การซื้อขายนั้นถือเป็นเรื่องปกติของการที่ผู้ซื้อจ่ายเงินแล้วก็จะได้ของจากพ่อค้าหรือแม่ค้ามา แต่ถ้าเสียเงินซื้อไปแล้วของไม่มาเมื่อไหร่นั่นคือการถูกโกงที่สามารถเป็นคดีความได้ ซึ่งถ้าเป็นความผิดแบบซึ่งหน้า ผู้ขายมีตัวตนเป็นหลักแหล่งก็จะง่ายต่อการจับกุมและขอเงินคืน ทั้งนี้ในโลกออนไลน์นั้นเริ่มมีการฮิตที่จะขายของต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของร้านค้าที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้าได้อย่างง่ายดายและทั่วถึง แต่ข้อเสียคือการที่ลูกค้าจะต้องเสี่ยงต่อการไม่ได้เห็นสินค้าจริง ๆ และความเสี่ยงในเรื่องของการโอนเงินไปก่อนแล้วถึงจะได้สินค้า ซึ่งความเสี่ยงนี้ในลูกค้าบางรายที่อยากได้สินมาก ๆ ก็ยอมที่จะเสี่ยง ถ้าโชคดีเจอคนขายที่ซื่อสัตย์ก็คงไม่มีปัญหาอะไร และสามารถที่จะไว้ใจซื้อกันต่อไปได้ แต่ถ้าโชคร้ายเกิดเจอแม่ค้าหรือพ่อค้าไม่ดีหลอกโอนเงินไปแล้วไม่ส่งของ หรือส่งเป็นอย่างอื่นมาให้ก็คงจะแย่น่าดู เพราะการแจ้งความในเรื่องการโดนโกงแบบนี้ยังถือว่าเป็นเรื่อที่ทางตำรวจยังติดตามยากอยู่ เพราะบางคนก็โกงไปไม่มากนัก หรือไม่ก็แจ้งสถานที่ไม่เป็นหลักแหล่ง หรือโกหกเรื่องที่อยู่ ทำให้การตามหาค่อนข้างมีวงที่กว้างมาก
ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงในการจะถูกโกงเงินจากร้านค้าออนไลน์เหล่านี้แล้ว ซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยจำนวนเงินกี่บาทก็แล้วแต่ และไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ให้รีบทำการดังต่อไปนี้
-
ให้ผู้ที่โดนโกงทำการแคป (Capture) หน้าจอเว็บไซต์ที่โกง รวมทั้งจดบันทึกชื่อเว็บไซต์หรือโดเมนเนม โดยให้เห็นการสนทนาซื้อขาย หรือหน้าตาของคนที่ขายและหลักฐานการตกลงซื้อขายกันเท่าที่มี แล้วปริ๊นท์เอารูปออกมาพร้อมไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่โรงพักโดยเร็วที่สุด
-
สแกนใบแจ้งความที่ได้มา แล้วส่งไปให้ผู้ดูแลเว็บนั้น ๆ เพื่อทำการขอ IP ของคนที่โกงเงิน
-
นำหมายเลข IP ที่ได้มาพร้อมทั้งใบแจ้งความ ยื่นไปทาง ISP ที่คนที่โกงเงินใช้อยู่
-
เมื่อได้ที่อยู่มาแล้วก็ให้รีบนำที่อยู่นั้นไปส่งให้แก่ตำรวจโดยทันทีเพื่อที่ตำรวจจะได้ทำเป็นหมายนำจับ และพาไปสู่การจับกุมตัว
-
ให้ผู้เสียหายบอกกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เขียนลงในใบแจ้งความว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินเรื่องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อป้องกันการถูกเพิกเฉย เพราะเราแจ้งไว้แค่ว่าบันทึกเป็นหลักฐานเท่านั้น
-
อายุของการแจ้งความนั้นมีแค่ 3 เดือนหลังจากเกิดเรื่อง เพราะฉะนั้นให้ผู้เสียหายรีบแจ้งความให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยไว้จนหมดวันเกินกำหนด
เพราะด้วยปัจจัยที่เข้าถึงง่ายและสะดวกสบายจึงทำให้การซื้อของออนไลน์เป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีความนิยมสูงทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้สามารถเกิดปัญหาได้หลากหลายจากความนิยมนี้ ทั้งการถูกหลอกให้ซื้อ หรือการซื้อมาแล้วไม่ตรงกับแบบ ใช้แล้วคุณภาพไม่ดีอย่างที่อ้างสรรพคุณไว้ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมต้องมีมาอย่างแน่นอน แต่ถ้าใครไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการโดนหลอกเหล่านี้ ก็มีวิธีที่สามารถจะตรวจสอบก่อนได้ว่าเว็บไซต์ที่เราซื้อขายด้วยมีความซื่อสัตย์มากน้อยแค่ไหน ดังนี้
