ไม่สำคัญหรอกค่ะว่า ตอนนี้คุณจะมีอายุเท่าไร คุณทำงานมาแล้วกี่ปี และคุณจะยังคงมั่นคงในหน้าที่การงานไปจนถึงอายุเท่าไร สิ่งสำคัญกว่าวัยทำงานตอนนี้ก็คือการวางแผนการเงินล่วงหน้าก่อนเกษียณ วันนี้ คุณตอบตัวเองได้หรือไม่ว่า คุณวางแผนอย่างไรให้ชีวิตช่วงหลังเกษียณเป็นช่วงเวลาพักผ่อนที่ใคร ๆ ก็ต้องอิจฉา หรือ คุณจะทำอย่างไรให้คุณสามารถใช้ชีวิตที่ฟิน ๆ ได้ก่อนวัยเกษียณที่จะมาถึง ช่วงเวลานั้นจะเป็นของคุณก็ต่อเมื่อคุณมีไพ่ดีอยู่ในมือ เตรียมไว้เป็นเบาะรองนั่งยามเกษียณอยู่กับตัวแล้วนั่นเอง
จากผลการศึกษา ทำให้รู้ว่าผู้คนส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวขึ้น อาจจะด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์, ความใส่ใจในสุขภาพหมั่นออกกำลังกาย หรือ การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และรวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีให้เลือกตามความจำเป็นของร่างกายแต่ละคน ยิ่งอายุเรายืนยาวมากขึ้นเท่าไร เราต้องเตรียมวางแผนทางการเงินแต่เนิ่น ๆ ให้พร้อมที่สุด และหากคุณกำลังนั่งกดเครื่องคิดเลขดูว่า คุณเองก็หัก 10% ของเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทฯ อยู่แล้วทุกเดือน คุณก็น่าจะลองเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% ต่อปี ถ้านึกไม่ออก ลองคิดย้อนกลับไปว่า เมื่อ 10 ปีก่อน คุณทานข้าวจานละเท่าไร และตอนนี้คุณทานมื้อละเท่าไร คุณจะยิ่งแน่ใจว่า เงินฝาก 10% ในวันนี้ ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับชีวิตวัยเกษียณที่จะมาถึงในวันข้างหน้า
อ่านเพิ่มเติม >> กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อดีของผู้เกษียณอายุ <<
คุณอาจคิดต่อไปว่าคุณได้หักเงินไปฝากไว้ในกองทุนประกันสังคมแล้ว ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายคืนเรามาก็เมื่อเรามีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าคุณลองคิดดูดี ๆ คุณจะช็อค เพราะไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญ นั้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับบั้นปลายอยู่ดี เพราะเงินชดเชยทั้งสองแบบนั้น ถูกคำณวนผลตอบแทนด้วยสูตรที่ fix ไว้แล้ว สมมุตินะค่ะว่า คุณเริ่มสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนนั้นอายุราว ๆ 20 ปี เงินเดือนเริ่มที่ 15,000 บาท พอคุณอายุครบ 60 ปี คุณก็จะได้เงินบำนาญไปใช้เดือนละ 8,625 บาท แต่อย่าลืมเรื่องอัตราเงินเฟ้อนะคะ ดังนั้นเงินที่เราได้ 8,000 กว่าบาทนั้น อาจมีมูลค่าเพียง 3,000 กว่าบาทเมื่อคุณอายุ 60 ปีก็ได้ และถ้าคุณรู้ว่าไม่น่าจะพอใช้แน่ๆ คุณได้เตรียม แผนการเงินก่อนเกษียณ แผน B ไว้แล้วหรือยัง
