ไม่ง่ายนักที่จะตอบคำถามว่า “ใช้ ชีวิตหลังเกษียณ ทําอะไรบ้างและทําอย่างไร” แต่ละคนมีโครงการชีวิตหลังการทํางานแตกต่างกัน ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ ควรวางแผนอย่างรอบคอบ ประเมินความพร้อมของตนเองในด้านการเงิน ความสามารถ ประสบการณ์ และพละกำลังของตนเอง
คนวัยต้นเกษียณส่วนใหญ่ยังทำอะไรได้มาก บางคนเลือกเดินทางท่องเที่ยวทบทวนความสุขและความทรงจำในอดีต บ้างเดินทางแสวงหาประสบการณ์ใหม่ที่มีค่าให้กับตนเอง บางคนวางแผนพักผ่อนสบายอยู่บ้าน ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ดูแลคนในครอบครัวของตนเอง บางคนเบนเข็มไปทำอาชีพอื่นตามความฝันหรือทำงานสร้างรายได้ต่อไปเพื่อความมั่นคงในบั้นปลาย
เมื่อพ้นจากหน้าที่การงาน ในระยะแรกคนวัยเกษียณอาจเพลิดเพลินกับกิจกรรมใหม่ การท่องเที่ยว พักผ่อน หรือทำกิจกรรมอื่นที่วางแผนไว้ก่อนเกษียณ แต่หลังจากนั้นโดยมากเริ่มรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว รู้สึกเสียดายอดีตและกังวลต่ออนาคต สูญเสียความเชื่อมั่น เกิดความเครียดความกังวลใจต่าง ๆ นานา จนลุกลามเกิดโรคซึมเศร้าได้
ชีวิตวัยเกษียณเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์และความคิด เมื่อพ้นจากงาน ไม่มีรายได้ ก็เกิดความความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ประสบกับความเสื่อมถอยของสุขภาพและสูญเสียความจำ การประกอบกิจกรรมต่างๆจะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อจิตใจค่อนข้างมากเพราะจะคิดว่าตนเองไม่มีสมรรถภาพกระทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตนเอง อาจแสดงออกทั้งทางกายและอารมณ์ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หมกมุ่นเรื่องของตัวเอง ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น เรียกร้องความสนใจ ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย เกิดช่องว่างระหว่างผู้สูงวัยกับลูกหลานและสมาชิกภายในบ้าน จำเป็นต้องแก้ไขปรับทัศนะและมุมมองใหม่เพื่อให้การดำเนินชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
คนวัยนี้จำเป็นต้องดูแลสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เอาใจใส่เรื่องอาหารการกินมากขึ้น และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพ ในด้านจิตใจควรหมั่นศึกษาธรรมะเป็นเครื่องนำทางในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและเป็นตัวอย่างที่ดีของครอบครัว
เมื่อเตรียมพร้อมความดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การดำเนิน ชีวิตหลังเกษียณ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกังวล แต่กลับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ตนเอง ทบทวนชีวิตในอดีตทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว หรือการเริ่มต้นเส้นทางชีวิตกับสิ่งที่ใจชอบ มีโอกาสใช้ชีวิตอิสระตามที่ต้องการ มีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น วัยเกษียณควรใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น เขียนหนังสือ ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ทำบุญทำทาน หรือทำงานช่วยเหลือสังคมตามโอกาสเอื้ออำนวย
คนเราใช้ชีวิตหลังเกษียณนานเพียงใด ใช้เงินเดือนละเท่าไร ควรเตรียมเงินจำนวนมากแค่ไหน น้อยคนที่จะไม่หวั่นไหวในการใช้ ชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากการวางแผนการเงินที่ดี ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมั่นใจ
ทุกวันนี้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ยิ่งมีภาระต้องใช้เงินหลังเกษียณมาก ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าครองชีพขยับสูงในขณะที่ไม่มีรายได้หรือไม่มีแรงทำงานหาเงินแล้ว จึงต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เริ่มออมเมื่ออายุยังน้อย เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระหนักเกินไปเมื่ออายุมากขึ้น หรือกลายเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน
ส่วนผู้ที่ไม่ได้วางแผนออมเก็บเงินไว้ใช้ มารู้ตัวอีกทีเมื่อเกษียณแล้ว เงินทองที่สะสมมาทยอยจ่ายออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในภายภาคหน้าจึงทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ก็จำเป็นต้องมองช่องทางอาชีพหลังหมดหน้าที่การงานแล้ว โดยเลือกให้เหมาะกับความชอบ ความถนัด และสภาพร่างกาย
