มีกระทู้หนึ่ง https://pantip.com/topic/36490223 เป็นกระทู้ที่ไปอ่านเจอเห็นว่ามีประโยชน์เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการประกันสังคมเมื่อต้องออกจากงาน เจ้าของกระทู้ตั้งชื่อไว้ว่า คู่มือการลาออก คนส่วนใหญ่เมื่อถึงเวลาลาออกจากงาน ก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการเรื่องประกันสังคมกันอย่างไร เจ้าของกระทู้เล่าว่าตัวเองทำงานที่ปัจจุบันนี้มาเป็นสิบปีไม่เคยเปลี่ยนงานเลย พอถึงคราวจะต้องลาออกมาทำอะไรเป็นของตัวเอง เราจะจัดการกับเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องประกันสังคมกับภาษีเงินได้
คนทำงานประจำทุกเดือนเมื่อเงินเดือนออกจะต้องถูกหักเงินส่วนหนึ่งจ่ายเป็นเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างก็จะสมทบอีกส่วนหนึ่ง โดยประกันสังคมจะให้สิทธิ์ประโยชน์ในขณะที่เราเป็นผู้ประกันตน 7 กรณีด้วยกัน ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร เสียชีวิต ทุพพลภาพ เงินชราภาพ และว่างงาน การเป็นผู้ประกันตนในลักษณะนี้เป็นการประกันตนตามมาตรา 33 คือมีนายจ้าง
กรณีที่ลาออกจากงานเพื่อเปลี่ยนงานโดยไปเริ่มต้นงานใหม่ทันที เรื่องประกันสังคมก็ไม่มีอะไรต้องจัดการ เพราะนายจ้างเก่าจะแจ้งลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนให้ ส่วนนายจ้างใหม่ก็จะแจ้งชื่อผู้ประกันตนใหม่ สิทธิประกันสังคมก็จะต่อเนื่องไป เป็นสิทธิตามมาตรา 33 แบบมีนายจ้างเหมือนเดิม
แต่กรณีที่ลาออกจากงานแล้วไม่ได้เริ่มต้นงานใหม่ทันที มีช่วงเวลาเว้นว่างอยู่ ก็มีสิ่งที่ต้องจัดการกับประกันสังคมอยู่เหมือนกัน ลองไปฟังสิ่งที่เจ้าของกระทู้ทำกันค่ะ
- ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน การขึ้นทะเบียนคนว่างงานเหมาะกับคนที่ลาออกจากงานแล้วยังไม่ได้เริ่มงานใหม่ทันที เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานจะทำให้ได้รับเงินทดแทนให้ 30% ของเงินเดือน ตามเงินเดือนที่ได้รับจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และได้รับแค่ 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นถ้าขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานและว่างงานนาน 3 เดือน ก็จะได้รับเงินทดแทนการว่างงานเป็นจำนวน 15,000 x 30% x 3 = 13,500 บาท โดยประกันสังคมจะแบ่งจ่ายให้เป็นรายเดือน และมีเงื่อนไขให้ต้องไปรายงานตัวทุกเดือนด้วยว่ายังว่างงานอยู่ โดยให้เลือกสำนักงานจัดหางานสาขาที่ใกล้บ้านสะดวกต่อการเดินทางไปทุกเดือน ปัจจุบันมีเปิดบริการให้รายงานตัวผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปรายงานตัวด้วยตัวเอง การขึ้นทะเบียนคนว่างงานจะต้องทำภายใน 30 วันหลังออกจากงาน หากพ้นจากเวลาดังกล่าว ก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้
- สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 สำหรับผู้ที่ต้องการทำประกันสังคมต่อเนื่อง ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 ได้ โดยส่งเงินสมทบรายเดือน ๆ ละ 432 บาท แต่จะไม่มีเงินสมทบจากนายจ้าง การสมัครเป็นผู้ประกันสังคมตามมาตรา 39 มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อนเท่านั้น และจะต้องสมัครภายใน 30 วันหลังจากออกจากงาน สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมตามมาตรา 39 ก็จะคุ้มครอง 5 กรณี คือเรื่องการรักษาพยาบาลเจ็บป่วย อุบัติเหตุ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เสียชีวิต ทุพพลภาพ และเงินชราภาพ
