สัตว์ทุกชนิดจะมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดแตกต่างกันไป การเอาตัวรอดของสัตว์เราจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ หนึ่งเอาตัวรอดด้วยการล่าเหยื่อเป็นอาหาร เรียกว่าเป็นพวกเชิงรุก สองคือเอาตัวรอดด้วยการปกป้องตัวเอง สัตว์ทุกชนิดมีอาณาเขตของตัวเอง และมีพฤติกรรมแตกต่างกันไป ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น มีสัตว์อยู่ 2 ชนิดที่ให้บทเรียนกับเราได้ดีเกี่ยวกับการเอาตัวรอด นั่นก็คือ เม่น กับ เต่า
เริ่มจากเม่นก่อน สัญชาตญาณของเม่น เวลาที่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก หรือมีผู้บุกรุกที่จะเข้าไปใกล้ตัวมัน เม่นจะพองขนทั้งตัว แสดงอาการพร้อมรบทันที ส่วนเต่านั้น เวลาถูกรบกวนหรือถูกบุกรุกจากสิ่งภายนอก มันจะหดหัว หดขาเข้าไปในกระดอง เต่าจะไม่จู่โจม เต่าจะไม่แสดงอาการต่อสู้ แต่ผู้บุกรุกก็ไม่มีปัญญาไปทำอะไรเต่าได้ ส่วนใหญ่ผู้บุกรุกก็เลิกราไปเอง เต่าจะรอจนแน่ใจว่า ศัตรูจากไปแล้ว จึงจะโผล่หัวและขาออกมาจากกระดอง และนี่คือวิธีการเอาตัวรอดของเต่า จะเห็นได้ว่าตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของเม่น ที่พร้อมจะสู้ ส่วนเต่าเลือกที่จะหลบ
เรื่องของเต่ากับเม่นนี้ให้บทเรียนกับเราได้ดีในเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้คน แน่นอนว่าพฤติกรรมในการเอาตัวรอดของมนุษย์จะซับซ้อนกว่า มีกลอุบายหลอกล่อหลายชั้นกว่า แต่เราก็สามารถเรียนรู้การเอาตัวรอดจากสัตว์ได้ มาดูกันว่าถ้าเอาวิธีของเต่ากับเม่นมาประยุกต์ใช้กับชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
เต่าหดหัวและขาเข้ามาในกระดอง ดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ ดูแล้วเป็นคนขี้กลัวและขี้ขลาด แต่เนื่องจากกระดองมันแข็งแกร่งมาก ใครจะกินกระดองเต่าคงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก สุดท้ายแล้วผู้บุกรุกหรือศัตรูของเต่าจะแพ้ภัยตัวเอง เลิกราไปเอง หรือพยายามจนเหนื่อยอ่อนไปเอง จนต้องจากไปในที่สุด ถ้าคนเราใช้วิธีป้องกันตัวแบบเต่า จะสามารถลดความเข้าใจผิด และลดปัญหายุ่งยากที่ไม่จำเป็นไปได้มากทีเดียว การทะเลาะเบาะแว้งของคนเรา ไม่ใช่การตบมือข้างเดียว การจะมีเรื่องนั้นต้องเกิดจากคนทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะใช้วิธีการแบบเต่า คือหลบๆไปซะ อีกฝ่ายก็จะโวยวายได้ไม่นาน ในที่สุดก็จะไม่มีเรื่องวุ่นวายและไม่บานปลาย การททำแบบเต่านี้ถือเป็นการตั้งรับแบบอ่อนหยุ่น สามารถสลายกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่ต้องออกแรงไปตอบโต้ เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรอยู่ เรากุมสภาพแวดล้อมไว้ทั้งหมด เราจึงไม่เสียหาย
หากใช้วิธีการของเม่น
ด้วยความระวังตัวและพร้อมต่อสู่อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถที่จะเข้าสู่สถานการณ์สู้รบได้ทันที หากไม่มีใครถอย ย่อมเกิดศึกสงครามขึ้นแน่ๆ เราอาจเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ต้องมีเจ็บตัวบ้างไม่มาก็น้อย และถ้าเกิดเราแพ้ขึ้นมาล่ะ ก็ยิ่งบอบช้ำหนักยิ่งขึ้นไปอีก ในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์บางเรื่องบาดเจ็บทางร่างกาย บางเรื่องก็บาดเจ็บทางจิตใจ การต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองนั้น เป็นความชอบธรรมที่คนเราต่างก็ยอมรับ แต่ถ้าพร้อมรบทันทีทันใดแบบเม่น ไม่ทันไรก็พองขนตั้งรับ พร้อมจะสู้ตลอดเวลา ก็จะทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าคนที่ทำตัวแบบเม่นมีท่าทีเป็นมิตรหรือศัตรู คนเรามักจะกลัวถูกทำร้ายจากอาการตื่นตูมหวาดระแวง จึงไม่มีใครอยากคบหากับคนแบบเม่นมากนัก
สรุปได้ว่าคนที่ทำตัวแบบเต่า มักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ คนแบบเต่าจะมีเพื่อนมาก ใครที่คิดจะเป็นศัตรูด้วยในตอนแรก ก็จะกลายเป็นเพื่อนในที่สุด ส่วนคนที่ทำตัวแบบเม่น ระแวดระวังและปกป้องตัวเองมากจนเกินไป มักจะมีเพื่อนน้อย เพราะคนอื่นไม่อยากเข้าใกล้ ดังนั้นจากนิสัยของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ถ้าจะเลือกเราควรจะเลือกเลือกเป็นเต่าดีกว่าเป็นเม่น