เชื่อว่า หลาย ๆ คน น่าจะยังคงฝากเงินไว้ในธนาคารเพื่อเป็นทุนรอนเลี้ยงชีพ แต่เพื่อป้องกันให้เงินที่สะสมนั้นคงอยู่ตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจ เราจึงควรแยกประเภทการสะสม เพราะอะไรหน่ะเหรอคะ ก็เพราะทุกวันนี้ ธนาคารมีบริการต่าง ๆ บางแห่งฟรีค่าธรรมเนียมด้วย เรื่องการถอน การโอนสำหรับรายจ่ายต่างๆ ก็ทำง่าย สะดวก ขึ้น เราจึงควรแยกเงินสำหรับวัยเกษียณออกจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเงินไปกับรายจ่ายอื่น ๆ ทางเลือกที่น่าสนใจคือ การออมทรัพย์ผ่านประกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างวินัยการออมให้เราแล้ว ด้วยอายุสัญญาที่ค่อนข้างนาน เราจึงเหมือนถูกบังคับให้ออมเงินต่อเนื่องทุก ๆ ปี ถ้าขาดส่งก่อนอายุกรมธรรม์ก็ไม่ได้รับผลตอบแทน ขาดทุนเห็น ๆ แต่ด้วยลักษณะการออมเงินในรูปแบบกรมธรรม์นั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ออมเงินอย่างเรา ๆ อาจได้รับผลตอบแทนน้อย ซึ่งเมื่อครบสัญญาตามกรมธรรม์กำหนดแล้วก็อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกเหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติม >> เทคนิคการออมเงิน ใช้หลังเกษียณของ นพ.คณิน <<
แล้วจะออมเงินวิธีไหนดี ควรจะเตรียมตัวเพิ่มอย่างไรบ้าง
คุณก็น่าจะลองมองกองทุนรวมจำพวก RMF, LTF หรือ จะลงทุนซื้อหุ้นก็น่าจะเหมาะ เพราะไม่เพียงเป็นการออมเงินระยะยาวไว้ใช้ยามเกษียณได้ แต่คุณยังได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนทางภาษีอีกต่างหาก หรือไม่ก็นำเงินไปซื้อพันธบัตรธนาคารเก็บไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ หลักการเงินการวางแผนที่ดี คือ การไม่นำเงินไปจมอยู่กับสิ่งๆ เดียว แต่คือการรู้จักกระจายเงินของเราไปในหลาย ๆ ด้าน ภายใต้เงื่อนไขของความเสี่ยงที่เราคิดว่า เราเอาอยู่ เพราะมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหุ้น นั้น อาจมีการแกว่งตัวขึ้น ๆ ลง ๆ บางคนอาจทำใจไม่ได้ถ้าต้องตกอยู่ในสภาวะกดดันแบบนั้น เดี๋ยวจะกินไม่ได้นอนไม่หลับสุขภาพแย่กันไปเปล่า ๆ แต่หากว่าตอนนี้คุณยังอยู่ในช่วงวัยทำงานต้น ๆ พอจะยอมรับความเสี่ยงแบบนี้ไหว ก็อาจจะเลือกแบบเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง แต่หากว่าคุณเริ่มมีอายุมากขึ้นแล้ว การลงทุนทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะไม่ใช่ทางของคุณซะแล้ว ก็เลือกแบ่งปันจัดสรรลงในพอร์ตตามสัดส่วนที่รับได้หล่ะกันค่ะ
“Life without risk is in risk even more” ชีวิตที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย คือ ชีวิตที่เสี่ยงยิ่งกว่า ความปลอดภัยจากการออมเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียว แล้วคิดว่ามันคุ้มดีนั้น
แท้จริงคือยิ่งเราฝากเงินไว้ในธนาคารนานเท่าไร เราก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น เพราะอะไรก็ให้คุณลองเปรียบเทียบการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราเงินเฟ้อดูนั่นแหละค่ะ จะแจ่มแจ้งเลย ค่าของเงินไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขที่ปรากฎในบัญชีธนาคารเท่านั้น เราจะรู้ว่าเงินนั้นมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมันเพียงพอที่จะซื้อของที่เราต้องการได้ต่างหากคุณว่ามั๊ย แล้ววันนี้คุณวางแผนการเงินดีหรือยังคะ