โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (ONE TAMBON ONE PRODUCT : OTOP) เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค เป็นโครงการที่ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นได้นำเอาภูมิปัญญามาเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ด้วยการนำมาทำเป็น สินค้าOTOP ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถนำไปจำหน่าย แจกจ่าย เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการทำงานเพิ่มการจ้างงานในชุมชนต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้นโยบายของรัฐก็จัดให้แต่ละชุมชนได้มีสินค้าที่เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยให้การสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรต่างๆของรัฐด้วยดีเสมอมา
สำหรับใครที่อยู่ต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็ดี คงจะคุ้นเคยกันกับการเปิดตลาดเพื่อขายสินค้า OTOP ตามงานหรือเทศกาลวันสำคัญต่างๆซึ่งภายในงานก็มีสินค้าขึ้นชื่อจากจังหวัดต่างๆมากมาย เกือบทั่วทุกภาคในประเทศไทย สินค้าส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งสินค้าที่เป็นประเภทอาหาร อย่างอาหารพื้นเมือง เช่น น้ำพริกหนุ่ม แค๊บหมู หนังปลาทอดกรอบ หมูกระจก น้ำพริกนรกแมงดา ปลาร้า ปลาส้มอีสาน เฉาก๊วย ชาชัก ผลไม้อบแห้ง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น หรือแม้แต่สินค้าที่อยู่ในหมวดของเครื่องแต่งกาย ผ้าถุง ผ้าสไบ ผ้าไหมสำเร็จรูป เสื้อผ้า/กางเกง/กระโปรงที่ทำจากผ้าไทย ผ้าฝ้าย หรือหมวดเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง ก็มีทั้งงานเซรามิก งานไม้แกะสลัก งานเคลือบ งานหินอ่อน งานเครื่องปั้นดินเผา งานประดิษฐ์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางและของใช้ต่างๆ ก็ได้มีการนำเอาสมุนไพรที่หาได้ในชุมชนมาทำเป็น โลชั่น สบู่ เจลล้างมือ ยาสระผม ครีมนวดผม ครีมหมักผม ครีมบำรุงผิวหน้า เป็นต้น พืชสมุนไพรต่างๆถูกนำมาแปรรูปให้เป็นสินค้า ส่งขายในตลาด และศูนย์การค้าต่างๆ ทำให้สินค้าOTOP เหล่านี้ เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังช่วยให้คนในชุมชนนั้นมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้นั่นเอง
ล่าสุดทางด้านของ นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีนโยบายที่จะขยายตลาดเพื่อให้สินค้าOTOP เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทางกรมฯได้เชิญห้างร้านสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆทั้งที่เป็นของไทย เกาหลี ญี่ปุ่น ได้แก่ เซ็นทรัล ซุปเปอร์มาร์เก็ต,เทสโก้ โลตัส,ทีวีไดเรกต์, คิงเพาเวอร์ และไทยแลนด์ มอลล์ และผู้ประกอบการจากต่างประเทศดังกล่าว เดินทางมาคัดเลือกสินค้าที่เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์OTOPและสินค้าที่เป็นSMEs กว่า 750 รายการ ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้คัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยครอบคลุมทุกหมวดหมู่สินค้า เพื่อนำไปจำหน่ายต่อยังห้างร้านของผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งนี้ก็หวังที่จะขยายตลาดให้สินค้าOTOPและSMEs ได้เป็นที่รู้จักและเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศและในประเทศมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่ดีมากๆที่สินค้าของคนไทย จะได้มีโอกาสส่งออกไปขายยังต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้มีความแข็งแกร่ง รู้จักนำเอาภูมิปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังและส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว ภายในประเทศก็มีการกระจายสินค้าตามห้างร้านที่เปิดพื้นที่ขายในพื้นที่ของสนามบิน ซึ่งสัญญาเช่าพื้นที่ในการขายสินค้า OTOP ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น สามารถเปิดให้ขายได้อีก 3 ปี (ระหว่างพ.ศ.2559-2562) ที่ผ่านมาถือว่า สินค้าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติอย่าง จีน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าขายดีที่สุดก็คือ สินค้าประเภทอาหารและยาสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ยาหม่อง ยาหอม รวมไปถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไทย ผ้าทอ ผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงาม เป็นต้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะทำขยายยอดการค้าให้ได้ 100 ล้าน ภายในปี 2559 นี้ซึ่งนอกจากจะเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าในตลาดต่างๆแล้ว ยังเพิ่มช่องการขายที่เป็นแบบออนไลน์อีกด้วย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสินค้า สามารถเข้าไปสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ www.thaicommercestore.com และสามารถทำการโพสต์ขายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์OTOPของตนเองได้ตามหมวดหมู่ต่างๆได้ ซึ่งการขยายตลาดในแบบออนไลน์นี้คาดว่าในอนาคตจะผลักดันให้เข้าไปขายส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ อย่างเช่นใน เว็บไซต์ alibaba.com และ amazon.com ทั้งที่นี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้
ถึงแม้ว่า สินค้าของไทยอาจจะยังไม่ค่อยได้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกเท่าไหร่นัก แต่ถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สินค้ามีการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอื่นๆเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในด้านของผู้ประกอบการหรือเจ้าของสินค้า OTOPและSMEs เอง ก็ควรที่จะพัฒนาสินค้า เพิ่มผลผลิตให้ต่อเนื่องอยู่เสมอ รวมไปถึงใครที่มีแนวคิดดีดี อยากทำสินค้าที่เป็นOTOP ก็ลองสำรวจดูค่ะว่า ในท้องถิ่นชุมชนของเรานั้น อะไรที่พอจะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าได้บ้าง เช่น ผลไม้ สัตว์น้ำ พืชผักสวนครัว สมุนไพรต่างๆ แล้วเอามาลองศึกษาวิธีการทำ และลองลงมือทำดู ขั้นแรกอาจจะขายในตลาดชุมชนแล้วค่อยขยายแบรนด์ต่อเนื่องไปยังพื้นที่ต่างๆใกล้เคียง ถ้ามีการตอบรับที่ดี เราก็อาจจะทำเพิ่มมากขึ้น และเข้าร่วมกับองค์กรของรัฐเพื่อทำการส่งออกต่างประเทศ เป็นต้น