะอายัดได้เมื่อลูกหนี้อย่างเรามีเงินเดือนตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น และเราไม่มีค่าใช้จ่ายจำเป็น อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายพวกนี้ สามารถไปยื่นขอลดหย่อนกับกรมบังคับคดีได้ เจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาลดปริมาณเงินเดือนที่ถูกหักออกไปในแต่ละเดือนให้กับเรา
- เงินโบนัส สิ้นปีเราอาจจะไม่ได้เงินโบนัสที่เหนื่อยทำงานมาตลอด 12 เดือนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเจ้าหนี้สามารถอายัดได้สูงสุดไม่เกิน 50% จากทั้งหมด
- ค่าตำแหน่งทางวิชาการ เจ้าหนี้สามารถอายัดได้เฉพาะพนักงานที่ทำงานกับบริษัทเอกชนเท่านั้น เพราะนับว่าเป็นหนึ่งในเงินเดือนนั่นเอง
- เงินตอบแทนการออกจากงาน ถ้าเราออกงานในช่วงนี้ เพราะหวังว่าจะได้เงินตอบแทนเอามาช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เราอาจไม่ได้จับเงินก้อนนี้ เพราะเจ้าหนี้สามารถอายัดได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท หรือในจำนวนที่บังคับคดีกำหนดตามสมควร
- ค่าสวัสดิการ และเงินตอบแทน ถ้าเราได้รับเงินพิเศษเป็นสวัสดิการ หรือค่าตอบแทน อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง เงินในส่วนนี้ก็จะถูกอายัดไปด้วย
หากหยุดชำระหนี้บัตรเครดิตจากการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไร
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ไม่ได้มีหนี้บัตรเครดิตเป็นของตัวเอง แต่คนในครอบครัวเป็นหนี้บัตรเครดิต มีการหยุดชำระหนี้ เนื่องจากเสียชีวิต หรืออาจจะหยุดชำระมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งมาเสียชีวิตไป เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยไม่น้อย ว่าแล้วจะทำยังไงกันต่อ
กฎหมายได้มีการกำหนดให้คนที่ก่อหนี้จะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบด้วยตัวเอง ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตจึงไม่ต้องรับโอนหนี้สิน หรือการทวงหนี้ แต่ความเป็นหนี้จะยังไม่สิ้นสุดลง หลังจากลูกหนี้เสียชีวิตเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหนี้ยังคงสามารถทวงถามหนี้สินได้ แต่จะได้เฉพาะกองมรดกเท่านั้น ถ้าลูกหนี้ไม่มีมรดกทิ้งไว้ก่อนเสียชีวิตก็จะกลายเป็นหนี้สูญไป ไม่สามารถทวงถามจากเราที่เป็นญาติได้
การเริ่มนับอายุความเมื่อลูกหนี้บัตรเครดิตไม่ยอมชำระเงิน
สิ่งที่เพื่อนๆ ที่กำลังติดหนี้บัตรเครดิตอยู่ควรรู้ก็คืออายุความนั่นเอง เพราะถ้าพูดกันตามตรง มีหลายคนที่หลุดจากคดีความด้วยเหตุผลนี้มาแล้วนักต่อนัก บางคนก็ว่าห้ามลงมือชื่อในเอกสารแจ้งยอดหนี้สิน หรือเอกสารรับสภาพหนี้ แต่ที่เราจะพาทุกคนมาดูเรื่องอายุความกัน ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการไม่ชำระหนี้ แต่ให้รู้ว่าเราจะมีเวลาในการไกล่เกลี่ย หรือการจัดการปัญหามากน้อยแค่ไหน
เวลาเป็นหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้จะแจ้งกำหนดการชำระให้เรารู้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดเอาไว้ อายุความก็สามารถเริ่มขึ้นในวันถัดไปได้เลย สำหรับคดีดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปีหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ถ้าใน 2 ปีนี้ธนาคารไม่มีการฟ้องร้อง คดีก็จะขาดอายุความ เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกร้องอะไรกับลูกหนี้ได้อีก
แต่การหมดอายุความ ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหนี้จะไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ ปัญหาก็คือศาลอาจจะหยิบนำเอาประเด็นการขาดอายุความมาพิจารณาได้เหมือนกัน ถ้าเราจะสู้คดี ก็ต้องยื่นคำให้การในเรื่องขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้ โอกาสที่ศาลจะยกฟ้องก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
สรุปแล้ว หนี้บัตรเครดิต หยุดจ่ายจะโดนยึดทรัพย์ไหม คำตอบก็คือไม่เสมอไป ถ้าเราพูดคุยกับเจ้าหนี้ในชั้นไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ และมีการชำระหนี้ตามที่พูดคุยกัน ก็จะไม่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ไม่โดนยึดทรัพย์ ถ้าเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้วแพ้คดี ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็อาจจะถูกบังคับคดียึดทรัพย์ได้เหมือนกัน ไม่ว่าคดีจะหมดอายุความหรือไม่ แต่ถ้าคดีหมดอายุความ เราก็มีโอกาสที่จะขอให้ศาลพิจารณายกฟ้องได้