การสัมภาษณ์งาน นับเป็นวิธีการหนึ่งที่นายจ้างหรือบริษัทต่าง ๆ ใช้ในการคัดเลือกพนักงานหรือผู้ร่วมงานให้เข้าไปในองค์กร นอกเหนือจากการดูประวัติหรือโปรไฟล์ต่าง ๆ ที่ผู้สมัครยื่นให้บริษัท รูปแบบและวิธีในการสัมภาษณ์งานของแต่ละบริษัทก็แตกต่างกันไป ซึ่งผู้สมัครงานจะต้องเตรียมตัวเพื่อให้มีความพร้อมในการสัมภาษณ์งานให้มากที่สุด ไม่มีใครรู้คำถามล่วงหน้าที่จะถูกสัมภาษณ์ หรือบางบริษัทนอกเหนือจากการสัมภาษณ์ด้วยวาจาแล้ว ก็อาจมีการทำแบบทดสอบอื่น ๆ ด้วย
ดังนั้น ผู้สมัครงานจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าไปสัมภาษณ์งาน เพราะการสัมภาษณ์งานที่ดีย่อมช่วยให้ผู้สมัครงานสามารถสมหวังในงานหรือบริษัทที่คาดหวังไว้ได้ โดยวิธีการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมกับการสัมภาษณ์งานมีดังนี้
- เมื่อสมัครงานและได้รับนัดหมายให้เข้าพบเพื่อทำการสัมภาษณ์งานนั้น ผู้สมัครงานควรสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ชัดเจน ได้แก่ วันและเวลาในการเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ ผู้สมัครบางคนตื่นเต้นและตกปากรับคำกับนัดสัมภาษณ์โดยไม่ดูกำหนดการให้ดี ทำให้ต้องขอแจ้งเลื่อนนัดภายหลังซึ่งนับเป็นการกระทำที่ตัดคะแนนของตนเองอย่างน่าเสียดาย การกำหนดนัดสัมภาษณ์ผู้สมัครงานสามารถกำหนดและต่อรองกับผู้นัดหมายได้ เพื่อให้ได้วันและเวลาที่เหมาะสมกับทั้ง 2 ฝ่าย และควรสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น สถานที่นัดพบ เพราะบางบริษัทอาจมีหลายอาคารหลายห้อง และรวมถึงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เราต้องนำไปใช้ในการสอบสัมภาษณ์ด้วย
- ก่อนถึงนัดสัมภาษณ์ ผู้สมัครงานควรศึกษาข้อมูลของบริษัท เช่น สินค้าและบริการของบริษัทที่เราสมัครงาน ประวัติความเป็นมาคร่าว ๆ ของบริษัท รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่เราสมัครเอาไว้ โดยในยุคดิจิตอลนี้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต การที่เรารู้ข้อมูลของบริษัทที่เราสมัครงาน ย่อมแสดงถึงความใส่ใจที่เรามีต่อบริษัทที่เราสมัครงาน และผู้สัมภาษณ์มักใช้แทรกอยู่ในคำถามระหว่างการสัมภาษณ์งาน เช่น คุณคาดหวังอะไรจากบริษัทของเรา เป็นต้น การเตรียมข้อมูลล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้สมัครงานมีความพร้อมในการถูกสัมภาษณ์มากยิ่งขึ้น
- การเตรียมคำถามที่อาจถูกสัมภาษณ์ เช่น จุดอ่อนหรือจุดแข็งของผู้สมัครงานคืออะไร เหตุผลที่สนใจสมัครงานในตำแหน่งนี้คืออะไร เป็นต้น รวมถึงข้อมูลที่เราต้องการใช้ในการนำเสนอตนเอง ซึ่งควรเป็นข้อมูลที่นอกเหนือจากเรซูเม่ที่เราส่งให้กับบริษัท เช่น ความสามารถพิเศษของผู้สมัครงาน หรืออุปนิสัยของผู้สมัครงาน เช่น เข้ากับผู้อื่นง่าย มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้สมัครงานควรเตรียมข้อมูลที่เราอยากจะถามบริษัทหรือผู้สัมภาษณ์ไว้ด้วย เช่น การทำงานในตำแหน่งนี้ต้องเดินทางหรืออกต่างจังหวัดบ่อยไหม หรือโอกาสในการเจริญก้วหน้าในบริษัทนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น เพราะโดยมากการสัมภาษณ์งานมักจบที่คำถามว่าคุณมีอะไรจะถามเราไหม ดังนั้น การเตรียมคำถามในส่วนนี้ล่วงหน้าก็จะช่วยเมความพร้อมให้กับผู้สมัครงานมากยิ่งขึ้น
