ช่วงนี้เราน่าจะได้ยินข่าวออกมาบ่อยๆ อยู่ ในเรื่องของโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการให้คนมีบ้านอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้าน คือ หนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ ถ้าคนเรามีบ้านอยู่ก็สามารถสร้างชีวิตสร้างครอบครัวได้ ดังนั้นรัฐบาลของเราจึงออก โครงการบ้านประชารัฐ มาให้ประชาชนได้เข้าร่วมกัน
อ่านเพิ่มเติม : โครงการบ้านประชารัฐ เป็นความหวังของคนตั้งตัวได้หรือไม่
โครงการบ้านประชารัฐนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- ส่วนแรกที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์
ที่จะมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาก่อสร้างและบริหารโครงการให้บนพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะเริ่มสร้างในพื้นที่ 2 เขตก่อน คือ ที่ราชพัสดุบริเวณวัดไผ่ตัน ถนนพหโยธิน และโรงกษาปณ์เก่า ถนนประดิพัทธ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ยูนิต วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยโครงการที่กรมธนารักษ์ทำขึ้นมานี้จะเป็นการให้เช่า ทำสัญญาแบบปีต่อปี สำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่มีรายได้น้อย อัตราค่าเช่าน่าจะไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้สรุปหลักเกณฑ์สำหรับคำว่ารายได้น้อยนี้จะอยู่ที่เท่าไร
- สำหรับส่วนที่สอง คือ ส่วนของกระทรวงการคลัง
ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า โครงการบ้านในฝัน ที่กระทรวงการคลังของความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยในการซื้อบ้านตามโครงการนี้
เรามาดูกันดีกว่าว่าใครมีสิทธิที่จะได้เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐของรัฐบาลกันบ้าง
อันดับแรกเลยก็คือ ต้องการเป็นการซื้อบ้าน เช่าซื้อ หรือสร้างใหม่ด้วยราคาที่ไม่เกิน 1,500,000 บาท จะเป็นการกู้ซื้อบ้านใหม่หรือจะเป็นบ้านมือสอง หรือจะเป็นการปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตัวเองก็ได้ด้วย ที่สำคัญต้องเป็นบ้านหลังแรกเท่านั้น โดยที่ผู้ขอสินเชื่อจะต้องไม่เคยมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านมาก่อน แต่ถ้าใครที่มีบ้านอยู่แล้วก็สามารถที่จะขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือตกแต่งที่อยู่อาศัยได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้เงื่อนไขพิเศษสำหรับโครงการบ้านประชารัฐเหมือนเป็นโครงการลด แลก แจกแถมให้กับประชาชนที่อยากมีบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะไม่จำกัดรายได้ผู้ขอสินเชื่อคนมีเงินเดือนน้อยก็จับจองได้ ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยให้ลดราคาบ้านอีกอย่างน้อย 2% จากราคาขายสุทธิ ทำให้วงเงินขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านลดลง ฟรีค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจำนอง ฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปี ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติและให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี รวมทั้งให้ธนาคารเพิ่มสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ขึ้นเป็น 50% จากเดิม 33% ซึ่งช่วยให้กู้ได้ง่ายขึ้น
อัตราดอกเบี้ยที่โครงการนี้มีให้ก็ถูกแสนถูก ถ้าหากเรากู้ไม่เกิน 700,000 บาท ปีแรกนี้ดอกเบี้ยไม่คิดหรือดอกเบี้ยเท่ากับ 0% นั่นเอง ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ยเท่ากับ 2% ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย 5% และปีที่ 7 ขึ้นไปจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ก็จะเท่ากับ MRR หรือ MLR บวกลบตามประกาศของธนาคารแต่ละที่ แต่ถ้ากู้ตั้งแต่ 700,000-1,500,000 บาท ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ยเท่ากับ 3% ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย 5% และปีที่ 7 ขึ้นไปจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวก็จะเท่ากับ MRR หรือ MLR บวกลบตามประกาศของธนาคารแต่ละที่เหมือนกัน
ทีนี้มาลองดูอัตราการผ่อนในแต่ละเดือนและแต่ละแบบดูบ้างดีกว่า
- หากเรากู้เงินซื้อบ้านราคา 700,000 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยข้างต้น เมื่อคำนวณออกมาแล้วปีที่ 1-3 เราจะต้องผ่อนเดือนละ 3,000 บาท ส่วนปีที่ 4-6 จะต้องผ่อนเดือนละ 4,000 บาท และหลังจากปีที่ 7 เป็นต้นไปซึ่งคิดดอกเบี้ยลอยตัว อาจจะต้องผ่อนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละประมาณ 4,500 บาท
- แต่ถ้าเลือกซื้อบ้านที่มีราคา 1,500,000 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยข้างต้น เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้ว ในปีที่ 1-3 จะต้องผ่อนเดือนละ 7,200 บาท ส่วนปีที่ 4-6 จะต้องผ่อนเดือนละ 8,600 บาท และหลังจากปีที่ 7 เป็นต้นไปซึ่งคิดดอกเบี้ยลอยตัวที่เราจะต้องผ่อนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 9,000 บาท