การควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เดียวในการบริหารเงินแต่ละเดือน เพราะหากเราไม่ได้วางแนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าล่ะก็ อาจจะทำให้เงินในกระเป๋าของเราหมดโดยไม่รู้ตัวก็ได้ วันนี้เรามาดูกันว่า ค่าใช้จ่ายช่วงหน้าฝนมีอะไรบ้าง แล้วเราจะมีแนวทางการรับมือค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอย่างไร เชื่อว่า ค่าใช้จ่ายทั้งเจ็ดเรื่องที่เราคัดมานั้น เพื่อนๆต้องเจออย่างน้อยก็สามเรื่องแหละนา
แนวทางการรับมือ ค่าเทอม
ค่าใช้จ่ายเรื่องแรก ที่เชื่อว่าต้องเจอกันอย่างแน่นอนก็คือ ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะค่าเทอมนี่แหละถือว่าเป็น ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ประจำหน้าฝนนี่เลย ยิ่งหากใครมีลูกหรือหลาน เข้าไปเรียนที่ใหม่ หรือ เริ่มเข้าโรงเรียนนี่บอกได้เลยว่า เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว สำหรับแนวทางการรับมือเรื่องนี้ ก็คือ พ่อกับแม่ควรจะเตรียมสะสมเงินก้อนนี้อย่างเนิ่นๆ (อย่างน้อยก็ต้องสามเดือนขึ้นไป) นอกจากนั้นพ่อกับแม่ควรจะหาข้อมูลค่าใช้จ่ายกับทางโรงเรียนล่วงหน้าเสียก่อน ว่าต้องจ่ายเงินเท่าไร สามารถเบิกได้เท่าไร หรือมีส่วนลดตรงไหนได้บ้างจะช่วยให้การจ่ายค่าเทอมไม่หนักมากเกินไป
แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดภาคเรียน
แต่ไม่ใช่จ่ายค่าเทอมอย่างเดียวแล้วจบ การเปิดภาคเรียนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องตามมาอย่างน้อยก็หนึ่งเดือนต่อจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ และค่าอื่นๆอีกจิปาถะ ตามระดับการศึกษา และสถาบันที่เราส่งลูกหลานเข้าไปเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางครั้งก็อาจจะไม่มาก แต่บางครั้งก็มากจนเราตกใจ แนวทางการรับมือเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเป็นเรื่องของอุปกรณ์การเรียนเบื้องต้น พวกดินสอ ยางลบ ปากกา หรืออื่น ของอย่างนี้แนะนำว่าถ้าเป็นเด็กเล็กๆซื้อเป็นโหลคุ้มกว่า(เพราะหายบ่อย) แล้วพ่อแม่ควรกำชับเรื่องการรักษาอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยเป็นการฝึกไปในตัว แต่หากเป็นเด็กโต(มัธยมขึ้นไป) อาจจะต้องให้เป็นวงเงินแทน เพราะการซื้อให้อาจจะไม่ถูกใจเท่าไรนัก
แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายจากอาการเจ็บป่วย
ช่วงฤดูฝนอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ชอบเลยก็คือ เรื่องของฟ้าฝนที่อาจจะไม่เป็นใจให้กับเราเสียเลย ทำให้บางครั้งเราอาจจะต้องโดนฝนบ้าง แล้วสิ่งที่ตามมานั่นก็คือ เรื่องของอาการเจ็บป่วย ซึ่งแน่นอนว่าเจ็บป่วยทีก็ต้องเสียเงินในการรักษาอาการเจ็บป่วยอีก ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็ตาม แนวทางการรับมือในเรื่องนี้ก็คือ หนึ่งควรพกอุปกรณ์กันฝนติดตัวเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นชุดกันฝนหรือร่ม สองหากรู้สึกว่าป่วยให้ทานยาและพักทันที(อย่าประมาท) สามทานผักผลไม้ หรือ อาหารเสริมด้วย สี่ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และห้าพักผ่อนให้เพียงพอ
แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุ
