บัตรเครดิต อย่างที่ทราบกันว่าเป็นบัตรที่ใช้รูดเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแทนเงินสด โดยธนาคารเจ้าของบัตรให้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนสูงสุดถึง 55 วัน โดยต้องดูตามรอบบัญชีที่ต้องจ่ายของแต่ละบัตรด้วย หากชำระยอดเต็มภายในกำหนดระยะเวลา ก็จะไม่เสียดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หากชำระคืนไม่ครบ ยอดที่ค้างชำระอยู่ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่รูดบัตรเลย ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็แล้วแต่ธนาคารส่วนมากแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อปี บางธนาคารก็มากหรือน้อยกว่านี้
ประเภทของลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการจ่ายชำระเงินคืน หากจ่ายคืนเต็มวงเงินทุกเดือนแบบไม่เสียดอกเบี้ย ธนาคารจะเรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่า Transactor แต่หากจ่ายไม่เต็มวงเงิน อาจจ่ายแค่เท่าที่มีเงินแล้วเหลือยอดค้างไว้ หรือบางคนก็จ่ายแค่ขั้นต่ำ ธนาคารจะเรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่า Revolver ธนาคารจะชอบลูกค้าประเภท Revolver มากกว่า เนื่องจากยอดชำระที่ค้างชำระอยู่ในบัญชีจะถูกคิดดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นรายได้ของธนาคาร ตราบใดที่เราจ่ายเงินชำระคืนไม่ต่ำกว่าเงินขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารชอบอยู่แล้ว เพราะได้ดอกเบี้ยจากบัญชีของเราไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มที่จ่ายเต็มวงเงิน หรือ Transactor ลูกค้าจะชอบน้อยกว่า เนื่องจากธนาคารจะไม่ได้รายได้ที่เป็นดอกเบี้ยจากลูกค้ากลุ่มนี้ รายได้ที่ได้ก็จะมีเพียงแค่ค่าธรรมเนียมที่ได้จากการรูดบัตรเครดิตจากร้านค้าต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบไม่ได้กับรายได้ดอกเบี้ยจากลูกค้ากลุ่ม Revolver อย่างแน่นอน
สำหรับการจ่ายเงินขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดไว้เพื่อจ่ายบัตรเครดิต ก็จะเป็น 10% ของยอดเงินค้างชำระทั้งหมดในเดือนนั้น แต่หากต่ำกว่าจำนวนเงินที่แต่ละธนาคารกำหนดก็จะต้องจ่ายจำนวนที่ธนาคารกำหนด แต่ละธนาคารแต่ละบัตรจะไม่เท่ากัน บางบัตรก็กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 200 บาท บางบัตรก็กำหนดไว้ที่ 500 บาท เงินจำนวนนี้สามารถดูได้ในใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตที่ทางธนาคารส่งให้กับเราทุกเดือน เช่น หากยอดเงินค้างชำระในเดือนนี้ของเรารวม 33,000 บาท ขั้นต่ำที่เราต้องจ่ายก็คือ 10% X 33,000 = 3,300 บาท หากยอดเงินค้างชำระในเดือนนี้ของเราเป็น 800 บาท ขั้นต่ำที่เราต้องจ่าย 10% X 800 = 80 บาท หากน้อยกว่าจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนด ก็ต้องจ่ายขั้นต่ำตามที่ธนาคารกำหนด คือ 200 บาท หรือ 500 บาท เป็นต้น
หากจ่ายชำระคืนบัตรเครดิตแบบเต็มวงเงินทุกเดือน คือ มียอดเงินค้างชำระเท่าไหร่ ก็จ่ายจนเหลือศูนย์บาท จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากชำระคืนแค่บางส่วนหรือแค่ขั้นต่ำ ยอดที่ยังค้างชำระอยู่ก็จะถูกคิดดอกเบี้ย โดยคิดย้อนไปตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรเพื่อซื้อสินค้าเลย หากเดือนต่อมายอดนั้นยังค้างอยู่ก็จะคิดดอกเบี้ยจากวันที่คิดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ดอกเบี้ยสำหรับยอดที่ค้างชำระบัตรเครดิตที่ธนาคารคิดก็จะแตกต่างกันไป แต่ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยและค่าปรับต่าง ๆ ของบัตรเครดิตรวมกันได้ไม่เกินกว่า 20% ส่วนการคิดดอกเบี้ยนั้นก็จะเริ่มคิดย้อนไปตั้งแต่วันที่เราทำรายการซื้อสินค้าเลย คิดดอกเบี้ยในช่วงระยะที่ปลอดดอกเบี้ยหากจ่ายเต็มวงเงินด้วย
