ใครที่ส่งเงินประกันสังคมต้องทราบเลยนะคะว่าเราสามารถเบิกค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรได้ด้วย อย่าส่งเงินอย่างเดียวต้องเช็คสิทธิ์ของเราให้สม่ำเสมอค่ะ การตัดสินว่าจะมีลูกสักคนก็ถือเป็นภาระยิ่งใหญ่ที่ทั้งพ่อและแม่จะต้องเจอ เริ่มตั้งแต่ท้องจนถึงคลอดและเลี้ยงดูมาจนเติบโต เงินค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์จากประกันสังคมก็จะมาช่วยแบ่งเบาภาระของเราไปได้บ้าง
ค่าคลอดบุตร
สำหรับกรณีคลอดบุตรนี้ผู้มีสิทธิ์จะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนที่จะคลอด จึงจะเบิกค่าคลอดบุตรได้ ค่าคลอดบุตรให้ในอัตราเหมาจ่ายคนละ 13,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง นอกจากค่าคลอดบุตรแล้วผู้ประกันตนหญิงยังมีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเป็นแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท ในส่วนของเงินสงเคราะห์การลาคลอดนี้จะใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
ค่าสงเคราะห์บุตร
ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรผู้ที่ต้องการรับสิทธิ์จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน สิทธิ์ที่จะได้รับในกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นการเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อคน ใช้สิทธิ์ได้ 3 ครั้ง และจะได้เงินสงเคราะห์บุตรจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธ์ของประกันสังคมโดยมากก็จะเขียนไว้กว้าง ๆ แต่เมื่อถึงเวลาก็จะมีคำถามหรือข้อสงสัยในรายละเอียดต่าง ๆ ของหลายกรณี ทำให้มีคำถามเพิ่มเติมมากมาย วันนี้เราจะนำมาสรุปกันเฉพาะในเรื่องของค่าคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรให้คลายความสงสัยกันค่ะ
เบิกได้ทั้งสามีภรรยาหรือไม่
โดยมากเนื่องจากภรรยาเป็นผู้คลอดบุตร หากภรรยาเป็นผู้ประกันตนก็ควรเบิกโดยใช้สิทธิ์ของภรรยาไปเลย เพราะจะได้เบิกได้ทั้งค่าคลอดบุตร เงินลาคลอดและเงินสงเคราะห์บุตรไปในคราวเดียวกันเลย อย่างค่าคลอดบุตรในปัจจุบันก็สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งอยู่แล้ว ส่วนเงินลาคลอดก็จะเบิกได้แค่ 2 ครั้ง และเงินสงเคราะห์บุตรก็จะได้ 3 ครั้ง
ในกรณีที่ทั้งสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่จะเลือกเบิกโดยใช้สิทธิ์ของใครก็ได้ เพียงแต่บุตรคนใดที่เคยเบิกใช้สิทธิ์จากอีกฝ่ายแล้วก็ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิ์กับอีกฝ่ายที่เหลือได้
หากคลอดลูกเป็นแฝดจะเบิกค่าคลอดบุตรได้ 2 เท่าหรือไม่
ไม่ได้ค่ะ เพราะค่าคลอดบุตรที่จ่ายให้เป็นแบบเหมาจ่ายต่อการคลอดหนึ่งครั้ง ดังนั้น การคลอดลูกเป็นแฝดก็จะถือเป็นการคลอดแค่ครั้งเดียว จึงเบิกค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายได้ 13,000 บาทเท่านั้นค่ะ แต่การทำเรื่องเบิกค่าสงเคราะห์บุตรสามารถทำเป็น 2 คนได้ค่ะ
หากต้องการนอนห้องพิเศษตอนคลอด รวมเบิกในค่าคลอดได้หรือไม่
ค่าคลอดบุตรที่จ่ายจะเป็นแบบเหมาจ่ายต่อการคลอดหนึ่งครั้ง คือ ครั้งละ 13,000 บาทเท่านั้นค่ะ
