คำว่า “เกษียณ” คนวัยหนุ่มสาว หรือคนที่มีอายุน้อย ๆ อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เหลือเวลาอีกนานกว่าเวลานั้นจะมาถึง ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่คิดจะเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณจะมาถึง คิดเพียงว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในทุก ๆ วัน ก็เพื่อทำงานหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่าย หรือนำมาใช้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง อยากได้อะไรก็พยายามหาซื้อให้ได้ และเงินก็เริ่มหมดลงเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มองถึงอนาคตที่กำลังจากมาถึง หลายคนไม่ได้นึกถึงด้วยซ้ำว่า หลังวัยเกษียณแล้ว จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร
แต่คุณจำเป็นต้องรู้ว่า “วัยเกษียณ” เป็นช่วงเวลาที่คุณมีแต่ค่าใช้จ่าย ไม่มีรายได้เข้ามา การใช้ชีวิตของคุณจะเริ่มลำบาก และยากต่อการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่า คุณอาจจะนึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านไป หากคุณมองย้อนกลับไป คุณจะพบว่า คุณพลาดการเตรียมความพร้อมด้านการเงินให้กับชีวิตที่เหลืออยู่ของคุณได้อยู่อย่างมีความสุข ดังนั้นการวางแผนก่อนวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามค่ะ วันนี้เรามีเคล็ดลับการวางแผนก่อนวัยเกษียณที่คุณสามารถทำตามได้ง่าย ๆ มาฝาก ดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนการวางแผนก่อนวัยเกษียณ
- กำหนดอายุที่คุณต้องการเกษียณให้ชัดเจน
ขั้นแรกควรกำหนดอายุที่คุณคิดว่าต้องการจะเกษียณ เพื่อให้รู้ว่าคุณเหลือระยะเวลาหารายได้ก่อนเกษียณอีกกี่ปี อย่างเช่น หากคุณมีอายุ ณ ตอนนี้ 30 ปี คุณตั้งใจไว้ว่าต้องการเกษียณตัวเอง เมื่ออายุตอน 60 ปี นั่นเท่ากับว่า หลังจากนั้นคุณจะมีเวลาหารายได้จากการทำงานอีกเพียง 30 ปี เมื่อคุณสามารถกำหนดอายุ และระยะเวลาในการเก็บเงินแล้ว คุณก็สามารถดำเนินการขั้นต่อไปได้เลย
- ประมาณช่วงระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
การประมาณช่วงเวลา คุณต้องคาดการณ์ว่า คุณจะมีอายุยืนยาวอีกกี่ปี และมีอายุเท่าไหร่ (โดยปกติผู้หญิงจะมีอายุยืนกว่าผู้ชาย) สมมติว่า คุณคาดการณ์ไว้ว่า คุณจะมีอายุยืนยาวไปจนถึง 80 ปี ช่วงระยะเวลาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณก็เท่ากับ 20 ปี จากนั้นก็นำตัวเลขที่ได้ไปคำนวณวางแผนขั้นต่อไป
- ประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังเกษียณ
เริ่มจากคำนวณรายจ่ายที่จำเป็น ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แนะนำให้ประมาณจากค่าใช้จ่าย ณ ปัจจุบัน เป็นรายเดือน เพื่อให้คุณทราบว่า คุณต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอกับการใช้ชีวิตที่เหลือแบบสบาย ๆ ไม่เดือดร้อนผู้อื่น หรือลูกหลาน โดยคำนวณตามขั้นตอนนี้
สมมติว่า : คุณมีรายจ่ายเดือนละ = 20,000 บาท
รายจ่ายต่อปีเท่ากับ (20,000 x 12) = 240,000 บาท
ระยะเวลาหลังเกษียณ 20 ปี (240,000 x 20) = 4,800,000 บาท
