การแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่ของมนุษย์เงินเดือนก็เพื่อที่คุณจะได้ทราบฐานะการเงินของตนเองอย่างง่าย ๆ ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาเพิ่มลดตามหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้การ บริหารเงิน ของมนุษย์เงินเดือนเป็นไปด้วยดีสะดวก ดูแลง่ายและมีรายได้เพิ่ม ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินคือทำอย่างไรให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย
1. หมวดรายได้
ก่อนอื่นเรามาเริ่มที่หมวดของรายได้กันก่อน โดยคุณทราบอยู่แล้วว่ามีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลัก ตรงนี้ให้ชื่อว่ารายได้จากเงินเดือน จำนวนเท่าไรนั้นให้ใส่ลงไปตามความเป็นจริง เพราะหลักการทางบัญชีแล้วจะต้องนำตัวเลขจริงมาคิดคำนวณเท่านั้น เมื่อได้รายได้จากเงินเดือนแล้ว ให้คุณสำรวจตัวเองว่ามีรายได้จากทางอื่นอะไรอีกหรือไม่ เพื่อจะทำการรวมรายได้ทั้งหมด เช่น หากคุณมีบ้านให้เช่า ชื่อบัญชีจะเรียกว่า รายได้ค่าเช่าบ้าน หรือคุณมีการขายสินค้า ก็ให้ชื่อว่า ขายสินค้า และถ้าเป็นรายได้อื่น ๆ ที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ก็ให้ชื่อเรียกว่า รายได้อื่น ซึ่งหมายถึงการได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หรือการได้รับเงินรางวัลจากการชิงโชค ถูกล๊อตเตอรี่ ก็สามารถนำมารวมกับรายได้อื่นได้ โดยสรุปหมวดหมู่รายได้ของมนุษย์เงินเดือนก็จะอยู่ประมาณนี้
- รายได้จากเงินเดือน
- รายได้ค่าเช่าบ้าน
- ขายสินค้า
- รายได้อื่น
2. หมวดค่าใช้จ่าย
ต่อไปเรามาดูหมวดค่าใช้จ่ายกันบ้างว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา โดยสามารถแยกรายการและให้ชื่อเรียกได้ดังนี้
- ค่าน้ำประปา
- ค่าไฟฟ้า
- ค่าเดินทาง เช่น การเติมน้ำมันรถ ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่ารถไฟฟ้า ค่าวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าเครื่องสำอาง ค่าเสื้อผ้า ค่าทำผม ค่าหนังสือฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ค่าผงซักฟอก ค่าน้ำยาปรับผ้านุ่ม ค่าน้ำยาล้างจาน ค่าน้ำยาถูพื้น ฯลฯ
- ค่าอาหาร เช่น ซื้อแกงถุงมากิน ไปกินก๋วยเตี๋ยว ซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกินเอง
- ค่าใช้จ่ายอื่น อาจจะนาน ๆ เกิดครั้งหนึ่งไม่บ่อยนัก เช่น ค่าเทอมลูก ค่าเสียภาษี ค่าซ่อมรถ ฯลฯ
คุณได้หมวดค่าใช้จ่ายใหญ่ ๆ แล้ว ซึ่งแต่ละหัวข้อให้คุณบันทึกจำนวนเงินที่จ่ายจริงในแต่ละหมวดหมู่ โดยทำการบันทึกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรับรู้ค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา
3. หมวดหนี้สิน
