ลงทะเบียน แก้หนี้ มาตรการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทย
ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยในยุคปัจจุบันหากลงลึกจริง ๆ ก็ต้องพูดถึงปัญหาหนี้สินในครัวเรือน ช่วงนี้เศรษฐกิจอาจฟื้นฟูขึ้นจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ผลกระทบยังคงอยู่สำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่มีหนี้สินก้อนใหญ่อย่างสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถ ถึงขั้นที่มีการประกาศขายบนสื่อ Social media ต่าง ๆ ทั้งบ้าน และรถ ให้คนไปผ่อนต่อกันแบบฟรี ๆ ด้วยซ้ำไป ซึ่งล่าสุดนี้ทางรัฐบาลได้ประกาศช่วยแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเปิดให้ลงทะเบียน แก้หนี้ มาตรการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทย โดยโครงการดังกล่าวคืออะไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
ลงทะเบียน แก้หนี้ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้จากวิกฤตทางการเงิน
ตอนนี้เรามีรัฐบาลใหม่ที่พร้อมจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องการจะแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง โดยมีการเปิดให้ลงทะเบียน แก้หนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป มีการดึงธนาคารออมสินเข้ามาปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนเงินกว่ารายละ 50,000 บาท รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมอบสินเชื่อวงเงินสูงสุดกว่า 2.5 ล้านบาท
ก่อนที่เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโครงการแก้หนี้ เราขอพาทุกคนมาเจาะลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับหนี้สินในครัวเรือนไทยกันก่อน ในการแถลงวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาหนี้สินนอกระบบว่าเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมมาอย่างยาวนาน และถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยในสังคม ถึงเวลาที่จะต้องจริงจังกับเรื่องนี้และช่วยกันแก้ปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ฟื้นฟูความเป็นอยู่ สร้างความหวัง ดึงศักดิ์ศรีกลับคืนมา และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชน
ปัญหาหนี้สินนอกระบบนั้นถือว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมที่จะตามมาอีกหลายด้าน รัฐบาลมีการประเมินหนี้สินของครัวเรือนไทยที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบเป็นมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินค่อนข้างต่ำ และเชื่อว่าปัญหาจริงน่าจะมีตัวเลขที่สูงกว่านั้น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศต้องประสบกับปัญหาเปราะบางทางหนี้สินที่ไม่มีวันหมด ทำให้เกิดปัญหาเป็นโดมิโนที่ส่งผลกระทบถึงกันทุกภาคส่วน
รัฐบาลจึงตั้งใจบูรณาการแต่ละฝ่ายเข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการยกเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งตำรวจ กระทรวงการคลัง และฝ่ายปกครอง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย คอยดูแลทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม เริ่มต้นดูแลตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการจนกว่าจะสามารถปิดหนี้ได้สำเร็จ
เปิดรายชื่อธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้
กระทรวงการคลังเป็นผู้รับหน้าที่ในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน ทางธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนผู้ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้สินเชื่อรายละ 50,000 บาท เป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายละไม่เกิน 100,000 บาท เป็นระยะเวลายาวนาน 8 ปี ดอกเบี้ยคำนวณตามความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้
และยังมีธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตรที่จะเข้ามาช่วยเหลือ และดูแลพี่น้องเกษตรกร ผู้นำเอาที่ดินทำกินไปขายฝาก หรือนำเอาไปจำนอง โดยจะไกล่เกลี่ย พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างปัญหาหนี้นอกระบบ และมอบสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้รายละสูงสุดกว่า 2.5 ล้านบาท
ระยะเวลาในการลงทะเบียน
การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบต้องอาศัยความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานเพื่อช่วยกันไกล่เกลี่ย และประนีประนอมถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และยังมีการปราบปรามผู้กระทำความผิดอีกด้วย สำหรับใครที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ เจอสัญญาหนี้ไม่เป็นธรรม สามารถลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมในศาลากลางทุกจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกที่ สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปลงทะเบียนกับสำนักการเขตได้ทุกแห่ง
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบไปด้วย
- ช่วงเปิดรับลงทะเบียน สำหรับลูกหนี้นอกระบบสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
- ช่วงรวบรวมข้อมูล หน่วยงานจะทำการรวบรวมข้อมูลของลูกหนี้ โดยมีการแยกประเภทให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปี 2561
- ช่วงให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะได้รับความช่วยเหลือในการจัดการปัญหาหนี้สินในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคมปี 2561
- ช่วงประเมินผล หลังจากการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หน่วยงานจะต้องร่วมมือกันประเมินผลดำเนินงานตามนโยบายภายในเดือนกันยายนปี 2567
หนี้สินเชื่อบ้าน/รถ ปัญหาใหญ่ไม่แพ้หนี้นอกระบบ
ปัญหาหนี้นอกระบบอาจดูเป็นปัญหาใหญ่ และร้ายแรง แต่หากเรามารื้อดูปัญหาหนี้เสียดีๆ ทุกคนจะพบว่าสินเชื่อรถยนต์เองก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กัน นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้สินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตถึง 20.9% เป็นจำนวนเงินร่วม 2.07 แสนล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วมูลค่าอยู่ที่ 1.71 แสนล้านบาทเท่านั้น มีบัญชีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาถึง 8.6% เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ยังคงน่าเป็นห่วง ในขณะที่ปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงค่าน้ำมันก็ยังคงพุ่งสูงอยู่เหมือนเดิม
ถามมาพิจารณาถึงสินเชื่อบ้านก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรระบุว่าตอนนี้ภาพรวมของสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 90 วันประจำไตรมาสที่ 3 เป็นมูลค่าสูงถึง 4.9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ประสบปัญหาเพิ่มขึ้นกว่า 37.2% โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาท ไปจนถึง 3 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่ากำลังเกิดปัญหาในการผ่อนชำระหนี้สินในกลุ่มชนชั้นกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สรุปแล้ว ลงทะเบียน แก้หนี้ เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้สินในระบบ และนอกระบบ ปัจจุบันมี 2 ธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการ ประกอบไปด้วยธนาคารออมสินที่ดูแลปัญหาหนี้สินนอกระบบ วงเงินสินเชื่อรายละ 50,000 บาท และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร คอยดูแลปัญหาหนี้สินของเกษตรกรผู้จำนอง หรือขายฝากที่ดินด้วยสินเชื่อสูงสุดกว่า 2.5 ล้านบาท สามารถเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567