อ่านเพิ่มเติม >> ชราอย่างมั่นใจ เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนวัยเกษียณ <<
ผู้ก้าวสู่วัยเกษียณเปรียบเสมือนเป็นคลังความรู้และคลังประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ยังสามารถนำมาเพื่อประกอบอาชีพหลังเกษียณได้ เช่น อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ วิทยากร ที่ปรึกษาบริษัท นักเขียน นักจัดรายการวิทยุ เป็นต้น บางคนมีอาชีพเสริมหรืองานอดิเรกปูลู่ทางตั้งแต่ยังไม่เกษียณอาจทำงานส่วนตัวที่ใจรัก เช่น ศิลปะ งานฝีมือ นายหน้า ค้าขาย และทำสวน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหรือเริ่มต้นอาชีพใหม่ ควรศึกษาความเป็นไปได้ ความสามารถ ศึกษาเรียนรู้อาชีพใหม่ให้เชี่ยวชาญ และการประเมินสมรรถภาพร่างกายว่าสามารถดำเนินการอาชีพใหม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง เพราะอาจขาดทุนและกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้
คนวัยเกษียณมีความรู้ความสามารถ ผ่านประสบการณ์ชีวิตทั้งดีและร้าย มีความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจหรืออาจเคยเจอกับความผิดหวัง ความล้มเหลวที่ผ่านมาในชีวิต บทเรียนในชีวิตจริงเหล่านั้นเป็นเสมือนตำราประวัติศาสตร์ที่ดีเพื่อสอนให้แก่ลูกหลานและคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่หรือลูกหลานตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท และเดินตามรอยในสิ่งที่ดีอย่างถูกต้อง ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกันใหม่
ครอบครัว ลูกหลานและสังคมรอบตัวมีส่วนส่งเสริมให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข ผู้สูงวัยต้องปรับตัวให้ดํารงชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข ควรแบ่งปันช่วงเวลาดี ๆ กับคนในครอบครัว เช่น รับประทานอาหารในร้านอาหารอร่อยๆร่วมกับสมาชิกในครอบครัว , การเดินทางท่องเที่ยวแบบครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตาลูกหลานและออกไปสมาคมกับเพื่อนฝูง รักษามิตรภาพเก่า ๆ ไว้และสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ตามโอกาสอันควร บุคคลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจ ความรัก ช่วยให้พวกเขามีความรู้สึกมั่นใจและอุ่นใจมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ผู้สูงวัยควรพัฒนาความรู้เรื่องเทคโนโลยี เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นเพื่อให้เท่าทันเหตุการณ์ปัจจุบัน เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ปรับตัวได้อย่างดีในการดำรงชีวิตประจำวัน การปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับคนยุคใหม่หรือลูกหลานจะช่วยให้มีการใช้เวลาร่วมกันหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งทำให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณกับครอบครัวอย่างสนิทแนบแน่นใจมากขึ้นและลูกหลานรักใคร่เคารพนับถือและอยากเข้าหาด้วยเนื่องจากสามารถคุยกันได้อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
ชีวิตและเวลาที่ยังเหลืออยู่มีคุณค่า ไม่ควรปล่อยไปอย่างเปล่าประโยชน์และไร้ความหมาย ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ รับคนวัยเกษียณเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนโครงการในด้านต่าง ๆ การมีกิจกรรมสร้างสรรรค์ร่วมกับสังคมตามสภาพร่างกายที่ยังพอมีสมรรถภาพพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทำให้เกิดความเพลิดเพลินในชีวิต ช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ ย่อมไม่รู้สึกว่าคุณค่าของตนลดน้อยถอยลงไปตามวัย
สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี วางแผนชีวิตไว้รอบคอบ เมื่อถึง “วันทำงานวันสุดท้าย” ไม่ว่า ชีวิตหลังเกษียณ จะเดินไปในทิศทางใด ก็คงสามารถจัดการกับชีวิตในบั้นปลายได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นวัยเกษียณ แต่ก็ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
ใกล้ถึงวัยเกษียณ เตรียมตัวให้พร้อม ทำประกันไว้ เจ็บป่วยก็หายห่วง แถมได้เงินคืนทุกปี รายละเอียดเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่