-
ให้นำชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั้ง Username ของคนขายมาลองเสิร์ชหาใน Google ดูก่อน หากเคยมีการหลอกลวงมาก่อน ชื่อก็จะขึ้นมาโดยทันที โดยมีเทคนิคคือ ใช้ชื่อและเบอร์เหล่านั้น ตามด้วยคำค้นหา เช่น โกง หลอกลวง เพื่อดูว่ามีผลการค้นหาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะเอาชื่อเดิม ๆ หรือเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเพื่อกลับมาหลอกลวงอีกครั้ง แต่ในปัจจุบันคนเหล่านี้จะใช้หลาย ๆ หรือมีกันเป็นแก๊งค์เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนชื่อ และข้อมูลต่าง ๆ ได้มากมาย ผู้ซื้อจึงควรที่จะต้องดูให้ดี ๆ และใช้ความพยายามในการหาอีกสักนิด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง
-
ลองกดหาชื่อร้านค้าหรือคนขายผ่านทางสื่อโซเชียลอย่าง Facebook และ Twitter เพื่อตรวจสอบสถานะการขายว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เพราะผู้คนเหล่านี้มักจะต้องมีตัวตนในสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้อย่างแน่นอน ร้านค้าที่มียอด Like สูง ๆ ก็อาจจะเชื่อไม่ได้เสมอไป ต้องสังเกตจากคนที่มาถามตอบในกรุ๊ปร้านค้านั้น หรือทางที่ดีให้ส่งข้อความไปสอบถามผู้ที่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน เพื่อความแน่ใจ
-
ค้นหาตัวตนคนขายจากเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบตัวตนได้ เช่น peekyou.com และ socialmention.com เป็นต้น ด้วยการใส่ชื่อ Username ของผู้ขายลงไป ก็จะเจอข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ขาย ที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด
-
ตรวจสอบดูเวลาในการอัพเดทตัวสินค้า และการอัพเดทหน้าร้านว่าครั้งสุดท้ายอัพเดทไปเมื่อไหร่ แล้วมีการอัพในทุก ๆ กี่วัน เพื่อป้องกันการผิดพลาดจากการสั่งของที่ผู้ขายอาจจะเลิกขายไปแล้ว แต่หลอกว่ายังมีของอยู่
-
ถ้าตรวจสอบทั้งหมดแล้วผ่านก็ยังกลัวอยู่ ก็สามารถที่จะสั่งได้แบบน้อย ๆ ไปก่อน และอย่าเห็นแก่ของที่ราคาถูกมากจนเกินไปอีกด้วย ไม่ควรสั่งของราคาแพงมากเกินไป เช่น อาจจะจำกัดวงเงินไว้ที่ไม่เกิน 2,000 บาท หรือเป็นวงเงินที่รับความเสี่ยงได้ โดยไม่เดือดร้อนกับสถานะการเงินของตัวเอง
ทั้งนี้การซื้อของออนไลน์ที่ถึงแม้จะสะดวกรวดเร็วแค่ไหน แต่ก็มีข้อเสียตามมาเท่านั้น ดังเช่นกระทู้ของผู้ใช้บริการซื้อของออนไลน์กับเว็บขายของออนไลน์ที่เป็นแหล่งรวมผู้ขายของออนไลน์เว็บหนึ่ง ที่ค่อนข้างมีชื่อและเชื่อถือได้ ก็ยังที่จะโดนโกงได้ง่าย ๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะต้องระวังไว้ให้มากที่สุด และสามารถติดตามอ่านเรื่องราวนี้ได้ที่ http://pantip.com/topic/32571426
เพิ่มเติม : บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ แคชแบ็ก คืนเงินทุกครั้งที่ใช้จ่าย