กลโกง ออนไลน์ 2025 ต้องระวังอะไรบ้าง สรุปตรงจาก Google
เรียกได้ว่านับวันกลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ ๆ ก็มีออกมาไม่หยุดหย่อน เราจึงต้องหมั่นอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ ไว้เพื่อป้องกันตัวเอง และเนื่องมาจากวัน Safer Internet Day หรือวันแห่งการท่องอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ที่ตรงกับวันอังคารที่ 2 ของเดือน 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้ออกมาเปิดเผย 5 เทรนด์ กลโกง ออนไลน์ 2025 ต้องระวังอะไรบ้าง หากพร้อมแล้วไปดูกันเลย
1.ฉวยโอกาสช่วงเหตุการณ์สำคัญ
ในช่วงที่มีเหตุการณืฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น งานคอนเสิร์ต การแข่งกีฬา หรือภัยทางธรรมชาติ เหล่ามิจฉาชีพมักจะสร้างกลลวงด้วย AI อย่างการสร้างเว็บไซต์ปลอมมาขายบัตร หรือสวมรอยเป็นองค์กรเพื่อช่วยเหลือ เป็นต้น
รับมือยังไง?
ควรตรวจสอบ url เว็บไซต์ดังกล่าวให้ถี่ถ้วนก่อนทำการสั่งซื้อ หรือบริจาค ซึ่งควรทำผ่านเว็บทางการเท่านั้น อีกทั้งทาง Google ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ และบังคับใช้นโยบายในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะ Google Ads และ Google Shopping
2.AI ปลอมหน้า-เสียง
อีกหนึ่งกลอุบายที่เริ่มแพร่หลาย หลังจากการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพจะใช้เทคโนโลยี Deepfake ร่วมกับข้อมูลข่าวบนโซเชียลมีเดียที่แต่งขึ้นมาเพื่อเพิ่มความน่าชื่อถือ ในการหลอกลวงให้โอนเงิน อาจแกล้งทำเป็นคนรู้จัก หรือหลอกให้ร่วมลงทุน โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มการซื้อขาย และแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล
รับมือยังไง?
ก่อนทำการลงทุนใด ๆ ควรศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน และเลือกแหล่งลงทุนที่เชื่อถือได้ เช่น หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ เลี่ยงการลงทุนผ่านบุคคล หรือองค์กรหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นชื่อ นอกจากนี้ทาง Google ยังได้ออกนโยบายการสื่อให้เข้าใจผิดเพื่อจัดการกับการหลองลวงในการแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
3.เว็บปลอม ขายทัวร์-สินค้าราคาถูก
หนึ่งในกลอุบายที่มีมาตั้งแต่ในอดีต คือการสร้างเว็บไซต์ปลอม ไม่ว่าจะ ช้อปปิ้งออนไลน์ ที่เน้นสินค้ายอดนิยม หรือการขายแพ็กเกจทัวร์ต่าง ๆ ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เพื่อดึงดูดความสนใจ รวมถึงเร้าความรู้สึกให้รีบซื้อมากขึ้นด้วยโปรโมชั่นแบบจำนวนจำกัด ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้แทบจะเหมือนทุกอย่างของเว็บทางการ ในบางครั้งก็ยากต่อการตรวจสอบ
รับมือยังไง?
ตรวจสอบ url เว็บไซต์ว่าเป็นของทางการ รวมถึงเปรียบเทียบราคาจากร้านทางการอื่น ๆ เพื่อดูแนวโน้มราคาจริง ณ ตอนนั้น
4.เจ้าหน้าที่ปลอม
กลโกงนี้มักจะมาในรูปแบบของการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือช่างฝ่ายเทคนิคจากบริษัทชั้นนำ โดยจะอ้างว่าเรามีปัญหาด้านต่าง ๆ อาจจะการเดินเงินที่ผิดปกติ หรืออุปกรณ์มีปัญหา ซึ่งมักมีการวางแผนตอบโต้ไว้เป็นอย่างดี มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง และท้ายที่สุดจะต้องการให้เราอนุญาติเข้าถึงอุปกรณ์ และข้อมูลส่วนตัวของเราจากระยะไกล หรือที่เรียกว่า Remote Access เพื่อตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมักมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก
รับมือยังไง?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีการโทรมาแจ้งใด ๆ หรือขอการเข้าถึงอุปกรณ์ของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม หากไม่แน่ใจให้ไปติดต่อสอบถามที่สำนักงานนั้น ๆ โดยตรง และควรตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบ 2 ชั้นในแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลส่วนตัว รวมถึงควรติดตั้งแอปพลิเคชันที่ช่วยคัดกรองการโทรเข้าอย่างเช่น Who calls สำหรับทาง Google เองก็ได้ออกระบบ Safe Browsing สำหรับบล็อกเว็บไซต์สุ่มเสี่ยง
5.ประกาศงานทิพย์
หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นการรับสมัครงานผ่านช่องทางออนไลน์ หารู้ไม่ว่ามีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ด้วยก็ไม่น้อย กลุ่มเป้าหมายของกลโกงนี้ไม่พ้นคนยุคใหม่ที่มักหางานออนไลน์ โดยจะหลอกล่อด้วยค่าตอบแทนที่ดูสูงเกินจริง แอบอ้างชื่อบริษัทชั้นน้ำเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากหลอมตัวไปสมัคร ก็อาจเสียข้อมูลส่วนตัว รวมถึงค่าสมัครต่าง ๆ ไปจนถึงอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายด้วยหากมีการโอนเงินไปให้จริง
รับมือยังไง?
ควรหางานออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำ ที่น่าเชื่อถือ หรือติดตามประกาศจากทางบริษัทนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งทาง Google มีระบบที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับ และบล็อกเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสมัครงานที่น่าสงสัย หรือมีแนวโน้มเข้าข่ายการฉ้อโกงอยู่ด้วย
กลโกงมิจฉาชีพในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบ จนกลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยบ้านเรา ที่มีเหยื่อถูกหลอกเงินไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท ไปรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จากการเปิดเผยของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็ต้องระวังตัวให้มากขึ้น มีสติทุกครั้งที่ทำธุรกรรมการเงิน และไม่หลงเชื่อง่ายจนเกินไป