ใครๆก็รู้ว่าเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี แน่นอนว่าผลที่ตามมาของมันก็คือ เป็นช่วงที่ค่าไฟแพงที่สุดในรอบปีด้วย ยิ่งถ้าเป็นเด็กหอล่ะก็ไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากค่าไฟแต่ละยูนิตก็แสนจะแพงอยู่แล้วบวกกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลทำให้ต้องเปิดแอร์มากกว่าปกติ จึงส่งผลให้ค่าไฟในช่วงนี้นี่เป็นอะไรที่หนาวมากไม่ร้อนตามอากาศเลยแม้แต่นิดเดียว เงินในกระเป๋าหมดไปก็เพราะมันนี่แหละ แน่นอนว่าผมก็ได้พยายามหาวิธีที่จะลดค่าไฟลง และในวันนี้ผมก็จะนำ วิธีลดค่าไฟ ที่ผมหาได้ มาฝากคนที่ไม่ได้ออกจากบ้านไปเที่ยวไหนในหน้าร้อนนี้ เพื่อเอาไว้รับมือกับความร้อนและค่าไฟที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัวที่จะมาถึงในเร็วๆนี้ถ้าคุณไม่ระวังตัวด้วยครับ ถือซะว่าเป็นกิจกรรมไว้ทำตอนว่างๆ รับรองว่าคุณจะเข้าในเรื่องค่าไฟและควบคุมมันได้อย่างดีต่อจากนี้แน่นอนครับ
ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะไปลดค่าไฟ เราก็ต้องมารู้ก่อนว่าค่าไฟที่การไฟฟ้าคิดเงินเราทุกๆเดือนเค้าคิดกันอย่างๆไร คำๆแรกที่อยากจะแนะนำก็คือคำว่า กิโลวัตต์ ชื่อคุ้นๆเหมือนเคยเรียนในวิชาฟิสิกส์ตอนมัธยมปลายไหมครับ แต่ถ้าใครไม่คุ้นก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆมันก็คือ พลังงานที่เราใช้ไปต่อ 1 ชั่วโมงนั่นเอง แต่ในบิลค่าไฟฟ้าจะคิดค่าไฟเป็นยูนิต ซึ่งเกิดจากนำ กิโลวัตต์ ไปคูณกับ ชั่วโมงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นโดยการไฟฟ้าจะคิดเงินคุณยูนิตละกี่บาทก็แล้วแต่ว่าสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ไฟนั้นใช้เป็นอะไร เช่น อาจจะเป็นบ้าน กิจการ หรือหน่วยงานราชการ และนอกจากนี้ยังขึ้นกับว่าคุณใช้ไฟมากน้อยแค่ไหน เช่น ยูนิตแรกๆจะจ่ายในราคาที่ถูกว่าอยู่ยูนิตหลังๆ ข้อมูลเหล่านี้คุณสามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องจะมีเขียนจำนวนกิโลวัตต์ที่เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นใช้อยู่ข้างๆครับว่า เครื่องนี้ใช้ไฟฟ้ากี่กิโลวัตต์ แต่ส่วนมากที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจะบอกตัวเลขที่มีหน่วยเป็นวัตต์โดยถ้าเราอยากได้หน่วยเป็นกิโลวัตต์ก็ง่ายๆเพียงแค่นำ1000 ไปหารเพียงแค่นี้เราก็จะได้หน่วยที่เป็นกิโลวัตต์แล้ว
อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักกับ บิลค่าไฟ อย่างละเอียดกันหน่อย !
ยกตัวอย่างจำนวนวัตต์ที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น
- หลอดไฟ แบบหลอดนีออน 10 วัตต์ – 36 วัตต์ แล้วแต่ขนาดของหลอด
- พัดลมตั้งพื้น 45-75 วัตต์
- เครื่องปรับอากาศ (แอร์)
- 1,000 วัตต์ (ขนาด 12,000 BTU)
- 2,000 วัตต์ (ขนาด 18,000 BTU)
- 2,500 วัตต์ (ขนาด 24,000 BTU)
ที่ได้ยกตัวอย่างมาให้ดู จะเห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละเครื่องไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน ตัวเลขเหล่านี้จะทำให้คุณรู้ทันทีว่าถ้าคุณต้องการที่จะลดค่าไฟลง ตัวที่มีผลมากๆก็จะได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีจำนวนวัตต์มากๆเพราะฉะนั้น หากคุณต้องการลดค่าไฟลง ให้คุณพุ่งเป้าไปที่การลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากๆ ซึ่งได้แก่ แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้าและอบผ้าและอื่นๆ ลองไปสังเกตดูได้เลยครับ
ต่อมาเรามาเริ่ม วิธีลดค่าไฟ กันครับ!
ข้อแรก ปิดเมื่อไม่ใช้ คือ ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อไม่ใช้ ข้อนี้หลายๆคนคงทราบกันอยู่แล้ว แต่บางที่ก็ทำบางทีก็ไม่ทำไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ เช่น อาจลืมเปิดไฟก่อนออกจากบ้าน หรือ ขี้เกียจเดินไปปิดไฟชั้นล่างเพราะพึ่งเดินขึ้นชั้นสามมา บอกแล้วครับว่าข้อแรกเป็นข้อที่ใครๆก็รู้ พูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งถ้าหากคุณต้องการลดค่าไฟ คุณต้องทำข้อนี้ให้ได้ครับ
ข้อที่ 2 พยายามลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลง คุณอาจคิดว่าต้องพยายามลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดซึ่งไม่ใช่ครับ จริงๆถ้าคุณทำได้ก็ดีครับแต่ในความเป็นจริงอาจจะทำยากสักหน่อยที่จะต้องลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะถ้าทำอย่างนั้นชีวิตอาจจะทรมานไปสักหน่อย ไม่เป็นไรครับ
วันนี้ผมนำเทคนิคง่ายๆมาฝากก็ คือ ให้คุณพุ่งเป้าไปที่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากๆแทน เพราะมันจะส่งผลต่อค่าไฟของคุณมากกว่าเมื่อคุณลดการใช้ลง
นี่เป็นเหตุผลที่ต้องรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวไหนบ้างที่ใช้วัตต์สูงๆ การลดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดที่ไม่จำเป็นออกสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่อากาศร้อน แอร์อาจจะเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องใช้ แต่เครื่องทำน้ำอุ่นคุณก็ไม่ต้องเปิด และอาจจะหันมาซักผ้าด้วยมือแทนการใช้เครื่องซักผ้า และตากผ้าแทนการอบผ้า เป็นต้น เพียงแค่2ข้อนี้ก็ทำให้คุณลดค่าไฟลงแถมยังไม่ลำบากมากจนเกินไปด้วยครับ