ยามเมื่อชีวิตการทำงานถึงวัยที่ได้เวลาหยุดพัก เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด ความเหนื่อยล้าที่มีสะสมมาตลอดชีวิต คำว่า “ เกษียณ ” คือคำตอบของการหยุดชีวิตการทำงาน ซึ่งก่อนการเกษียณอายุจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้เพื่อไม่ให้ผู้เกษียณเกิดความเครียดอันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในหมู่ของผู้ที่ เกษียณ
ชีวิตหลังการทำงานหรือที่เรียกว่าชีวิตวัยเกษียณนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมักเกิดความซึมเศร้า มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระและรู้สึกไร้ค่า จากชีวิตที่ในหนึ่งวันเคยทำงาน ได้พบเจอสังคมและเพื่อนฝูง เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึงกลับต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่กับบ้านเฉย ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนจิตใจผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเบื่อหน่ายได้ นอกจากนี้สุขภาพที่เสื่อมถอยลงไปทุกขณะก็ยิ่งกลับกลายเป็นภาระที่ถ่วงหนักอยู่ในใจของผู้สูงอายุอีกด้วย การวางแผนเพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งตัวผู้เกษียณอายุเองและลูกหลานไม่ควรมองข้าม
งานอดิเรกที่เหมาะสำหรับผู้เกษียณอายุ
-เพาะต้นไม้จำหน่าย
สำหรับผู้ที่เกษียณอายุซึ่งมีใจรักในการปลูกต้นไม้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว การเลือกหารายได้เสริมจากการเพาะต้นไม้จำหน่ายเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าผู้เกษียณอายุจะได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ก่อให้เกิดความสุขและความเพลิดเพลิน ซึ่งตัวเงินที่ได้จากการจำหน่ายต้นไม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมองโลกในแง่บวกว่าตนยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองได้
-ใช้ชีวิตกับโลกโซเชียลมีเดียบ้าง
การเล่นสมาร์ทโฟนมีข้อดีสำหรับผู้สูงอายุหลากหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการดึงผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณเข้าสู่สังคม Social Network ซึ่งช่วยเสริมสร้างกำลังใจและคลายเหงาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีเกมส์ที่เล่นเพื่อความเพลิดเพลิน และยังช่วยฝึกสมองให้ผู้ที่เกษียณอายุได้ใช้ความคิด เป็นการเสริมสมาธิได้อีกทางหนึ่ง
-เข้าร่วมชมรมออกกำลังกาย
การรวมกลุ่มหรือเข้าร่วมชมรมออกกำลังกาย อาทิเช่น กลุ่มรำมวยจีนยามเช้า กลุ่มปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ กลุ่มโยคะ เป็นต้น โดยกลุ่มออกกำลังกายที่ผู้เกษียณอายุได้เข้าร่วมจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้เกษียณอายุได้พบปะสังคมใหม่ ๆ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ ก่อให้เกิดความสดชื่นแจ่มใส ไม่เบื่อหน่าย อีกทั้งยังเสริมสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
-ทำกับข้าวหรือขนมเพื่อจัดจำหน่าย
หากผู้เกษียณอายุชื่นชอบและมีฝีมือในด้านการทำอาหารหรือทำขนมอยู่แล้ว การคิดค้นและทดลองทำสูตรอาหารใหม่ ๆ หรือทำอาหารที่ไม่เคยได้ทำด้วยการหาสูตรจากอินเทอร์เน็ตจะทำให้ผู้เกษียณอายุรู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเพื่อนำไปจำหน่ายหรือเปิดช่องทางในโลกโซเชียลเพื่อรับออร์เดอร์ได้เช่นกัน การทำงานอดิเรกที่ตนรักเพื่อเป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้ผู้เกษียณมีความสุขและมีกำลังใจมากขึ้น
วิธีปรับจิตใจให้เป็นสุข
อีกหนึ่งปัญหาของผู้เกษียณอายุคือการปรับตัวและปรับใจ เนื่องด้วยสภาพความเคยชินในการทำงานตลอดทั้งชีวิต ดังนั้นการปรับใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้เกษียณอายุจำเป็นต้องมีเป้าหมายในชีวิต แม้วัยแห่งการทำงานจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตามที แต่การตั้งเป้าหมายล่วงหน้าถึงชีวิตจะทำให้ผู้เกษียณอายุรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งการทำงานสาธารณะกุศลก็เป็นอีกหนทางหนึ่งสำหรับการเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับผู้เกษียณอายุได้ เพราะการทำดีเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจให้ผู้เกษียณอายุตระหนักได้ถึงคุณค่าของตนเอง
ทั้งนี้ผู้เกษียณอายุควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างให้มากยิ่งขึ้น เพราะการสานสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน มิตรสหายเก่า จะทำให้ผู้เกษียณอายุเกิดความรู้สึกสดชื่นในชีวิต ทั้งนี้การนำเอาตัวและใจของตนเองไปผูกกับลูกหลานมากเกินไปอาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะเหงาหรือซึมเศร้าได้ เนื่องจากว่าสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ได้ทำให้ลูกหลานอยู่ห่างไกลจากผู้สูงอายุมากกว่าเดิม เนื่องจากความห่างของช่วงวัย รวมถึงภาระจากการเรียนและการทำงาน ผู้สูงอายุจึงควรแสวงหาความสุขที่สร้างด้วยตนเอง มากกว่าจะรอคอยให้ลูกหลานมาเยี่ยมเยือน
การดูแลสุขภาพหลังวัยเกษียณ
–อาหาร
ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อปลาซึ่งย่อยได้ง่ายกว่าและมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า รวมไปถึงอาหารที่มีกรรมวิธีในการต้มหรือนึ่ง เนื่องจากว่าวัยเกษียณเป็นวัยที่ใช้พลังงานในการทำกิจกรรมแต่ละอย่างลดน้อยลง การรับประทานอาหารพลังงานสูงอาจจะทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ อีกทั้งการลดอาหารประเภทย่อยยากก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้อยู่ในวัยเกษียณควรระมัดระวังให้มากที่สุด เนื่องจากระบบการย่อยของผู้สูงอายุนั้นมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง ซึ่งการรับประทานอาหารย่อยยากอาจก่อให้เกิดความไม่สบายตัวขึ้นในร่างกายของคนวัยเกษียณ
-ออกกำลังกาย
แม้ผู้สูงอายุจะมีร่างกายที่เสื่อมถอยลงทำให้การออกกำลังกายจำกัดอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ควรจะออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ซึ่งการออกกำลังกายต้องไม่หนักหน่วงหรือรุนแรงมากเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดอันตรายและบาดเจ็บได้ภายหลัง
-หมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณควรมีการตรวจสุขภาพอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากโรคและการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้หากผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังและรับประทานยาให้ต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ลูกหลานควรดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากว่าบางครั้งผู้สูงอายุอาจละเลยหรือหลงลืมก็เป็นได้
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เกษียณอายุคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนการเกษียณจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ การเงิน และอาชีพสำหรับรองรับหลังการเกษียณ ซึ่งการวางแผนและทำตามแผนเพื่อให้ชีวิตมุ่งไปสู่เป้าหมาย จะทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณตระหนักได้ถึงคุณค่าในตัวเองและมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต