พูดถึงชีวิตหลังเกษียณ หลายคนอาจรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ เมื่อนึกถึงเงินเฟ้อหรือดัชนีก๋วยเตี๋ยว ที่กัดกร่อนค่าเงินให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ บางคนก็อาจไม่ได้รู้สึกอะไร ด้วยคิดว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ยิ่งมีโครงการของรัฐที่สามารถเอาบ้านไปจำนองเพื่อแลกกับเงินใช้หลังเกษียณแล้ว ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ก็แล้วแต่คนจะคิดกันไป ไม่มีใครถูกใครผิด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนพอใจกับความสะดวกสบายของชีวิตหลังเกษียณในระดับไหน
แต่ว่าไม่ว่าแนวคิดจะออกมาเป็นแบบไหน อย่างน้อยหากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าตอนนี้เรามีแหล่งเงินสำหรับเกษียณอยู่ตรงไหนบ้าง ด้วยจำนวนเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะวางแผนต่อยอด หรือเตรียมใจสำหรับอนาคตได้อย่างตรงตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเองค่ะ
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแหล่งเงินสำหรับใช้ในวัยเกษียณกันนะคะ เมื่อรู้จักกันแล้วก็อย่าลืมลองดูว่าตอนนี้เรามีเงินอยู่ตรงไหนกันบ้าง มีเยอะไปหรือน้อยไปสำหรับชีวิตหลังเกษียณในแบบที่พอใจค่ะ
-
กองทุนประกันสังคม
เป็นกองทุนภาคบังคับที่มีหลักการคือ นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ ให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตน ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่ใช้เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน (ที่มา : http://www.sso.go.th)
โดยจะมีผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอยู่สามส่วน ได้แก่ นายจ้าง , ลูกจ้าง, รัฐ โดยเงินสบทบที่อยู่ในกองทุนจะถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังรูป ซึ่งจะเห็นว่า เงินส่วนหนึ่งจะถูกใช้ในกรณีชราภาพ หรือก็คือเงินส่วนที่จะนำไปใช้ในยามเกษียณสำหรับลูกจ้างนั่นเอง
-
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันด้านการเงินหลังวัยเกษียณสำหรับข้าร้าชการโดยเฉพาะ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนสองส่วนได้แก่ สมาชิกซึ่งก็คือข้าราชการ และ ภาครัฐ ซึ่งหากสมาชิกมีอายุราชการถึง 10 ปี (กรณีพ้นจากสมาชิกด้วยกรณีเกษียณ หรือเสียชีวิต) หรือ 25 ปี(กรณีลาออก) จะสามารถเลือกได้ว่าจะรับบำเน็จหรือบำนาญ แต่หากมีอายุราชการที่ต่ำกว่านั้น(แต่ยังเข้าเงื่อนไข) ก็อาจจะได้เฉพาะเงิน สะสม(จากของตัวเอง) เงินสมทบ(จากรัฐบาล) และผลประโยชน์จากเงินสะสมและสมทบเท่านั้น
-
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund : PVF)
เป็นกองทุน ”ภาคสมัครใจ” ที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างกรณี เสียชีวิต, ออกจากงาน, ออกจากกองทุน , เกษียณอายุ โดยกองทุนดังกล่าวมีลักษณะเป็นนิติบุคคล แยกจากทรัพย์สินของนายจ้าง และมีบริษัทจัดการแยกออกไป ทั้งนี้อัตราการจ่ายเงินสบทบระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ปัญหาผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ทำให้รัฐบาลได้มีการจัดตั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขึ้นมา โดยเป็นกองทุน ”ภาคบังคับ” ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานทั่วประเทศได้ออมเงินไว้ใช้ภายหลังเกษียณ โดยเบื้องต้นได้มีกฎบังคับ สำหรับบริษัทเอกชนมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละ 3% ใน 3 ปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีถัดไป สำหรับลูกจ้างที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ต้องสมทบเข้ากองทุน จะเป็นนายจ้างสมทบฝ่ายเดียว โดยจะเริ่มบังคับใช้ปี 2561 ทั้งนี้ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
(ที่มา : http://www.posttoday.com/economy/finance/448760)
-
กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เป็นกองทุนที่ใคร ๆ ก็สามารถซื้อได้ โดยกองทุนนี้ได้ถูกสนับสนุนโดยภาครัฐ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องการให้ประชาชนมีการลงทุนเพี่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ จึงได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ว่าผู้ที่ลงทุนหรือซื้อกองทุนประเภทนี้จะต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกปี และเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จะต้องห้ามขายกองทุนนี้ภายใน 5 ปี นับจากวันที่เริ่มซื้อ และห้ามขายก่อนอายุ 55 ปี ทั้งนี้เพื่อสร้างวินัยในการออม และให้มีการสะสมเงินที่มากพอและนานพอที่ใช้ในยามเกษียณได้นั่นเอง
-
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
“กอช. หรือกองทุนการออมแห่งชาติ คือกองทุนบำนาญสำหรับทุกคนที่มี ”อาชีพอิสระ” ให้ได้มีหลักประกันความมั่งคงให้ชีวิตยามเกษียณของตนเอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีการออมเงิน โดยมี กอช. เป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก” (ที่มา : http://www.nsf.or.th)
กอช. เริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรก ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558
หากจะแยกแหล่งเงินทุนเพื่อการเกษียณออกไปตามอาชีพ พอจะสรุปได้ดังนี้
นอกจากแหล่งเงินหลังเกษียณหลัก ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อาจจะมีแหล่งเกษียณอื่น ๆ เช่น LTF, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กำไรจากธุรกิจ (สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เลิกกิจการ) เป็นต้น
… แล้วมา “เอนหลังฟังเรื่องเงิน” ในตอนถัดไปกันนะคะ