นักลงทุนทุกคนที่ติดตามข่าวสารของหุ้นมาโดยตลอด น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อย่างแน่นอน เนื่องจากนักลงทุนท่านนี้เป็นนักลงทุนต้นแบบของการลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ซึ่งเป็นการเล่นหุ้นโดยวิเคราะห์แนวโน้มของหุ้นแต่ละตัวในอนาคตโดยไม่เน้นเก็งกำไร ซึ่งดร.นิเวศน์ได้ให้ความเห็นและ มุมมองเกี่ยวกับ RMF และ LTF ดังต่อไปนี้
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ LTF และ RMF
ดร.นิเวศน์กล่าวถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ LTF และ RMFไว้ว่า กองทุนรวมสำหรับการเกษียณอายุหรือที่เรียกว่ากองทุน RMF รวมไปถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF นั้น เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่ต้องเสียภาษี เนื่องจากว่าเงินที่ใช้ในการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและกองทุนสำหรับเกษียณอายุนั้นสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่สำหรับกองทุน RMF อาจมีข้อจำกัดสักนิด
นั่นก็คือการที่นักลงทุนจะต้องถือเงินจำนวนนั้นไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีและไม่สามารถถอนออกมาขายได้ ซึ่งบางครั้งเงื่อนไขด้านระยะเวลาอาจทำให้นักลงทุนพบกับความตึงเครียดและไม่สามารถใช้เงินได้ตามต้องการนั่นเอง สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF อาจจะมีเงื่อนไขน้อยกว่าการลงทุนในกองทุน RMF เพราะกองทุนนี้จะสามารถถอนออกมาขายได้เมื่อกองทุนอายุ 3ปี หรือ 5 ปี แต่ข้อจำกัดของกองทุน LTF คือการที่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ลงทุนในตราสารหนี้ ข้อดีของการลงทุนใน LTF คือการบริหารเงินในระยะเวลาสั้น ๆ
อีกทั้งเจ้าของหน่วยลงทุนก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนที่ตนเองต้องการตามใจชอบ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน ก็อาจเลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นพลังงานได้ ซึ่งข้อดีอีกอย่างคือแม้นักลงทุนจะมีเงินเก็บน้อยก็สามารถเลือกซื้อกองทุนทีละน้อยได้เช่นกัน แต่ทว่ากองทุน LTF ก็มีข้อเสียเพราะหากช่วงที่นักลงทุนเลือกลงทุนเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นตกอย่างยาวนาน กองทุน LTF ก็อาจจะขาดทุนได้ การลงทุนในกองทุน LTF จึงทำให้เงินต้นหายได้
เลือกอะไรดีระหว่าง RMF หรือ LTF
หลาย ๆ คนที่มีความเชี่ยวชาญในหุ้นและกองทุน มักแนะนำเสมอว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนควรเลือกลงทุนในกองทุน LFF หรือ RMFอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะสิทธิประโยชน์ได้รับนั้นคุ้มเกินคุ้ม เนื่องจากว่าการซื้อกองทุนจะทำให้ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีนั่นเอง แต่หากผู้ลงทุนมีความหวั่นเกรงว่าการลงทุนในกองทุน LTF จะนำมาซึ่งการขาดทุน ก็อาจจะเลือกเป็นกองทุน RMF ก็ได้ ข้อดีของกองทุน RMF คือมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่ความเสี่ยง 0 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
ข้อสังเกตหากเลือกลงทุนใน RMF
ดร.นิเวศน์กล่าวว่า มักมีผู้แนะนำให้ซื้อกองทุน RMF สำหรับเก็บออมเงินก้อนในวัยเกษียณ แต่ว่าแท้ที่จริงแล้ว การลงทุนในกองทุนอาจจะให้ประโยชน์น้อยกว่าการลงทุนในแบบอื่น หากผู้อ่านทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ก็เปรียบได้กับการตกหลุมพรางและพลาดการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งใหญ่ก็เป็นได้
จากคำกล่าวข้างต้น มีเหตุการณ์ตัวอย่างที่ ดร.นิเวศน์บอกไว้นั่นคือ หากนักลงทุนมีอายุ 30 ต้น ๆ และมีรายได้สูงมากจนต้องเสียภาษี 20 เปอร์เซ็นต์ แต่นักลงทุนคนนี้เป็นผู้ชอบการลงทุนระยะยาว และเก็บออมเงินไว้จำนวนหนึ่งมาโดยตลอด ซึ่งนักลงทุนผู้นี้เลือกลงทุนในกองทุน RMF ด้วยความเชื่อที่ว่ากองทุน RMF เป็นกองทุนสำหรับออมเงินในวัยเกษียณ ในทางตรงข้ามหากนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้น บางครั้งในระยะเวลาที่เท่ากัน หากนักลงทุนคัดสรรหุ้นดี ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปในอนาคตได้ ผลตอบแทนย่อมมากกว่าการลงทุนในกองทุน RMF ซึ่ง ดร.นิเวศน์สรุปว่าการลงทุนในกองทุนที่คิดว่าดีที่สุดแท้ที่จริงแล้วอาจมีการลงทุนที่ดีกว่านั้นก็เป็นได้
สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว การเลือกลงทุนในกองทุน RMF อาจจะมีข้อดีคือนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่หากว่านักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความโดดเด่น เป็นหุ้นเติบโต ผลตอบแทนที่ได้มาก็อาจจะมากกว่าเงินที่ได้จากการลดหย่อนภาษี
ข้อเสียของกองทุน RMF
การเลือกลงทุนในกองทุน RMF นักลงทุนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าบริหารประมาณปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากนักลงทุนเลือกลงทุนด้วยตนเองก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และสามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นอีกด้วย ยิ่งหากนักลงทุนมีฝีมือมากขึ้น ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมากขึ้นตามไป
บทสรุป
สำหรับบทสรุปทิ้งท้ายนั้น ดร. นิเวศน์ได้บอกว่าไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อโจมตีการลงทุนในกองทุน เพราะตัวของท่านเป็นนักลงทุนเต็มตัวอยู่แล้วและก็ซื้อกองทุนทั้งสองประเภทนี้ไว้เพื่อช่วยในการลดหย่อนภาษี โดยตัวท่านต้องเสียภาษีสูง บวกกับอายุของท่านที่มากขึ้นทำให้เวลาที่ถือกองทุน RMF ลดลง ดังนั้นจึงขอให้นักลงทุนใคร่ครวญว่าการลงทุนในรูปแบบใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักลงทุนนั่นเอง
ทั้งนี้ผู้ที่กำลังจะริเริ่มลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน LTF หรือกองทุน RMF สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนโดยพิจารณาตามเงินรายได้ที่ตนเองมี รวมไปถึงความสามารถของตนเอง บวกกับการวิเคราะห์หุ้นให้เป็น หากนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นแต่ทว่าไม่มีเวลาในการดูแลพอร์ตลงทุน หรือลงทุนตามใจชอบ ไม่อาศัยหลักการที่ถูกต้อง เงินที่คิดว่าจะเป็นผลตอบแทนก็อาจหายไปในพริบตาได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเลือกตัดสินใจลงทุนในแบบใด นักลงทุนควรสำรวจนิสัยของตนเอง เพื่อให้การลงทุนนั้นตอบโจทย์ที่ตนต้องการได้มากที่สุดและไม่เสียใจภายหลัง