- เตรียมศึกษาเส้นทางในการเดินทางไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่แล้วผู้สมัครงานจะไม่เคยเดินทางไปที่บริษัทที่สมัครงานมาก่อน จึงควรศึกษาเส้นทางไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเดินทางได้ตรงตามกำหนดนัดหมาย และเนื่องจากเป็นการเดินทางไปครั้งแรก ควรเผื่อเวลาสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การจราจรติดขัด หรือการตกรถ เป็นต้น และควรกะเวลาให้ไปถึงก่อนเวลานัดอย่างน้อย 15 นาที เผื่อเป็นเวลาสำหรับลงรายละเอียดเอกสารระหว่างรอการสัมภาษณ์
- การแต่งกาย ผู้สมัครงานโดยเฉพาะนักศึกษาที่จบการศึกษามาใหม่ ๆ มักกังวลกับการแต่งตัวเพื่อสัมภาษณ์งานกันมาก เพราะกำหนดไม่ถูกว่าแบบไหนกำลังพอดี แบบไหนมากไปหรือน้อยไป เพราะการแต่งกายถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สมัครงานต้องให้ความใส่ใจ เป็นภาพลักษณ์แรกที่ผู้สัมภาษณ์จะใช้สำรวจตรวจสอบผู้สมัครงาน ดังนั้น ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สุภาพ เสื้อผ้าควรเป็นสีทึบหรือสีเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายฉูดฉาด เสื้อผ้าเรียบและสะอาด ผมควรหวีให้เรียบร้อยหรือหากผมยาวควรมัดรวบให้เรียบร้อย สำหรับผู้หญิงไม่ควรแต่งหน้าฉูดฉาดเกินไป ควรแต่งแบบเรียบ ๆ และสุภาพ แต่ก็อาจยกเว้นในบางตำแหน่งงาน เช่น งานขาย งาน PR ซึ่งเป็นงานที่ต้องพรีเซ้นท์ตัวเองให้โดดเด่น การแต่งกายเรียบ ๆ สุภาพอาจไม่ใช้วิธีที่เหมาะกับผู้สมัครงานในตำแหน่งลักษณะงานแบบนี้
- การเตรียมตัวก่อนวันสัมภาษณ์ ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่าเครียดหรือกดดันตัวเองจนเกินไป เพราะความเครียดจะยิ่งเพิ่มความผิดพลาดได้ง่าย ตรวจสอบกลิ่นกายหรือกลิ่นปากควรหอมสะอาด อาจเตรียมคำถามคำตอบสำหรับการสัมภาษณ์คราว ๆ ไว้ ฝึกการแนะนำตัวง่าย ๆ สั้น ๆ ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรก และผู้สมัครงานรู้สึกตื่นเต้นมาก อาจขอให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวช่วยจำลองเหตุการณ์ในการสอบสัมภาษณ์ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับการสัมภาษณ์งาน ฝึกการวางตัวและการใช้คำสุภาพ รวมถึงกิริยามารยาทต่าง ๆ เช่น การเคาะประตูก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ การไหว้หรือทักทายผู้สัมภาษณ์
- การเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนวันสัมภาษณ์ รูปถ่ายสำหรับการสมัครงาน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งปากกา น้ำยาลบคำผิด หรืออุปกรณ์เย็บกระดาษ เป็นต้น รูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครงานไม่ควรเป็นรูปที่ถ่ายไว้นานเกินไป และควรลงชื่อไว้หลังรูป เพื่อป้องกันกรณีรูปหลุดออกจากใบสมัคร ทางบริษัทจะได้ทราบว่าเป็นรูปของผู้สมัครคนใด