อาการแพนิค เป็นอาการที่แสดงถึงความวิตกกังวลหรือหวาดกลัวในทันทีทันใด แตกต่างจากการกังวลแบบปกติ เนื่องจากบางคนเกิดขึ้น โดยลักษณะแบบที่เรียกว่าอาการของโรคจู่โจมนั่นเอง บางครั้งอาจเกิดได้ในช่วงเวลา 5-10 นาที หากอาการแพนิคลดลงแล้วหลังจากที่เกิดขึ้น คนไข้มักจะกังวลว่าอาการของตนจะกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง ยิ่งทวีมากขึ้นเท่าใดอาการก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาการแพนิคส่งผลให้เกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่หากลองแก้อาการแพนิค เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตที่มากกว่าเดิม
อาการแพนิคที่พบได้บ่อย ๆ
ส่วนใหญ่แล้วอาการแพนิคที่พบได้บ่อยมักเป็นอาการกลัวที่แคบ กลัวที่มืด กลัวการแสดงออกในที่สาธารณะหรือกลัวที่สูง โดยสิ่งเหล่านี้ผู้ที่ป่วยควรได้รับการรักษาและแก้ไข เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ในสถานการณ์ที่อาจจะต้องพบเจอ เนื่องจากในชีวิตจริง ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงความกลัวของตนเองไปได้ตลอดเวลา
- อาการกลัวที่มืด
ที่มืดเป็นสถานที่ซึ่งพบได้บ่อย ยกตัวอย่างเช่น การเกิดไฟดับหรือช่วงเวลากลางคืน เป็นต้น อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยหรือมีไปจนถึงขั้นที่แสดงถึงอาการหวาดกลัวมาก โดยอาการที่พบ ได้แก่ รู้สึกใจสั่น มีเหงื่อออกมาก มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด คลื่นไส้ รู้สึกมึนงง หรือขาสั่น เป็นต้น
การรักษาหรือการบรรเทาอาการแพนิค
สำหรับการรักษาอาการแพนิคกลัวที่มืดนั้น หากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้มีอาการมากควรแก้ที่จิตใจเป็นหลัก โดยลองสำรวจตนเองว่าเพราะเหตุใดจึงหวาดกลัวที่มืดเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น บางคนกลัวที่มืดเนื่องจากกลัวสิ่งเร้นลับ วิญญาณ เป็นต้น เมื่อทราบถึงสาเหตุแล้วอาจจะลองใช้เหตุผลเพื่อบอกตนเองดูว่า ผีเป็นสิ่งไม่มีชีวิตและไม่ทำให้อันตรายให้กับตนเองได้ แต่เนื่องจากว่าด้วยอาการแพนิคนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจไม่สามารถหาเหตุผลให้ตนเองได้มากพอจนจะทำให้หายกลัว ดังนั้น จึงควรเลือกที่จะปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อทำการแก้ปมในจิตใจตนเองให้ได้ สำหรับรายที่มีอาการมาก ยกตัวอย่างเช่น รู้สึกว่าตนเองคล้ายจะเป็นบ้า หากต้องอยู่ในที่มืดคนเดียว ลักษณะอาการนี้อาจจะต้องใช้ยารักษาร่วมด้วย เพื่อให้ระบบการคิดและการทำงานของสมองเป็นไปอย่างปกติ
- อาการกลัวที่แคบ
หากใครที่ป่วยด้วยอาการกลัวที่แคบ นับว่าอาจจะต้องประสบปัญหาในชีวิตอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากที่แคบพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลิฟท์หรือห้องน้ำ ดังนั้น การรักษาจึงควรเร่งรีบทำมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตนั่นเอง อาการของผู้กลัวที่แคบนั้นก็ไม่แตกต่างกับอาการกลัวที่มืดสักเท่าใดนัก ส่วนใหญ่มักจะมีอาการวิงเวียน ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมเมื่อต้องอยู่ในที่แคบ บางรายอาจมีอาการหนักจนถึงขั้นเจ็บหน้าอกก็เป็นได้
การรักษาหรือการบรรเทาอาการแพนิค
สำหรับการรักษาอาการกลัวที่แคบ นับเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคแพนิคกลัวที่แคบต้องทำการปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อทำการค้นหาสาเหตุว่าเพราะเหตุใดจึงหวดกลัวที่แคบผิดปกติ และให้นักจิตวิทยาแก้ปมปัญหาในจิตใจนั้น บางครั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแพนิคกลัวที่แคบอาจจะเป็นสาเหตุที่คาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น วัยเด็ก เคยถูกพ่อแม่ลงโทษด้วยการขังไว้ในห้องน้ำ หรืออาจเคยติดอยู่ในลิฟท์ขณะไฟดับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพนิคได้นั่นเอง สำหรับรายที่มีอาการมากอาจปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้ยาร่วมด้วยจะทำให้อาการนั้นดีขึ้น
- อาการกลัวที่สูง
อาการกลัวที่สูงเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดอาการเมื่อต้องขึ้นไปอยู่ในบริเวณที่มีความสูง อาจมีใจเต้นรัวราวกับตีกลอง เหงื่อไหลออกมากทั้งที่อากาศเย็น มีอาการอ่อนเพลีย มีอาการมึนงง รู้สึกโลกหมุนเหมือนกับจะเป็นลม นอกจากนี้ในรายที่มีอาการมากอาจจะรู้สึกว่าตนเองอยู่ในความฝันก็เป็นได้
การรักษาหรือการบรรเทาอาการแพนิค
การแก้ที่จิตใจควบคู่ไปกับการรักษาโรคแพนิคนับเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด โดยผู้ป่วยโรคแพนิคอาจจะปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ให้ทำการแก้ไขโรคต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้หายขาดอย่างยั่งยืน
การบรรเทาอาการแพนิคตามหลักการแพทย์
ในปัจจุบันมีการรักษาอาการแพนิคให้หายขาดได้ เพียงผู้ป่วยเขารับการรักษาเพื่อรับยาและรับการดูแลโดยจิตแพทย์ ส่วนในด้านของจิตใจอาจจะให้นักจิตวิทยาบำบัดร่วมด้วยก็เป็นได้ อาการเหล่านี้จะหายได้หากมีการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยควรรักษาต่อเนื่องจนกระทั่งถึง 6 เดือน เพื่อไม่ให้อาการป่วยกำเริบมากกว่าเดิม ทั้งนี้การหยุดยาด้วยตนเองจะทำให้อาการกำเริบขึ้นได้
วิธีการปฏิบัติตัว
ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเป็นประจำและไม่ควรดื่มเหล้าหรือใช้ยานอนหลับรักษาอาการ เนื่องจากไม่ใช่การแก้ที่สาเหตุ ในกรณีที่มีการติดชาหรือกาแฟ ผู้ป่วยควรเลี่ยงเพื่อไม่ให้อาการกำเริบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หากอาการป่วยลดลงแล้ว ให้ผู้ป่วยออกไปเผชิญกับสิ่งที่ตนเองกลัว เช่น หากกลัวที่แคบก็ควรลองไปอยู่ในที่แคบ โดยเริ่มจากการไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวในเวลาเล็กน้อย ก่อนเพิ่มเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งหายกลัวในที่สุด
อาการแพนิคไม่ใช่โรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ขอเพียงแค่ผู้ป่วยเปิดใจเข้ารับการรักษา ดูแลสุขภาพจิต เพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและใช้ชีวิตเฉกเช่น คนปกติได้อย่างมีความสุข