สวัสดีทุกท่านในวันสุดท้ายในสัปดาห์ของการทำงานกันนะคะ ถ้าพูดถึงนิยามของการพักผ่อนแล้ว ก็หมายถึง การที่เราได้ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายจากสภาวะความเคร่งเครียดและกดดันจากสิ่งเร้าต่างๆ ถ้าเป็นช่วงวัยเรียนหรือวัยทำงาน การพักผ่อนในที่นี้ก็คือการได้ปล่อยให้ตัวเองนั้นมีเวลาในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าคนไหนที่เข้าสู่ช่วงวัยที่ทำงานไม่ไหวแล้ว ก็คือต้องปลดลอคตัวเองเข้าสู่ช่วงวัยที่ต้องเกษียณซะที พอมาถึงตรงนี้หลายคนก็คงจะอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าตัวเองแก่ชราตัวไปจะเป็นอย่างไรบ้างนะ ? คนที่มีครอบครัวแล้วอาจจะวาดฝันว่า จะมีลูกหลานคอยดูแลใกล้ชิดยามเจ็บป่วยหรือเปล่า ? หรือคนที่ยังโสดอยู่ ไม่อยากคิดจะมีครอบครัว/แต่งงาน ถ้าแก่ตัวไปจะเลี้ยงดูตัวเองอย่างไร ? ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดและวางแผนให้ดีค่ะ พอถึงเมื่อเวลานั้นจริงๆจะได้ไม่ต้องลำบากมาก
การ วางแผนบำนาญ ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนอื่นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า เราต้องการที่จะมีชีวิตในบั้นปลายอย่างไร ที่น่าห่วงก็คือ เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ บางคนบอกว่า ก็ไม่เห็นจะยากเลย ตอนหนุ่มสาวก็เก็บเงินไว้เยอะๆเท่าที่จะเยอะได้ เอาไว้ใช้ตอนแก่ แต่พอเอาเข้าใจจริงๆ คนเรามีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการใช้ชีวิตเยอะมาก ยิ่งใครที่มีครอบครัว ไหนจะค่าใช้จ่ายจำเป็นภายในบ้าน ไหนจะค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูพ่อแม่ ต่างๆนานา จนแทบจะไม่มีเหลือเก็บเลย ตกอยู่ในวังวน หามาจ่ายไป อยู่เรื่อยๆ และก็มีหลายคนเช่นกันที่ค่าใช้จ่ายไม่พอแล้วยังมีหนี้พ่วงมาด้วย หนักหน่วงเอาการ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ การวางแผนบำนาญในระยะยาวก็ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำอยู่ดี
แล้วเราจะเลือกวางแผนบำนาญให้เข้ากับชีวิตของเราอย่างไรดีล่ะ ? เราก็ต้องมาคิดกันว่า เราจะหยุดทำงานตอนอายุกี่ปี ถ้าเป็นมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป ก็คือ 60 ปี พออายุมาถึงเลข 6 ก็เริ่มอยากที่จะโบกมืออำลาวงการแล้ว เพราะหนึ่งล่ะในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เจ็บป่วยบ้าง ไม่มีเรี่ยวแรงทำงานได้เหมือนตอนหนุ่มสาว ก็ต้องกลับมาดูแลตัวเองและคู่ชีวิตในเวลาบั้นปลาย โดยเฉลี่ยแล้วหลังจากที่เข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปี เรียกได้ว่าเป็นวัยไม้ใกล้ฝั่ง สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน บางคนอาจจะถึงแค่เลข 7 เลข 8 ก็ต้องจากไปตามกาลเวลา หรือบางคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็อาจจะอยู่กับลูกหลานนานหน่อย
สมมติว่าเราคาดการณ์ไว้จะเริ่มต้นเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีและต้องการมีชีวิตหลังเกษียณได้ถึงประมาณ 90 ปี แสดงว่า 30 ปีเป็นช่วงระยะเวลาระหว่างบั้นปลาย เราอาจจะคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ง่ายๆว่าอยากมีเงินบำนาญเดือนละเท่าไหร่ เช่น อยากมีเงินไว้ใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท
- 10,000×12=120,000 บาท/ปี
- 30 ปี รวมเป็นเงินทั้งหมด 120,000 × 30 = 3,600,000 บาท
นั่นแสดงว่า เราต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 4,000,000 บาท สำหรับวัยเกษียณ (ตัวเลขสมมติขึ้นเพื่อให้เกิดเข้าใจ) ซึ่งเราก็ต้องมาวางแผนแล้วว่า เงิน 4 ล้านบาท เราจะเก็บอย่างไร ? หรือหามาจากไหน ?
เงินส่วนของบำนาญนี้ ในกรณีที่เราไม่ได้เป็นข้าราชการ (ส่วนข้าราชการจะมีบำเหน็จบำนาญข้าราชการไว้ให้แล้ว) เราเป็นพ่อค้าแม่ขาย รับจ้างทั่วไป หรือทำงานอื่นๆ เราก็ต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้และเก็บออมสะสมไว้เรื่อยๆ ซึ่งในเรื่องของการลงทุน เราอาจจะเลือกลงทุนตามความเหมาะสม เช่น บางคนอยากได้ผลตอบแทนที่สูงอาจจะเลือกลงทุนกับหุ้น บางคนอาจจะลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว การลงทุนทำให้เรามี Passive Income ไม่ต้องทำงานทุกวัน ไม่ต้องทำงานหนัก แต่ก็มีเงินหมุนเวียนเข้ามาตลอดๆ ก็จะทำให้เรามีเงินเก็บเพื่อวัยเกษียณอายุมากขึ้น แถมเกษียณ(ตัวเอง) ได้ไวขึ้นอีกด้วย ถ้ามีการสร้างฐานของตัวเองได้มั่นคงแข็งแรงมากพอ ดังนั้นเราจึงต้องลองศึกษากันไปเรื่อยๆ จนกว่าเจอการลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อบรรลุกับเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้
สิ่งที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือ สุขภาพร่างกาย เป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ วันนี้อาจจะแข็งแรงดี หัวเราะพูดคุยกับคนรอบข้างได้ปกติ แต่ใครจะรู้ล่ะว่า วันหนึ่งอาจจะมีเรื่องเกิดขึ้นกับตัวเรา จนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เข้าโรงพยาบาล ดังนั้นการทำประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพทั่วไป ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราควรคิดเผื่อสำรองไว้เช่นกัน ซึ่งจะเหมาะกับคนที่ต้องการทำประกันไว้อยากมีเงินใช้ในอนาคตและยังเป็นหลักประกันเพื่อลูกหลานอีกด้วย ในกรณีที่เราเป็นอะไรไปก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำประกันก็จะแตกต่างกันตามรูปแบบที่เราต้องการ บางทีเราคิดว่าจะวางแผนบำนาญเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างเดียว อาจจะไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ ครั้นจะเก็บออมเอาไว้ต่างหาก ก็กลัวใจไม่แข็งพอ เพราะอย่างว่าค่ะ บางทีคนเราก็มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็นต้องนำเงินไปใช้ก่อน แต่ถ้าจะเก็บไว้จริงๆก็ได้ค่ะ แต่ก็ต้องมีวินัยในการออมด้วยนะ ออมก็คือออม แต่ถ้าใครที่รับราชการ ในเรื่องของสุขภาพ อาจจะมีเบิกจ่ายได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะ วางแผนบำนาญ วัยเกษียณ ทั้งที ก็ต้องคิดให้รอบคอบก่อนค่ะ นั่นก็เพื่อว่าจะได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีความสุขมากขึ้นนั่นเอง.