ดังนั้น คุณต้องเตรียมเงินไว้ใช้ยามเกษียณเพื่อดำรงชีวตโดยประมาณ 4,800,000 บาท (เป็นการคำนวณแบบคร่าว ๆ ยังไม่รวมถึงปัจจัยเงินเฟ้อ และอื่น ๆ)
- ประมาณรายได้หลังเกษียณ
รายได้หลังเกษียณในที่นี่ ไม่ใช่จากการทำงาน และเป็นเงินออมที่สะสมได้อย่างน้อย ๆ ก็ต้องฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตรไว้ ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยทุกปี สมมติว่า หลังเกษียณคุณมีเงินออมอยู่ 3,500,000 บาท และประมาณว่าอัตราดอกเบี้ยตกปีละ 4% คำนวณดอกเบี้ยที่ได้รับดังนี้
การคำนวณ :
ดอกเบี้ยที่ได้รับต่อปี (3,500,000 x 4%) = 140,000 บาท
หักภาษี 15% ต่อปี (140,000 x 15%) = 21,000 บาท
คงเหลือรายได้จากดอกเบี้ย (140,000 – 21,000) = 119,000 บาท
ดังนั้น คุณจะมีรายได้สุทธิเท่ากับ 119,000 บาท (ผู้สูงอายุที่มีรายได้ระดับนี้สามารถขอภาษีคืนได้) แต่สำหรับบางคนที่มีรายได้จากอื่น ๆ อีก อย่างเช่น บ้านเช่า คุณก็ต้องนำมารวมคำนวณด้วย สมมติว่า มีบ้านให้เช่าอีก 2 หลัง ให้เช่าเดือนละ 3,000 บาท
การคำนวณ :
รายได้ค่าเช่า (3,000 x 2) = 6,000 บาท
รายได้ต่อปี (6,000 x 12) = 72,000 บาท
หักภาษีโรงเรือน 12.5% (72,000 x 12.5%) = 9,000 บาท
คงเหลือเงินจากรายได้บ้านเช่าอีก (72,000 – 9,000) = 63,000 บาท
หากใครสามารถวางแผนและรู้จักการบริหารเงินดี ๆ คุณก็จะมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้สบายโดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานเลย
- วางแผนออมเงินในปัจจุบัน
คุณต้องคำนวณเงินที่จำเป็นต้องออม เพื่อให้ทราบว่าคุณต้องเตรียมออมเงินไว้อีกจำนวนเท่าไหร่ โดยการนำเงินออมส่วนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน มาหักลบออกจากจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ สมมติว่า ตอนนี้คุณอายุ 30 ปี มีเงินออมอยู่แล้ว 300,000 บาท
การคำนวณ :
เงินออม ณ ปัจจุบัน = 300,000 บาท
ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังเกษียณ = 4,800,000 บาท
ต้องเก็บเงินเพิ่มอีก (4,800,000 – 300,000) = 4,500,000 บาท
ระยะเวลาในการหาเพิ่ม 30 ปี (4,500,000 / 30) = 150,000 บาท
ดังนั้น คุณต้องหารายได้เพิ่มปีละ 150,000 บาท หรือควรมีเงินเก็บต่อเดือนเท่ากับ 12,500 บาท คุณต้องเริ่มวางแผนการเก็บออมให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 12,500 บาท ควรเก็บในอัตราคงที่เท่า ๆ กันทุกปี และต้องดูความสามารถว่าคุณจะทำได้หรือไม่ หากยังทำไม่ได้ คุณอาจจะต้องหาตัวช่วย โดยการเก็บออมแบบอัตราก้าวหน้า หมายถึง ในช่วงปีนี้คุณมีเงินเก็บที่น้อยมาก ในปีต่อไปคุณต้องหารายได้เพิ่ม เพื่อเก็มออมในอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอต่อการใช้จ่าย หลังเกษียณ
การวางแผนออมเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่คุณต้องให้ความสำคัญ อย่างคิดเพียงว่าเหลือเวลาอีกยาวใกล้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นคุณอาจจะทำอะไรไม่ทันก็ได้ ดังนั้น คุณควรคิดเรื่องของการเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณได้แล้วนะค่ะ เพื่อชีวิตที่มีความสุข ยามเกษียณนั่นเอง