กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่ง เรียกว่า “เงินสะสม” และนายจ้างจ่ายเงินเข้าไปอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” ทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างต้องมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้าง ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งจัดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ ผ่านทางกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นั่นเอง
ความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ก็เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมอย่างต่อเนื่อง และมีวินัยในการออม นอกจากนี้คุณยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเพิ่มอีกด้วย ทั้งนี้ ทางกองทุนก็มีการบริหารเพิ่มพูนดอกผล แล้วนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุนคนตามสัดส่วนของเงิน ที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุนอีกด้วย
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
- เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นจำนวนเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักจากรายได้ทุกเดือน ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ของกองทุนแต่ละนายจ้าง
- เงินสมทบของนายจ้าง เป็นจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิก ในอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 2% ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 15% ต่อเดือน เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราส่วนที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนแต่ละนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง อาจแตกต่างกันไปตามแต่เงื่อนไข ระยะเวลาการทำงาน หรือระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือตามแต่ตำแหน่ง หรือตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้างนั้น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจ หรือเป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มให้กับลูกจ้างที่ทำงาน ให้อยากทำงานกับนายจ้างในระยะเวลานานขึ้น
เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นสวัสดิการ เพิ่มให้กับลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินออกสำหรับเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว ซึ่งทางนายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับตามอายุการทำงาน อย่างเช่น ลูกจ้างออกจากงาน และมีอายุการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ลูกจ้างจะได้รับเงินส่วนของนายจ้างเพียง 50% ถ้าอยู่จนครบกำหนด 5 ปีขึ้นไป จะได้รับ 100% เป็นต้น ทั้งนี้ก็เป็นเพื่อการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน
เงินออมของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากเงินสะสมและเงินสมทบที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนทุกเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนของกองทุน อย่างไรก็ดี ทางกองทุนจะไม่มีดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้กับสมาชิกเพราะต้องการเก็บเงินก้อนใหญ่ ไว้รอจ่ายคืนให้กับสมาชิกเมื่อสิ้นสุดสภาพของสมาชิกกองทุน อย่างเช่น การลาออกจากงาน การเกษียณอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับสมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของการออมเงิน ไว้ใช้หลังการเกษียณ
จะต้องเสียภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร
การยื่นภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อต้องออกจากงาน คุณสามารถจ่ายแบบแยกยื่นได้เลยค่ะ แต่คุณจะต้องมีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป คุณจึงสามารถเสียภาษี โดยการยื่นรวมได้ตามปกติ โดยการนำจำนวนเงินที่ได้รับจากกองทุนไปรวมคำนวณกับเงินได้ทุกประเภท เพื่อชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี หรือจะไม่นำไปรวมเพื่อคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น คุณก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
สูตรการคำนวนภาษีแบบแยกยื่น
การคำนวณภาษี แบบแยกยื่น มี 2 กรณีด้วยกันคือ ในกรณีอายุการทำงานต่ำกว่า 5 ปี และกรณีอายุการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปว่าต้องคำนวณจำนวนเงินเพื่อเสียภาษีอย่างไร
ในกรณีแรก คือ ระยะเวลาการทำงานของคุณต่ำกว่า 5 ปี เงินส่วนแรก นั่นก็คือ “เงินสะสมของคุณ” ไม่ต้องนำจำนวนเงินส่วนนี้ไปรวมกับรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษี แต่สำหรับเงินส่วนที่ 2 นั่นคือ “เงินสมทบของนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” จำนวนเงินส่วนนี้คุณต้องนำไปรวมกับรายได้ เพื่อคำนวณเสียภาษี
ในกรณีที่ 2 คือ ระยะเวลาการทำงานของคุณมากกว่า 5 ปีขึ้นไป คุณไม่ต้องนำจำนวนเงินสะสมไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเช่นกัน ส่วน “เงินสมทบของนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” คุณสามารถนำจำนวนเงินส่วนนี้ไปหักค่าใช้จ่ายตามปีที่ได้คุณสะสมเงินไว้ คุณจะได้จำนวนเงินเท่ากับ 7,000 บาทต่อปี สำหรับจำนวนเงินที่เหลือ เท่าไรนั้นคุณสามารถนำมาหักออกได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วจึงนำจำนวนเงินที่เหลือไปรวมกับรายได้สุทธิเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้
ยกตัวอย่าง เพื่อให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจน ระหว่าง 2 กรณีว่าคุณจะได้ผลประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร
กำหนดให้คุณ C เป็นสมาชิกกองทุนมา 5 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเป็นจำนวนเงินทั้งสิน 350,000 บาท (แบ่งเงินเป็น เงินสะสม 100,000 บาท เงินสมทบและผลประโยชน์รวมกัน 250,000 บาท) และคุณ D เป็นสมาชิกกองทุนมา 4 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเป็นจำนวนเงินทั้งสิน 250,000 บาท (แบ่งเงินเป็น เงินสะสม 80,000 บาท เงินสมทบและผลประโยชน์รวมกัน 170,000 บาท)
ตารางเปรียบเทียบ
จากข้อมูลในตาราง จะเห็นได้ว่าเพียงคุณรอให้ครบกำหนดระยะเวลาการทำงาน 5 ปีขึ้นไปก่อน นอกจากคุณจะได้รับเงินสะสมเพิ่มแล้ว คุณยังเสียภาษีน้อยลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้ตั้งแต่แรกว่าคุณต้องเอาเงินจากกองทุนเลี้ยงชีพ เข้ามารวมกับรายได้ในปีที่ถอนกองทุนเลี้ยงชีพออก คุณสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มได้อีก อย่างเช่น การทำประกันชีวิต และลงทุนในกองทุน LTF เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีกด้วย ดีกว่าที่คุณสะสมมาเป็นเวลานานแต่ต้องนำมาจ่ายภาษีทั้งหมด
คุณสามารถเข้าไปกรอกใบแนบ ภ.ง.ด.91 หรือ 90 ตามแบบของกรมสรรพากรด้วยระบบออนไลน์ตามด้านล่างนี้เลยค่ะ
เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร : ให้คุณเลือกเงินได้ / ลดหย่อน แล้วเลือกหัวข้อเงินได้ที่นายจ้างจ่ายเพียงครั้งเดียว > ที่นี่ <
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.alife.co.th/web/article.php?catid=23&id=490