นอกจาเรื่องของการเจ็บป่วยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราพบเห็นได้เป็นประจำบนท้องถนนเวลาฝนตกก็คือ เรื่องของอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือ อุบัติเหตุอื่นที่เกิดจากการลื่น ซึ่งแน่นอนว่าหากเราประสบอุบัติเหตุแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกาย และเงินทองในการรักษาตัว แนวทางการรับมือในเรื่องนี้ อย่างแรกเลยก็คือ เวลาทำอะไรก็ตามต้องมีสติไว้ก่อน โดยเฉพาะการขับรถ นอกจากนั้นทางที่ดีควรจะมีการซื้อประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุไว้ด้วย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เงินจากการซื้อประกันภัยจะช่วยบรรเทาได้ดีทีเดียว
แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง
วลีหนึ่งที่เรามักจะได้ยินเสมอในหน้าฝนนี่คือ “ฝนตกรถติด” ซึ่งมันก็เป็นจริงอย่างนั้น และจะเป็นตลอดไป ทำให้บางครั้งการเดินทางของเราในแต่ละวันนั้นอาจจะไม่เหมือนเดิม บางครั้งเราอาจจะต้องเปลี่ยนการเดินทางกระทันหัน เพื่อประหยัดเวลา หรืออาจจะเป็นเหตุสุดวิสัยก็เป็นได้ อย่างเช่น บนท้องถนนเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น แนวทางในการรับมือในเรื่องนี้ หากเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ แนะนำว่าควรเดินทางด้วยระบบรางอย่าง BTS หรือ MRT จะดีกว่าซื้อตั๋วเดือนไปเลย คุ้มกว่าเห็นๆ แต่ถ้าใครจะต้องนั่งรถเมล์เป็นหลัก ก็ต้องวางแผนสำรองไว้ด้วยก็ดี
แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายเรื่องยานพาหนะ
ค่าใช้จ่ายเรื่องต่อไปที่ใกล้ตัวมากนั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ หรือแม้แต่รถมอเตอร์ไซค์ เข้าหน้าฝนอย่างนี้ ถ้าไม่อยากเสียเงินกับเรื่องรถมากจนเกินไป เราขอแนะนำว่า ควรหมั่นเช็ครถเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยางรถยนต์ ถ้าดอกยางสึกแล้วก็เปลี่ยนเพราะถนนลื่น หรือหากใครต้องขับรถลุยน้ำ อันนี้ก็ต้องเช็คด้วยว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องตรงไหนหรือไม่ เพราะหากไม่เช็ครถเป็นประจำ เกิดรถเสียขึ้นมาทีนี่บอกได้เลยว่า เสียเงินก้อนใหญ่แน่นอน หรือใครที่ดูรถไม่ค่อยถนัด ก็เอาเข้าศูนย์ตามระยะเวลาก็ได้สบายใจดี
แนวทางการรับมือ ค่าภาษีสังคม ครอบครัว
ค่าใช้จ่ายสุดท้าย จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายซะทีเดียวนะ แต่เราก็ต้องมีการวางแผนเหมือนกัน นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านภาษีสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานแต่ง งานบุญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญมากกว่า เรื่องอย่างนี้ก็พูดยากจะไม่ใส่ก็ดูไม่ดี แต่จะใส่มากจนเราไม่พอใช้ก็จะกลายเป็นไม่ได้บุญไป เราขอแนะแนวทางดังนี้ หากเป็นงานแต่งก็ใส่ตามระดับความสนิท ส่วนถ้าเป็นงานบุญก็เลือกตามระดับความศรัทธา(20,50 100 ก็ว่าไป) เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าการทำบุญไม่ได้อยู่ที่จำนวนแต่อยู่ที่ความตั้งใจเป็นหลัก จะช่วยให้การใส่ซองทำบุญของเรา เป็นไปด้วยจิตบริสุทธิ์ ไม่เครียด
อ่านเพิ่มเติม : ภาษีสังคม เลี่ยงไม่ได้แต่ลดได้