ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อซื้อรถยนต์ ต้องหาเงินตัวเป็นเกลียวเพื่อจ่ายหนี้สินต่าง ๆ ให้ทัน แต่ถ้าบังเอิญมีเรื่องให้ต้องใช้จ่ายเงินอย่างไม่คาดฝัน ธุรกิจขาดทุน หรือปัญหาอื่น ๆ ทำให้แผนการชำระคืนหนี้อาจสะดุด เจอทางตัน ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา ควรจะหาทางออกอย่างไร
การ โอนหนี้สินเชื่อ เพื่อรับโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำกว่าในช่วงปีแรก หรือมีเงื่อนไขที่ตรงใจมากกว่า อาจเป็นทางออกช่วยให้รอดตัวไปในระยะสั้น เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ประหยัดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระรายจ่ายลงได้บางส่วน ประกอบกับการวางแผนดีและมีวินัยชำระคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดประโยชน์ในระยะยาว
การ โอนหนี้สินเชื่อ หรือรีไฟแนนซ์เป็นการยืดหนี้ออกไป และรับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหนี้เก่า เพื่อให้จ่ายค่าผ่อนหนี้น้อยลงในแต่ละงวด แต่อย่าลืมว่าจะต้องเป็นหนี้นานขึ้น จาก 20 เดือนเป็น 42 เดือน หรือมากกว่า ทำให้ดอกเบี้ยทบต้นนานขึ้น จึงควรโอนหนี้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
ในกรณีของการโอนสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นเงินกู้ยืมก้อนใหญ่ และดอกเบี้ยก็มีรายละเอียดสำคัญ ธนาคารคิดดอกเบี้ยโดยนำเงินต้นที่เหลืออยู่มาคำนวนดอกเบี้ย ยิ่งเงินต้นเหลือมากเท่าไร ดอกเบี้ยในการคำนวนงวดต่อไปจะสูงขึ้นเท่านั้น การโอนหนี้สินเชื่อบ้านซึ่งจะยืดเวลาผ่อนออกไปอีก จึงต้องคิดให้รอบคอบ ผู้ขอโอนหนี้สินเชื่อควรหาข้อมูลและทำความเข้าใจกับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี ก่อนตัดสินใจว่าจะรีไฟแนนซ์ดีหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาว่าจะขอโอนสินเชื่อไปยังสถาบันการเงินใดจึงจะดีที่สุด
สถาบันการเงินหลายแห่งรับโอนหนี้สินเชื่อบ้านของลูกค้าจากสถาบันการเงินอื่น โดยมีวงเงินสินเชื่อขั้นต่ำ 1,000,000 บาทขึ้นไป มีหลักประกันเป็นประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และห้องชุดพักอาศัย จะให้วงเงินสูงสุด 95% ของราคาประเมิน ส่วนหลักประกันประเภทอาคารพาณิชย์จะให้วงเงินสูงสุด 90% ของราคาประเมิน
ทั้งนี้ ผู้ขอรีไฟแนนซ์ หรือไถ่ถอนจำนองมาจากสถาบันการเงินอื่นกู้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายตามประกาศของธนาคาร ระยะเวลาการกู้แตกต่างกัน อาจกู้ได้นานสูงสุด 30 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 65 ปี ผู้กู้ร่วมได้สูงสุด 3 คน โดยผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์เป็นสามี ภรรยา พี่น้องท้องเดียวกัน หรือบิดามารดากู้ เป็นต้น
สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นประเภทเงินก้อนที่ให้วงเงินสูงกว่าสินเชื่อบัตรกดเงินสด เพราะมีระยะเวลาชำระคืนเป็นงวดที่แน่นอน และธนาคารหรือสถาบันการเงินได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่โอนเงินเข้าบัญชีลูกค้า ผู้กู้จึงมีหนี้ก้อนใหญ่ไม่ต่างจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้บริการโอนสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนี้
ซีไอเอ็มบี
ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ขอโอนหนี้ที่มีรายได้ประจำอย่างน้อย 15,000 บาท/เดือน รับวงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ หรือสูงสุด 1,500,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก 16%-27% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้นานสูงสุด 84 เดือน มีค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียม 0.5% ของจำนวนเงินกู้ หรือสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท มีค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินสินเชือ หรือสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์
