ธุรกิจค้าปลีกยังคงถือว่าอยู่ในช่วงท้าทายอย่างหนัก เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเชิงลบต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการชะลอตัวในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ค่าครองชีพก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกร ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศซบเซาอย่างต่อเนื่องมา โดยตัวเลขการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตของปี 2556-2558 อยู่ที่เพียง 2.7% ต่อปี จากก่อนหน้านั้นที่เคยสูงถึงเกือบ 10% ต่อปี
ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ เปิดเผยว่าในปี 2559 นี้ยังไม่เห็นปัจจัยบวกอะไรที่จะมาช่วยพลิกสถานการณ์ของการค้าปลีกในประเทศไทยได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในช่วงของการชะลอตัว ประกอบกับไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี ก็ถือเป็นช่วงเงียบหรือโลว์ซีซั่นของการค้าปลีกอยู่แล้วด้วย เลยคาดหวังอะไรได้ไม่มากนัก ที่หนักมากคงเป็นค้าปลีกที่เน้นลูกค้าระดับกลางและระดับล่างอย่างคอนวีเนียนสโตร์และไฮเปอร์มาร์เก็ต กลยุทธ์คงต้องเน้นเรื่องของราคาสินค้าเพื่อเป็นกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อมากขึ้น
ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งโลตัสและบิ๊กซี เผยกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เน้นลดราคาเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน นางสลิลลา สีหพันธุ์ รองกรรมการบริหาร ห้างเทสโก้ เผยถึงแนวทางว่าทางห้างเทสโก้เองคงต้องใช้การลดราคาในหมวดสินค้าจำเป็นอีกยาว โดยถือว่าเป็นการช่วยประชาชนในเรื่องของค่าครองชีพด้วย ส่วนของบิ๊กซี ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ นางสาววารุณี กิจเจริญพูลสิน ก็เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า กลยุทธ์ปี 2559 นี้คงต้องเน้นในเรื่องของการลดราคาและจัดโปรโมชั่นไปตลอดปีแน่นอน
โดยธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างโลตัสและบิ๊กซีที่เน้นตลาดระดับล่าง คือ ขายสินค้าที่จำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และอาศัยพื้นที่กว้างเยอะ การสต๊อกสินค้าที่เยอะ ทำให้สามารถขายราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่า การขยายสาขาในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาถือว่าทำไปมากแล้ว มีสาขาครอบคลุมในเกือบทุกพื้นที่ แนวโน้มในการขยายสาขาต่อไปอีกคงมีไม่มากนัก เพราะเนื่องจากเศรษฐกิจและการแข่งขันจากค้าปลีกในเซกเมนท์อื่นที่รุนแรงขึ้น เช่น คอนวีเนียนสโตร์ ที่เน้นขายเข้าถึงประชาชนในชุมชน ไม่ต้องหาที่จอดรถ ซื้อแต่ละครั้งจำนวนไม่ต้องมาก ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เป็นต้น ดังนั้น ความน่าสนใจและแนวโน้มของการค้าปลีกในอนาคตน่าจะเป็นคอนวีเนียนสโตร์ที่เข้าถึงชุมชนได้มากกว่า แถมการลงทุนก็ไม่มากด้วย
ในส่วนของค้าปลีกที่เน้นลูกค้าตลาดกลางถึงบนซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ยังถือว่ามีการเติบโตสูง เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสเปเชียลตี้สโตร์ที่เน้นไลฟ์สไตล์ของสุขภาพและความงามต่าง ๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากนัก
ในส่วนของรัฐบาลเองก็ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นประชาชนในเกิดการบริโภคการใช้จ่ายโดยใช้มาตรการทางด้านภาษีตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ที่ให้นำใบเสร็จการซื้อสินค้าในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้านำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวน 15,000 บาท ก็ถือว่าช่วยทำให้ยอดค้าปลีกกระเตื้องขึ้นเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดี ทางด้านผู้ค้าปลีกหลายรายก็ได้ออกมาแสดงความคาดหวังถึงความช่วยเหลืออุตสาหกรรมค้าปลีกจากรัฐบาลในปีนี้อีก
ล่าสุด นางจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมค้าปลีก ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทยที่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยในไตรมาสแรกของปี 2559 ก็ถือว่าทำไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 3.2% ทำได้เพียง 2.6% เท่านั้น โดยข้อเสนอเร่งด่วนที่ต้องการให้ภารรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็มีในเรื่องของการดึงเงินจากนักท่องเที่ยวด้วยการเปิดร้านค้าปลอดภาษีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เป็นผลักดันให้การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง หรือ Shopping Tourism มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ในส่วนของคนที่รายได้ปานกลางถึงสูง อยากให้รัฐช่วยออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ถือเป็นการช้อปช่วยชาติ และไม่ควรจำกัดวงเงินอยู่แค่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ในส่วนของไตรมาสที่ 2 และ 3 ที่ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นให้มีการร่วมกันจัดโปรโมชั่นเพื่อเป็นการลดราคาสินค้าแบรนด์เนมที่กำลังจะหมดฤดูกาล โดยให้จัดอย่างต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ ใน 10 เมืองใหญ่ของประเทศ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี พัทยา รวมถึงในกรุงเทพฯ ด้วย โดยจะเป็นการดึงเม็ดเงินจากทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเองที่นิยมไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศ