หนี้นอกระบบแค่ฟังชื่อก็น่ากลัวแล้วนะ คือ ด้วยความที่มันอยู่นอกระบบมันก็เลยไม่มีมาตรฐานอะไร ไม่มีหน่วยงานใดมาดูแล คิดถึงหนี้นอกระบบทีไร ก็อดนึกถึงวิธีการทวงหนี้แบบมหาโหดที่เห็นในละครไม่ได้เลย แต่ที่หนี้นอกระบบเป็นรูปแบบของหนี้ประเภทหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยมาได้อย่างช้านานก็เป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือหนี้ในระบบได้นั่นเอง ด้วยความจำเป็นจึงจำเป็นต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบเพื่อเป็นทางออกให้กับเงินทองที่ไม่พอใช้ของครอบครัว
หนี้นอกระบบในความหมายที่เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ หนี้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเป็นการกู้ยืมกันเอง ไม่ได้ผ่านสถาบันการเงิน ไม่ได้ถูกกำกับโดยหน่วยงานของรัฐบาลเงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้ยืมก็ไม่ได้เป็นมาตรฐาน แล้วแต่ตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เอกสารที่ใช้ทำข้อตกลงบางทีก็อาจเป็นแค่กระดาษเปล่าเพียงใบเดียว เขียนข้อความแล้วก็เซ็นชื่อลงไป ส่วนดอกเบี้ยก็คิดเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน มากกว่าที่กฎหมายกำหนด
ด้วยความที่ลูกหนี้ที่กู้เงินจากนอกระบบไม่มีทางเลือกมากนักจึงจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบ ลูกหนี้ส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบให้กับเจ้าหนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ยที่สูงมากจนแทบจะจ่ายคืนไม่ไหว หรือบางครั้งอาจโดนคิดค่าธรรมเนียมอะไรต่อมิอะไรที่สูงเกินควร และถูกหักค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไปจากเงินก้อนที่เรากู้เลยด้วย เจ้าหนี้บางคนยังโหดถึงขั้นเมื่อเขียนสัญญาเงินกู้ให้ลงจำนวนเงินที่มากกว่าที่กู้ไปจริง โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นค่าใช้จ่ายหากต้องเกิดกรณีฟ้องร้องกันขึ้นมา เป็นต้น
หนี้นอกระบบหนี้มีหลายรูปแบบด้วยกัน
- หากเป็นการกู้ยืมกันเองในครอบครัว วงศาคณาญาติ ก็แล้วแต่ตกลงกัน หากมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องกันได้
- ส่วนการกู้ยืมนอกระบบกับเจ้าหนี้อื่น ๆ ก็มีทั้งแบบระยะสั้นที่จ่ายคืนเป็นรายวันหรือจ่ายคืนเป็นรายเดือน แบบระยะสั้นที่จ่ายคืนเป็นรายวัน
ยกตัวอย่างเช่น กู้ยืมเงินมา 10,000 บาท อาจถูกหักค่าใช้จ่ายไป 1,000 บาท ได้เงินกู้ไป 9,000 บาท แต่จะต้องคืนวันละ 500 บาท เป็นเวลา 24 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,000 บาท เป็นต้น หากวันไหนไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ทบต้นไปต้องจ่ายมากขึ้นหรือนานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป ส่วนรายเดือนก็หลังจากกู้ไปก็กำหนดว่าจะให้คืนเงินเมื่อไหร่ เช่น หากกู้ไป 10,000 บาท หลังถูกหักค่าใช้จ่ายไป 1,000 บาท ได้เงินกู้ไป 9,000 บาท อีก 24 วันข้างหน้าต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันที่ 12,000 บาท เป็นต้น หากไม่คืนดอกเบี้ยก็จะทบต้นต้องจ่ายมากขึ้นและมีโอกาสที่จะโดนทวงหนี้ในรูปแบบโหด ๆ ด้วย เจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ส่วนมากจะเป็นคนร่ำรวยที่อยู่ในพื้นที่ โดยมากจะไม่ค่อยออกหน้ามาให้กู้เอง แต่จะมีลูกน้องคอยดูแลเรื่องปล่อยกู้และตามหนี้ให้
ไม่มีใครอยากจะกู้หนี้นอกระบบหากไม่จำเป็น แต่ที่หนี้นอกระบบในประเทศไทยมีจำนวนสูงขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้สักที ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาจมีฐานะยากจนหรือไม่มีความรู้ในขั้นตอนที่จะต้องของสินเชื่อหรือสินเชื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินมีความยุ่งยากในการขอ และวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อก็อาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทราบถึงปัญหาของหนี้นอกระบบว่าเหมือนเป็นบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมทั้งในระดับชุมชนและประเทศด้วย จึงได้พยายามหาทางแก้ด้วยการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนเพื่อนำไปคืนหนี้นอกระบบนี้ เป็นการจัดการให้หนี้นอกระบบกลายมาเป็นหนี้ในระบบที่สามารถจัดการได้ โดยรูปแบบของสินเชื่อที่ภาครัฐเสนอให้กับประชาชนที่เป็นรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ก็มีทั้งธนาคารประชาชนของธนาคารออมสินที่คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ต่อเดือน หรือ 20% ต่อปี และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 36%
อ่านเพิ่มเติม : เงินกู้ นาโนไฟแนนซ์ พระเอกขวัญใจคนกู้ยากมาแล้ว
แต่เนื่องจากสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีเงื่อนไขว่าผู้กู้จะต้องนำเงินกู้ไปลงทุนหรือค้าขาย ไม่สามารถนำเงินไปใช้ในกรณีอื่นที่ฉุกเฉินได้ ส่วนธนาคารประชาชนของธนาคารออมสินก็มีเงื่อนไขในเรื่องต้องเปิดบัญชีเงินฝากและต้องมีการค้ำประกันเงินกู้ด้วย ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังจึงได้ให้ธนาคารออมสินไปคิดสินเชื่อตัวใหม่ที่สามารถให้ได้ง่าย ไม่ต้องมีขั้นตอนที่มากมายเหมือนอย่างธนาคารประชาชนหรือนาโนไฟแนนซ์ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการกู้เงินของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดสิ้นไปได้เร็วอีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้นล่าสุดกระทรวงการคลังยังมีการเปิดตัว Pico Finance เพื่อให้เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้หนี้นอกระบบอยู่ สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้ โดยเข้ามาทำการจดทะเบียนเป็น Pico Finance จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียน จึงสามารถปล่อยสินเชื่อและรัฐบาลให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดได้เท่ากับนาโนไฟแนนซ์ คือ 36% คาดว่าเรื่อง Pico Finance นี้น่าจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและทราบผลหลังจากเดือนมิถุนายน 2559 นี้
นอกจากนั้นทางกระทรวงการคลังยังจะให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดให้มีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ ให้คำปรึกษาลูกหนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุก ๆ จังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบให้ โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและจะถึงภาคเอกชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันเพื่อช่วยสร้างอาชีพเป็นช่องทางหารายได้ใหม่ ๆ ให้กับประชาชนเพื่อจะได้มีเงินมาคืนหนี้เงินกู้ได้
จากความพยายามของทุกภาคส่วนก็หวังว่าหนี้นอกระบบคงจะหมดไปโดยเร็ว ทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงเงินกู้ในระบบน่าจะมีมากขึ้น และในขณะเดียวกันหวังว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการอื่น ๆ ให้การช่วยเหลือภาคประชาชนให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าครองชีพค่าใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ต้องก่อหนี้อีกด้วย