นี่คือสิ่งที่เจ้าของกระทู้มาแชร์ให้ฟังว่าตัวเองได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มาก บางคนลาออกแล้วไม่รู้หรอกว่าจะต้องจัดการเรื่องประกันสังคมอย่างไร ตอนนี้อย่างน้อยก็รู้แล้วว่ามีเรื่องของเงินทดแทนการว่างงาน และการประกันตนเองตามมาตรา 39 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามมีหลายความเห็นเข้ามาให้คำแนะนำในเรื่องของการประกันตนเองแบบสมัครใจตามมาตรา 39 ว่าต้องตัดสินใจให้ดี ถ้าลาออกตั้งแต่อายุยังน้อย ยังมีโอกาสได้ใช้สิทธิ์อีกมาก เช่น สิทธิ์คลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร หรือคนที่หวังใช้สิทธิ์เรื่องของการรักษาพยาบาลและอุบัติเหตุ สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ก็เหมาะสม แต่ถ้าอายุมากแล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็เกษียณแบบนี้ไม่ควรสมัครประกันตนตามมาตรา 39 ถ้าเจ็บป่วยก็ให้ใช้บัตรทองเอา เหตุผลเพราะอะไรนั้น เราไปฟังกันค่ะ
หลายคนที่ลาออกจากงานแล้วเกิดความเสียดายในประกันสังคมที่ส่งไปนานหลายสิบปี ทำให้อยากส่งต่อเพื่อรักษาสิทธิ์ที่มีไว้ โดยเฉพาะเงินชราภาพเมื่อถึงอายุ 55 ปี ที่ต้องมาดูเงื่อนไขว่าส่งเงินสมทบครบ 15 ปีหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็รับเป็นเงินก้อนเป็นบำเหน็จ แต่ถ้าส่งครบ 15 ปี ก็จะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไปจนตลอดชีวิต
ส่วนของเงินบำนาญรายเดือนนี้เองที่จะแตกต่างกันระหว่างการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 เพราะเงินบำนาญที่จะได้รับจะคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยย้อนหลัง 60 เดือนล่าสุดของการทำงาน ถ้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ฐานเงินเดือนสูงสุดคือ 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันมาตรา 39 นั้น ฐานเงินเดือนที่คิดจะอยู่ที่ 4,800 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ประกันตนเองตามมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนน้อยกว่ามาก
ยกตัวอย่างถ้าส่งเงินสมทบครบ 15 ปีพอดี มาตรา 33 จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนที่ 3,000 บาท แต่ถ้าเป็นมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนที่ 960 บาทเท่านั้น ต่างกันเยอะทีเดียว ดังนั้นก่อนตัดสินใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องตัดสินใจให้ดี เพราะถึงแม้ไม่สมัครเป็นผู้ประกันตนต่อ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเงินส่วนชราภาพที่สะสมไว้ในช่วงที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะหายไปไหน เมื่อถึงอายุ 55 ปี ก็จะได้คืนตามเงื่อนไขว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนกัน เพียงแต่ระหว่างที่เราไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตราใดแล้ว เราจะไม่มีสิทธิ์รักษาพยาบาล อุบัติเหตุ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานเพื่อรับเงินทดแทนการว่างงาน และการส่งประกันสังคมต่อในมาตรา 39 ต้องตัดสินใจให้ดี และจะต้องจัดการภายใน 30 วันหลังจากลาออกจากงานเท่านั้น ถ้าเลยกำหนดจากนี้ก็จะถือว่าหมดสิทธิ์ไป แต่เหมือนจะได้ข่าวมาเรื่องเงื่อนไขที่ต้องแจ้งสมัครประกันสังคมตามมาตรา 39 ภายใน 30 วันหลังออกจากงาน ประกันสังคมกำลังทบทวนเงื่อนไขนี้ว่าจะเปลี่ยนเป็นไม่มีกำหนดเวลา สามารถสมัครเมื่อไหร่ก็ได้ เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปว่าจะมีการประกาศออกมาเมื่อไหร่
อ่านเพิ่มเติม : 5 สัญญาณลาออกที่บ่งบอกว่าคุณควรพิจารณาและหางานใหม่ซะ