ทำไมต้องยื่นภาษี แม้รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี
ภาษี ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่นักศึกษาจบใหม่ และมนุษย์เงินเดือนทุกคนควรรู้ หลายคนมักเข้าใจว่าหากรายได้น้อย หรือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด ทุกคนที่มีรายได้จำเป็นต้องยื่นภาษี ในวันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ทำไมต้องยื่นภาษี แม้รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วสรรพากรรู้รายได้เราได้อย่างไร?
-
เพื่อรักษาสิทธิในการขอคืนภาษี
หากมีรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือค่าจ้างบางส่วน) การยื่นภาษีจะช่วยให้สามารถขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ได้ หากไม่ได้ทำเรื่องยื่นภาษี ก็จะเสียสิทธิ์รับเงินคืนดังกล่าว
-
สร้างประวัติทางการเงินที่ดี
การยื่นภาษีเป็นหลักฐานทางการเงินที่สำคัญ หากต้องการยื่นกู้ธนาคาร ขอสินเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะบ้าน รถยนต์ หรือบัตรเครดิต การมีประวัติการยื่นภาษีที่สม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติ
-
เตรียมพร้อมสำหรับสิทธิประโยชน์ในอนาคต
บางกรณี รัฐบาลอาจมีมาตรการช่วยเหลือ หรือสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ที่ยื่นภาษี เช่น การลดหย่อนค่าครองชีพ หรือการคืนเงินช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ หากไม่เคยยื่นภาษีอาจพลาดสิทธิ์เหล่านี้ได้
-
ลดความยุ่งยากในอนาคต
การยื่นภาษีทุกปีช่วยให้มีข้อมูลการเงินที่เป็นระบบ หากมีการตรวจสอบย้อนหลังจะสามารถอ้างอิงข้อมูลได้ง่าย และลดความเสี่ยงในการโดนเรียกตรวจสอบจากกรมสรรพากร รวมถึงค่าปรับที่อาจตามมาในอนาคต
-
ป้องกันข้อสงสัยจากกรมสรรพากร
แม้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่หากมีการเดินบัญชี หรือการใช้เงินที่สูง อาจเข้าข่ายน่าสงสัย การยื่นภาษีจะช่วยชี้แจงรายได้ และสถานะการเงินได้อย่างชัดเจน
-
เพื่อฝึกวินัยทางการเงิน
การยื่นภาษีเป็นโอกาสที่ดีในการตรวจสอบรายได้ และค่าใช้จ่ายของตัวเองในแต่ละปี ช่วยให้เห็นภาพรวมทางการเงินที่ชัดเจน และสามารถวางแผนการเงินในปีถัดไปได้ดีขึ้น
สรรพากร รู้รายได้เราได้ยังไง?
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าในเมื่อเราไม่ได้ยิ่นภาษี แต่วันดีคืนดีทางสรรพากรก็ตรวจสอบย้อนหลังได้ ไปสู่การจ่ายค่าปรับต่าง ๆ ที่จริงแล้ว สรรพากร รู้รายได้เราได้ยังไง
- การรายงานจากนายจ้าง: นายจ้างจะต้องส่งข้อมูลรายได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายของพนักงานให้กรมสรรพากร
- ข้อมูลจากธนาคาร: การทำธุรกรรมทางการเงิน ระบบ e-payment หรือการได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารจะรายงานข้อมูลนี้ให้กับกรมสรรพากร
- ข้อมูลจากบุคคลที่จ่ายค่าบริการ: หากมีการรับค่าจ้างหรือค่าบริการจากบริษัทต่าง ๆ บริษัทเหล่านี้จะต้องรายงานการจ่ายเงินให้กับกรมสรรพากร
- ระบบ Big Data: สรรพากรจะนำระบบ Big Data และ Data Analytics ในการคัดกรองผู้ประกอบการออกเป็น กลุ่มที่ประวัติดี และกลุ่มใดเสี่ยงต่อการเลี่ยงภาษี
- สุ่มตรวจ: ทางสรรพากรจะมีการสุ่มตรวจจากหน้าเว็บ และ social media ต่าง ๆ เช่น Facebook ที่มีการโพสต์เงินเข้า
- ดึงข้อมูลจากเว็บ: สรรพากรสามารถดึงข้อมูลจากเว็บต่าง ๆ หรือ Web Scraping สำหรับตรวจสอบการซื้อขายออนไลน์ ตามเว็บ e-commerce ต่าง ๆ เช่น shopee และ lazada
แม้ว่าการยื่นภาษีจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เราก็ต้องรีบทำความเข้าใจไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเป็นการแสดงรายได้ที่ถูกต้อง พร้อมสร้างประวัติทางการเงินที่ดี อีกทั้งยังมีสิทธิ์ขอเงินคืนภาษีที่ถูกหักไปได้อีก ดังนั้นไม่ว่าจะมีรายได้มาก หรือน้อยก็ต้องยื่นภาษีในทุกปี