แน่นอนว่ามนุษย์เงินเดือนบางคน มีหนี้สินเป็นภาระผูกพัน หรือบางคนกำลังคิดที่จะเป็นหนี้อาจจะอยากมีบ้านมีรถซึ่งสามารถทำได้หากไม่เกินกำลังมีความสามารถในการชำระได้ โดยหมวดหนี้สินจะเรียกรวม ๆ ว่าเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้นั้นจะมีกี่รายขึ้นอยู่กับว่าคุณไปก่อหนี้ผูกพันไว้กี่รายโดยคุณอาจจะแบ่งย่อยเป็นเจ้าหนี้นาย ก. เจ้าหนี้นายข. จนครบทุกเจ้าหนี้ได้และใส่จำนวนเงินที่เป็นหนี้เอาไว้และข้อตกลงการชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายวัน ทำตารางเอาไว้ ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้ก็บันทึกจำนวนเงินลงไปและหักลบหนี้ลงมาเรื่อย ๆ ให้เห็นหนี้สินสุทธิในแต่ละครั้ง คุณก็จะเริ่มเข้าใจว่าหนี้แต่ละตัวนั้นมีที่มาอย่างไร และหากย้อนเวลาไปได้คุณคงไม่อยากจะมีหนี้ตัวนี้เลย แต่อย่างน้อยการทำอย่างนี้จะทำให้คุณรู้ตัวและรู้ฐานะการเงินมากขึ้น
เพื่อให้การบริหารการเงินทำได้ดีและบรรลุวัตถุประสงค์ คุณสามารถนำรายการบัญชีที่คุณบันทึกไว้ในทุกหมวดนั้นมาปรับเพิ่มและลดด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้มีเงินเก็บหรือมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายนั้นเอง สำหรับวิธีการเพิ่มลดมีดังนี้
- ในหมวดของรายได้ คุณสามารถเพิ่มรายได้จากเดิมได้หลายวิธี เช่น การมองหาอาชีพเสริม การลงทุนต่าง ๆ ซึ่งคุณควรแน่ใจก่อนที่จะลงทุนโดยการศึกษาสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยต่าง ๆ ให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วแทนที่จะเพิ่มรายได้กลับกลายเป็นเพิ่มหนี้สินหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายไป
- ในหมวดของค่าใช้จ่าย คงจะต้องปรับลดอย่างเดียวถึงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับในเรื่องของค่าน้ำค่าไฟนั้นคุณสามารถเรียนรู้ที่จะประหยัดได้อีก เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 การใช้ไฟในจุดที่ควรใช้หากไม่ใช้ก็ควรปิดไว้ เป็นต้น ในเรื่องของค่าเดินทางบางคนเปลี่ยนจากใช้รถยนต์ส่วนตัวก็ใช้รถโดยสารประจำทางไปทำงานแทนซึ่งประหยัดเงินไปได้มากทีเดียว หรือเปลี่ยนจากใช้มอเตอร์ไซค์เป็นใช้จักรยาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในหมวดต่าง ๆ หากคุณตั้งใจจะลดลงก็สามารถทำได้ทันทีและเห็นผลทันทีด้วยเช่นกัน
- สำหรับหนี้สินในหมวดนี้ เห็นทีจะต้องทำให้ลดทางเดียวโดยอย่าเพิ่งสร้างหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม ควรผ่อนชำระอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ไม่โดนปรับค่าธรรมเนียม หากมีเงินมากพออาจชำระมากกว่าเงินขั้นต่ำได้และควรหาทางปิดบัญชีให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าดอกเบี้ยซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว
การ บริหารเงิน ด้วยการแบ่งหมวดหมู่ของเงินจะทำให้ง่ายต่อการมองเห็นและการบริหารได้ง่ายขึ้น หากเป็นรายได้ก็ต้องหาทางทำให้เพิ่มขึ้นอีกจากเงินเดือนประจำ หากเป็นหมวดค่าใช้จ่ายก็ทำอย่างไรให้ลดลงมากที่สุดจนเหลือเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ในส่วนของหมวดหนี้สินก็ต้องหยุดสร้างหนี้ไว้ก่อนและทำให้หนี้สินลดและหมดไปโดยเร็วจะได้เป็นไทหรือเป็นอิสระ ซึ่งเมื่อคุณคิดหาวิธีการหนทางก็จะตามมา
เรื่องเงินนี่ปล่อยไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำการบริหารไม่ได้เลยนะคะ ให้เราควบคุมการเงินได้ มิใช่ให้เงินมาควบคุมเรา คล้าย ๆ กับการให้เงินทำงานให้เลยนะคะ