ให้บริการโอนหนี้สินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต โดยผู้ขอกู้ต้องมีรายได้ประจำอย่างน้อย 10,000 บาท/เดือน สามารถโอนยอดคงค้างรวมกันได้สูงสุด 5 สถาบันการเงิน โดยมียอดโอนรวมขั้นต่ำ 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 16.99%-25% ระยะชำระโอนหนี้สินเชื่อ 24-60 เดือน ไม่มีค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียม
ซิตี้แอดวานซ์
มีบริการโอนหนี้สินเชื่อบุคคล รับโอนหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตได้มากกว่า 3 สถาบันการเงิน ให้วงเงินอนุมัติสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของรายได้หรือไม่เกิน 750,000 บาท ผู้ขอกู้ต้องมีรายได้ประจำอย่างน้อย 20,000 บาท/เดือน อัตราดอกเบี้ย 18%-28% ระยะชำระโอนหนี้สินเชื่อสูงสุด 60 เดือน ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินสินเชื่อ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ หรือผู้ค้ำประกัน ค่าใช้จ่ายในการชำระเงิน 5 – 35 บาทต่อครั้งขึ้นอยู่ กับผู้ให้บริการ ค่าใช้จ่ายในการติดตาม ทวงถามหนี้ 200 บาทต่องวด สามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายข้อมูลเครดิต 12 บาท
เอกสารประกอบการสมัครโอนหนี้สินเชื่อ
- กรณีที่ผู้ขอโอนหนี้เป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หนังสือรับรองเงินเดือน หรือใบสำคัญแสดงการจ่ายเงินเดือนล่าสุด สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่มีบัญชีย้อนหลัง 3 เดือนที่แสดงรายงานเงินเดือนเข้า สำเนาทะเบียนบ้านในกรณีที่ใช้สำเนาบัตรข้างราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ใบแจ้งยอดหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ (ฉบับตัวจริง ไม่เกิน 2 เดือน)
- กรณีที่ผู้ขอโอนหนี้เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคล หรือทะเบียนการค้า หรือใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ถ้ามี) สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่มีบัญชีอยู่
หากมีปัญหาแบกภาระหนี้สูง ดอกเบี้ยแพง ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตรงเวลา หรือผ่อนไม่ไหว อาจไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าการขอความช่วยเหลือจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพื่อโอนหนี้สินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิม ช่วยให้มีการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเจ้าหนี้รายใหม่ มีดังนี้
- คำนวณภาระหนี้ที่ต้องจ่ายรวมกัน อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเงื่อนไขการชำระคืนหนี้ ทั้งจำนวนงวดและจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด
- สถาบันการเงินอาจมีเงื่อนไขหลายแบบให้เลือก ต้องสองถามข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน แล้วเปรียบเทียบข้อมูลของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง พิจารณาร่วมกับสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางในอนาคต
- สิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงขาขึ้น หรือขาลง ในกรณีของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ถ้าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินความจำเป็น
- พิจารณาว่าเงินที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงมากกว่าค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์หรือไม่ เช่น ค่าใช้จ่ายการประเมินมูลค่าบ้าน ค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาค่าจดจำนอง ซึ่งเกิดจากการต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาสินเชื่อใหม่ทั้งหมด และอาจต้องจ่ายค่าปรับให้เจ้าหนี้เก่าในกรณีที่ยุติการกู้ก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้
ก่อนตัดสินใจเลือกบริการ โอนหนี้สินเชื่อ ควรคำนวณให้ดีก่อนว่าคุ้มหรือไม่ เลือกเงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการและความสามารถในการชำระคืนหนี้ให้มากที่สุด