คุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันมักพาลูกน้อยออกไปเที่ยวนอกบ้านกันตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ก่อนอายุ 3 เดือนก็มี ถ้าเป็นสมัยก่อนจะอยากให้เด็ก ๆ อยู่บ้านเกือบ 1 ขวบ เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อโรค (ยกเว้นที่ต้องพาไปหาหมอฉีดวัคซีน) สำหรับตัวผู้เขียนเองพอลูกอายุ 2 เดือน ก็พานั่งรถเข็น (แบบนอน) เข็นไปหน้าบ้าน เพื่อให้รับแสงแดดอ่อน ๆ เล่นกับเพื่อนบ้านเล็กน้อย แต่พออายุ 3 เดือน จึงได้พาไปข้างนอกบ้านแบบขับรถไป (แต่ไม่ได้ไปห้างสรรพสินค้าติดเครื่องปรับอากาศ) พอดีว่าพาไปริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วนำเส้นผมที่ตัดไปลอยแม่น้ำเจ้าพระยา
การที่เราพาลูกออกไปนอกบ้านแต่ละครั้งก็ต้องเสียเงิน อย่างน้อยก็ต้องค่ากินอาหารของคุณพ่อคุณแม่เอง อย่างต่ำถ้าไปร้านอาหารที่เด็กสามารถร่วมนั่งโต๊ะได้ก็ต้อง 500 บาทขึ้นไป และต้องมีค่า Service Charge อีก 10% หรือบวกค่าภาษี (Vat 7%) อีกด้วย ดังนั้นการออกไปแต่ละทีควรเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ให้เพียงพอด้วย
เรามาดูข้อดีข้อเสียพร้อมข้อควรระวังของการพาลูกน้อยออกนอกบ้านกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ ดังนี้
ข้อดีของการพาลูกออกนอกบ้าน
- ลูกได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ เขาจะได้มองเห็นสิ่งใหม่ มองสิ่งต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหว และสีสันต่าง ๆ ฝึกให้เขากระตุ้นการมองเห็นและสมอง เวลาเราพาเขาออกไปข้างนอกเราสามารถสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ เข้าไปในคลังสมองของเขา เช่น เวลาเราเดินผ่านโซนผักผลไม้ในซูเปอร์มาเก็ตเราสามารถสอนเขาได้ว่า อันนี้คือ กล้วยมีสีเหลือง แอปเปิ้ลมีสีแดง ให้เขาได้เห็นและสัมผัสของจริง ซึ่งทำให้มีข้อดีกว่าอยู่ที่บ้าน
- ลูกจะไม่กลัวเวลาเข้าสังคม หรือมีคนแปลกหน้าเข้ามาทักทาย เพราะบางทีถ้าเราให้ลูกอยู่แต่ภายในบ้านกับคนเลี้ยง เช่นแม่ หรือ ปู่ย่าตายาย เขาจะกลัวคนแปลกหน้า เวลาไปแปลกถิ่นก็จะร้องไห้ ดังนั้นควรสร้างนิสัยที่ไม่กลัวให้กับเด็ก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ เขาฉลาดพอเขาไม่ร้องไห้เมื่อเห็นคนแปลกหน้า แต่เขาก็มีระบบป้องกันตนเองในด้านไม่ให้คนแปลกหน้าจับหรืออุ้มโดยเด็ดขาดเช่นกัน
- ลูกจะรู้จักการเรียนรู้มารยาททางสังคม เช่น สวัสดี ยิ้มทักทาย หรือโบกมือบ๊ายบาย ลาก่อน เป็นต้น โดยเราสามารถทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง เพราะเด็ก ๆ ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก
- พ่อแม่ได้ผ่อนคลายจากความเครียดเพราะเปลี่ยนสถานที่เลี้ยงลูก
ข้อเสียของการพาลูกออกนอกบ้าน
- ลูกอาจจะไม่สบาย เพราะภายนอกมีเชื้อโรคมากมายนอกบ้าน
- พ่อแม่ต้องเหนื่อยกับการแบกของ เช่น กระเป๋าสัมภาระ รถเข็นเด็ก กระติกน้ำ ขวดน้ำ ขวดนม เป็นต้น
ข้อควรระวังในการพาลูกออกนอกบ้าน
- ระวังคนแปลกหน้า จุดนี้เด็กเล็กมักจะได้รับความเอ็นดูจากผู้ใหญ่เสมอหลายคนชอบที่จะมาจับแก้ม หอมแก้ม หรืออุ้ม ข้อควรระวังคือเราไม่ควรให้ใครมาสัมผัสลูกเราเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคอะไรหรือไม่ และที่สำคัญเขาไม่ได้ล้างมือมา ถ้ามาสัมผัสลูกของเราลูกอาจจะไม่สบายได้
- อาหารการกินและความสะอาด ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะข้างนอกบ้านมีเชื้อโรคมาก ถ้าถึงวัยที่กินข้าวได้แล้วช่วงแรกอาจจะต้องนำอุปกรณ์การกินข้าวไปจากบ้านเอง เช่นชาม ช้อน ที่เรานึ่งเองจากบ้านไป เพื่อความสะอาดแล้วลูกจะได้ไม่ท้องเสีย รวมถึงการเตรียมขวดน้ำใส่นำเองไปจากบ้าน
- เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วควรรีบล้างมือเด็กน้อยให้สะอาด ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย เพราะเสื้อผ้าไปโดนเชื้อโรคภายนอกด้วยเช่นกัน การล้างมือควรล้างด้วยสบู่และใช้เวลาถูประมาณ 20 วินาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย เมื่อเราสร้างนิสัยการล้างมือให้กับเด็ก ๆ แล้วพวกเขาก็จะติดเป็นนิสัยชื่นชอบการล้างมือไปเอง สาเหตุที่เราต้องล้างมือเด็กบ่อย ๆ เพราะเด็กขอบเอามือเข้าปากแล้วเอามือลูบไปกับพื้นหรือสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งมีเชื้อโรคมากมายก่อให้เกิดโรคท้องร่วง โรคมือปากและเท้าเปื่อย โรคไข้หวัด เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันด้วยการล้างมือจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดและประหยัดเงินประเป๋าคุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องพาลูกไปหาหมอ
การออกจากบ้านไม่ได้มีข้อจำกัดมากนัก เพียงแต่ว่าแต่ละบ้านมีการใช้ชีวิต (Life Style) ที่ไม่เหมือนกัน การที่จะไปบอกว่าบ้านนี้พาเด็กออกจากบ้านมากจัง หรือทำไมให้เด็กอยู่แต่ในบ้านนั้นไม่ถูก เพราะแต่ละบ้านมีวิธีไม่เหมือนกัน อย่าไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก เพราะผู้เขียนเชื่ออยู่แล้วว่าพ่อแม่ทุกคนก็ย่อมรักลูกของตัวเองอย่างสุดหัวใจและดูแลเขาอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว
อ่านเพิ่มเติม : วิธีป้องกันกันหวัดช่วงใกล้ฤดูหนาวให้กับเด็ก ๆ