หากมีการแท้งหรือลูกเสียชีวิตหลังคลอด สามารถเบิกค่าคลอดได้หรือไม่
ต้องเป็นการตั้งครรภ์ที่เกินกว่า 28 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีการคลอดออกจากครรภ์มารดา จึงจะเบิกค่าคลอดบุตรได้ค่ะ รวมถึงสามารถเบิกเงินค่าลาคลอด 90 วัน ได้ด้วยเช่นกัน
ไม่มีทะเบียนสมรส ฝ่ายชายต้องการใช้สิทธิ์ต้องทำอย่างไร
หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสและฝ่ายชายเป็นผู้ประกันตนที่จะใช้สิทธิ์ให้ตรวจสอบชื่อ-สกุลของบิดา ในสูติบัตรให้ตรงกับชื่อ-สกุลของผู้ประกันตน ส่วนชื่อมารดาก็ต้องตรวจสอบชื่อ-สกุลในใบสูติบัตรให้ตรงกับชื่อ-สกุลของคู่สมรสในหนังสือรับรองของผู้ประกันตน
ลาคลอดไม่ถึง 90 วัน เบิกค่าลาคลอดได้เต็มหรือไม่
ค่าลาคลอด 90 วันเป็นแบบเหมาจ่าย ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท ไม่ว่าจะลาคลอดกี่วันก็สามารถเบิกได้เต็มเพราะเป็นแบบเหมาจ่าย
ยื่นเรื่องย้อนหลังเพื่อเบิกค่าคลอดหรือค่าสงเคราะห์บุตรได้หรือไม่
ได้ หากเป็นการคลอดบุตรให้ยื่นเรื่องได้ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่บุตรเกิด ส่วนการสงเคราะห์บุตรหากยังอยู่ในเงื่อนไขของการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนที่ผ่านมา ก็สามารถยื่นเพื่อรับสิทธิ์ได้ โดยจะย้อนหลัง 1 ปี หากส่งเงินสมทบครบ แต่หากขาดส่งเงินสมทบก่อนหน้านี้ ก็ให้ตั้งแต่วันที่ส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีสิทธิ์เบิกค่าคลอดและค่าสงเคราะห์บุตรหรือไม่
มีสิทธิ์เบิกได้เหมือนกับมาตรา 39 ทุกประการในเรื่องของค่าคลอดและค่าสงเคราะห์บุตร ยกเว้นค่าลาคลอด 90 วัน ที่เบิกได้เช่นกัน ในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 90 วัน แต่คิดจากฐานค่าจ้างของมาตรา 39 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ 4,800 บาทค่ะ
เงินสงเคราะห์บุตรได้รับตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่
เงินสงเคราะห์บุตรจะได้รับตั้งแต่เดือนแรกที่ลูกเกิดไปจนถึงเดือนสุดท้ายที่บุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ในอัตราเดือนละ 400 บาท
หากภายหลังลาออกจากงาน เงินสงเคราะห์บุตรจะได้รับต่อเนื่องหรือไม่
เมื่อลาออกจากงานหรือลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน เงินสงเคราะห์บุตรก็จะไม่ได้รับต่อ หากอยากได้รับเงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงสิทธิ์ประกันสังคมต่อก็สามารถเลือกทำประกันตนเองตามมาตรา 39 ได้
เคยได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแล้วลาออก กลับเข้าทำงานใหม่จะได้รับต่อหรือไม่
เมื่อผู้ประกันตนยังรับสิทธ์เงินสงเคราะห์บุตรยังไม่ครบ เช่น บุตรยังมีอายุไม่ครบ 6 ปีบริบูรณ์ เมื่อกลับเข้าทำงานสามารถยื่นเรื่องใหม่เพื่อขอรับสิทธิ์ต่อเนื่องที่สำนักงานประกันสังคมที่เคยยื่นเรื่องไว้
สิทธิ์ประกันสังคมเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและข้อสงสัยมากมายนะคะ นี่ขนาดแค่เป็นเรื่องของการคลอดบุตรเพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้เลยค่ะ
อ้างอิง