ยกตัวอย่าง การคิดดอกเบี้ยสำหรับการชำระคืนเงินบางส่วนหรือจ่ายขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต เช่น
หากเดือนก่อนหน้าเราไม่มียอดค้างชำระ เดือนที่ผ่านมาเรามียอดซื้อสินค้าในราคา 20,000 บาท ในวันที่ 5 เมษายน 2559 แล้วเมื่อถึงกำหนดชำระคืน เราเลือกที่จะชำระคืนแค่ขั้นต่ำ คือ 2,000 บาท เท่านั้น เหลือยอดค้างในบัญชีบัตรเครดิตต่อไปอีก 18,000 บาท ดอกเบี้ยส่วนที่หนึ่งจะคิดจากยอดเต็ม 20,000 บาท ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่รูดบัตร
- หากเราจ่ายคืนขั้นต่ำ 2,000 บาท ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ดอกเบี้ยส่วนแรกก็จะเป็น 20,000 x 20% x 33/365 = 361.64 บาท
- ดอกเบี้ยในส่วนที่สองก็จะคิดจากยอดหลังจ่ายขั้นต่ำแล้ว คือ 18,000 บาท โดยนับตั้งแต่วันที่จ่ายคืนขั้นต่ำไปจนถึงวันสรุปยอดบัญชีครั้งหน้า สมมติว่าวันที่สรุปยอดบัญชี คือ 25 พฤษภาคม 2559
- ดอกเบี้ยส่วนที่สอง คือ 18,000 x 20% x 17/365 = 167.67 บาท ยอดเงินค้างชำระที่จะแสดงในใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตของเราในงวดต่อไปก็จะเป็นเงินต้น 18,000 บาท บวกด้วยดอกเบี้ยอีก 361.64+167.67 = 529.31 บาท
- และเมื่อจ่ายขั้นต่ำในเดือนต่อไปอีก ดอกเบี้ยก็จะคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เงินที่จ่ายจะไปลดดอกเบี้ยก่อนเหลือแล้วถึงค่อยไปลดเงินต้น
การ จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ นี้เป็นทางเลือกของคนที่รูดบัตรเครดิตแล้วไม่มีเงินมาจ่ายคืนแบบเต็มวงเงิน การ จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ เป็นการรักษาสถานะบัญชีบัตรเครดิตของเราในเป็นสถานะปกติ คือ ตราบใดที่เราสามารถจ่ายขั้นต่ำได้ ทางธนาคารก็จะไม่มีปัญหาอะไรกลับชอบเสียอีกเพราะได้ดอกเบี้ย และไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เราหยุดจ่ายคือไม่จ่ายแม้ขั้นต่ำ ในเดือนแรกนอกจากจะมีค่าดอกเบี้ยแล้ว ยังมีค่าติดตามทวงหนี้อีก อาจเป็น 200-300 บาท แล้วแต่ธนาคาร และหากค้างชำระไม่จ่ายเกินกว่า 90 วัน ก็จะถือเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ธนาคารมีสิทธิที่จะยกเลิกบัตรเครดิตของเราได้ทันที และประวัติการชำระหนี้ของเราก็จะเสียด้วย ทำให้โอกาสในการขอกู้หรือขอวงเงินสินเชื่อในอนาคตอาจไม่ได้รับการอนุมัติได้
อ่านเพิ่มเติม : หลักการคิด ดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบลดต้นลดดอก
ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตควรใช้อย่างชาญฉลาด หากเป็นไปได้ก็ควรใช้แล้วจ่ายคืนเต็มวงเงินเพื่อไม่ให้มียอดค้างเสียดอกเบี้ยแพง แต่หากไม่สามารถจ่ายเต็มได้ก็ขอให้จ่ายคืนบางส่วนหรือจะจ่ายขั้นต่ำก็ได้เพื่อให้สถานะของบัตรเครดิตเรายังดีอยู่ และเมื่อมีรายได้หรือหาเงินได้ก็ให้รีบนำมาชำระคืนให้หมดเพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่ถือว่าแพงมาก