คนทุกคนเกิดมาล้วนต้องการความสะดวกสบาย ความพร้อมสรรพทุกสิ่ง เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเกิดหากได้รับอาหาร ความรัก การเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างดีก็ยากที่จะร้องไห้โวยวาย เหมือนเช่นเด็กเล็กถ้าต้องการสิ่งใดแล้วได้ตามที่คาดหวังก็จะพึงพอใจซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ที่มีความมุ่งหวังต้องการได้สิ่งที่ช่วยให้ชีวิตสุขสบายขึ้นอย่างปัจจัยพื้นฐาน 4อย่างอันประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
แต่ด้วยยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสนิยมและความเร่งรีบในทุกสิ่ง ทำให้ผู้คนมีความต้องการบางอย่างต่างจากอดีต ซึ่งในมุมมองในด้านการดำรงชีพเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเช่น ยานพาหนะซึ่งมีตั้งแต่ธรรมดาจนถึงหรูหรา สินค้าเทคโนโลยี และของใช้ฟุ่มเฟือยต่างๆ ซึ่งการจัดหาสิ่งบางอย่างอาจเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการมากกว่าความจำเป็นในมุมมองความคิดของคนบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เมื่อคนแต่ละรุ่นได้รับการสนองตอบตามที่พึงประสงค์ย่อมรู้สึกยินดี มีความสุข แต่เมื่อใดที่พลาดสิ่งที่คาดหวังด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามย่อมเกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล โดยสาเหตุใหญ่ ๆ ของเหตุการณ์ที่ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เนื่องจากความไม่มี อย่างเช่น จน เครียด ! ที่เราจะพูดถึงนี้
คำว่าไม่มีในที่นี้คือ ความจน ซึ่งความจนเป็นสิ่งที่สามารถวัดค่าและชี้วัดได้จากระดับรายได้ของบุคคลนั้น ๆ จากการทำมาหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งหากระดับรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (เป็นเส้นมาตรฐานที่แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 2 กลุ่ม) ก็จะถือว่าได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มคนยากจนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามแม้ความจนเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนต้องการหลีกหนี เพราะความจนบ่งบอกถึงการไม่มีทรัพย์เพียงพอในการแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็นหรือสิ่งที่ต้องการในขณะหนึ่ง ๆ และนั่นย่อมทำให้เกิดความเครียด แต่ทุกคนที่พบพานความไม่มี หรือยากจนอาจลืมนึกไปว่าความจนและความเครียดไม่ใช่สิ่งที่เกาะติดเกี่ยวพันหรือต้องอยู่คู่กัน ทำให้บุคคลสามารถหลบหลีกจากความเครียดได้ และยังไม่ใช่เป็นตัวกำหนดวัดระดับความสุขในการดำรงชีวิต เพราะความสุขมีอยู่ทุกที่และติดตัวบุคคลหนึ่ง ๆ ตลอดเวลาเพียงแต่รู้จักวิธีเปิดกล่องความสุขที่อยู่ภายในตัวออกมา ความสุขนั้นก็จะฟุ้งกระจายตลบอบอวลทั่วทุกที่ ดังนั้นแล้ว เมื่อเผชิญกับคำนิยามที่กำหนดขึ้นเพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคมด้านทรัพย์สินอย่างความจน แต่หากบุคคลใดมีหลักในการคิด การทำความเข้าใจ และพร้อมลองปฏิบัติ ก็จะสามารถระงับหรือลดความเครียดลงได้ โดยวิธีการมีดังนี้
1.หลักการคิด
หลักธรรมแห่งการดับทุกข์ อริยสัจ 4 มีความหมายลึกซึ้งทั้งยังสามารถนำมาเป็นข้อคิดพิจารณาในกรณีความจนและความเครียดได้ เพราะตราบใดก็ตามที่บุคคลสามารถตั้งสติและคิดพิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลจะทราบสาเหตุและผลลัพธ์ของปัญหาต่าง ๆ โดยจะสามารถรู้ทันความคิดทำให้เครียด ความทุกข์ใจ แล้วไล่ลำดับไปจะรู้สาเหตุของความเครียดในที่สุด และเมื่อนั้นก็จะสามารถตัดความเครียดลงได้ ซึ่งความเครียดอาจเกิดจากเหตุแห่งความจนซึ่งความจนเกิดจากการไม่มีทรัพย์เพียงพอ แล้วทรัพย์นั้นเกิดจากการทำมาหาได้ หากทราบเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องขวนขวายหาวิธีทำงานแต่ด้วยสสภาพเศรษฐกิจ อาจเป็นตัวจำกัดการหางาน แต่อย่างไรก็ตามหากมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ขยันสร้างรายได้แล้ว สุดท้ายความสำเร็จก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อมและเมื่อสามารถมีรายได้เพียงพอความเครียดก็มีแนวโน้มจะลดลง ร่างกายก็มีความพร้อมสมบูรณ์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อีกอย่าง การคิดเพื่อสร้างความสบายใจ ไร้ความเครียด อาจทำได้ดังนี้
- คิดสร้างความสุข
ความคิดเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ความเครียดความสุขก็อยู่ภายในจิตใจเช่นกัน ซึ่งจิตใจเป็นสิ่งที่กำหนดทุกสิ่ง หากต้องการลดความเครียดฉันใดก็ต้องเพิ่มความสุขฉันนั้น ดังนั้นบุคคลควรเริ่มคิดแต่สิ่งที่สร้างความสุขให้ตนเอง พร้อมแสวงหาวิธีคลายความทุกข์ และนั่นย่อมทำให้เกิดความสุขภายในใจ ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายในที่สุด
- คิดก่อนใช้
เมื่ออยู่ในสภาวะความจน ความเครียด การจับจ่ายใช้สอยจึงจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ โดยวางแผนจัดสรรรายได้แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายอย่างใช้ประจำวัน ใช้ยามจำเป็น ใช้ยามฉุกเฉิน ใช้เพื่อลงทุน อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถเก็บออมเงินส่วนหนึ่งได้ แต่รู้จักพิจารณาความจำเป็นและลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง ย่อมทำให้มีความคล่องตัวทางการใช้จ่ายมากขึ้น สามารถลดความกดดันและความเครียดได้
2. หลักการกระทำ
การกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม หากกระทำตามแนวทางความคิดที่ได้วางไว้เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมไม่เกิดความผิดพลาด เพราะตนเองเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง ยกเว้นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจทำให้ไขว้เขว และสร้างความกังวลใจได้ ดังนั้นการลดความเครียด สามารถกระทำได้ดังนี้
- สร้างความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ
เมื่อมีฐานะยากจนย่อมมีความเครียดเกิดขึ้นได้แต่บุคคลสามารถสร้างความสุขเพื่อลดความเครียดจากความยากจนได้เหมือนกัน โดยเริ่มด้วยการกระทำสิ่งเล็ก ๆ เช่น การหันเหเปลี่ยนความคิดมาใส่ใจสิ่งที่ตนชื่นชอบ การพูดคุย ดูหนัง ฟังเพลง สร้างความผ่อนคลายให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่เป็นทางออกของปัญหาได้
- เก็บก่อนใช้ และใช้เท่าที่มี
การมีระดับรายได้น้อยมิใช่จะไม่มีทรัพย์ เพียงแต่มีในระดับที่ไม่อาจได้สิ่งที่ต้องการครบตามที่คาดหวัง และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอาจหาทางออกโดยการหยิบยืมและกู้อันเป็นสาเหตุของหนี้สิน ซึ่งสร้างความลำบากทางการเงินต่อไปในอนาคตได้หากไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่ ดังนั้นควรพิจารณาก่อนการใช้จ่ายโดยการเก็บเงินส่วนหนึ่งก่อนการใช้ และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- หลักการพอเพียง
หลักยึดเหนี่ยวที่ดีที่สุดเป็นหลักนำตัวและจิตใจให้มุ่งสู่ความสุข หมดซึ่งความทุกข์ และเป็นหลักที่เป็นทางสายกลาง รู้ถึงความพอดี พอประมาณและพอใจในสิ่งที่มีจากที่ตนหาได้ นั่นคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ควรนำไปศึกษาและปฏิบัติ อันจะทำให้ห่างไกลคำว่าจน เพราะความจนในหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้วัดจากระดับรายได้เหมือนเช่นความจนในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่วัดจากความสามารถในการเลี้ยงตนเองได้ในระดับที่ไม่รู้สึกถึงการต้องขวนขวายหาสิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด การดำรงอยู่ได้ด้วยความรู้สึกทางจิตใจถึงการพอเพียงจึงทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อน กังวลและเครียด