มนุษย์เงินเดือน หมายถึงลูกจ้างประจำที่ทำงานอยู่ในบริษัทและองค์กรต่าง ๆ บริบทของการเป็นมนุษย์เงินเดือนค่อนข้างจะถูกตีกรอบไว้อย่างชัดเจนด้วยข้อจำกัดภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าและออกงานตามเวลา การทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาปรับปรุงหรือพัฒนาศักยภาพของตนเอง ค่าตอบแทนไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือการก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไม่ได้หรือขึ้นได้แต่ยากหรือต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ความสามารถนานเกินไป
การเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด ยังมีข้อดีในบางส่วนด้วยเช่นกัน เช่น พนักงานหรือมนุษย์เงินเดือนทำงานประจำนั้นมีรายรับต่อเดือนแน่นอนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีสวัสดิการดี เช่น ประกันสังคม ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ โบนัส ค่าโอที ค่าเดินทาง การสัมมนา รวมไปถึงมีวันลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย
อย่างไรก็ดี มนุษย์เงินเดือน หลายคนเสียโอกาสพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพ เนื่องจากไม่ค่อยตั้งใจและทุ่มเททำงาน ไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้การก้าวหน้าในอาชีพมีน้อย เมื่ออายุงานผ่านไป ผลงานและหน้าที่ความรับผิดชอบยังเท่าเดิม ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จึงก่อให้เกิดความท้อแท้ในอาชีพการงานที่ดูเหมือนว่าจะไม่เดินไปข้างหน้า มีเพียงการเดินย่ำอยู่กับที่ ทำให้รู้สึกด้อยค่า เกิดความเครียด อึดอัดคับข้องใจ ไม่มีความสุขกับการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาว บวกกับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่หมั่นพัฒนาตนเอง นำเสนอผลงานอันมีประโยชน์ต่อบริษัท ทำให้พวกเขาก้าวแซงหน้าไป ยิ่งทำให้ตนเองรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จกับหน้าที่การงานเอาเสียเลย
มนุษย์เงินเดือนหลายคนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตหรือไม่ได้วางแผนการใช้ชีวิตการทำงานแบบพัฒนาไปข้างหน้า จึงทำงานเป็นลูกจ้างไปเรื่อย ๆ เสียโอกาสหาเวลาศึกษาต่อ หรือเรียนเสริมภาษาต่างประเทศ หรือวางแผนชีวิตออกไปทำงานอิสระ ในขณะที่คนอื่นวางแผนชีวิตเร็วและก้าวหน้าไปไกลแล้ว
มนุษย์เงินเดือน บางคนเปลี่ยนงานบ่อย บางคนไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ทั้งสองแบบมีข้อดีและข้อเสีย การเปลี่ยนงานบ่อยปีละครั้งสองครั้งมีผลเสียในระยะยาว เพราะประสบการณ์ชีวิตในหน้าที่การงานยังน้อยอยู่ ไม่เพียงพอต่อการหางานใหม่ที่มีตำแหน่งสูงกว่า การประกอบอาชีพนั้นควรศึกษางานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปีเพื่อให้ได้เรียนรู้การทำงาน สั่งสมประสบการณ์ และพัฒนาปรับปรุงงานทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก่อนก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ประสบการณ์การทำงานอันยาวนานในองค์กรต่างๆยังเป็นตัวพิสูจน์ความอดทนของมนุษย์เงินเดือนคนนั้นว่าเป็นคนที่มีความอดทนต่อหน้าที่การงานหรือไม่อีกด้วย ซึ่งความอดทนนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการรับสมัครพนักงานของแต่ละบริษัทรวมถึงเป็นตัวนำไปวิเคราะห์การเลื่อนตำแหน่งว่าบุคคลนั้นมีความสามารถพอที่จะรับมือกับงานรูปแบบเดิมๆซ้ำๆกันและงานที่ต้องพัฒนาสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องหรือไม่
ส่วนลูกจ้างที่ทำงานอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานจนเกินไป อยู่ในสังคมและสภาพแวดล้อมเดียว อาจเสียโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสียโอกาสเปลี่ยนงานในจังหวะเหมาะสมเพื่อที่จะได้ทำงานในบริษัทที่ดีและเสนอเงินเดือนให้สูง พอคิดจะเปลี่ยนงานก็ไม่เห็นทางที่จะโยกย้ายไปประกอบอาชีพอื่นหรือทำได้ยากแล้ว เพราะเงินเดือนสูง อายุงานมาก ไม่มีงานที่เหมาะสมกับอายุตัวและอายุงาน
อ่านเพิ่มเติม >> ทำไมคนถึง ออกจากงาน ทั้งๆที่เศรษฐกิจไม่ดี ? <<
มนุษย์เงินเดือน ที่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ถึงแม้จะดูเป็นบุคลากรที่มีความรักและซื่อสัตย์ต่อองค์กรก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยจำกัดอยู่เพียงในบริษัทหรือในวงแคบอาจจะไม่ได้นำประโยชน์เข้ามาช่วยเสริมพลังให้กับการพัฒนาองค์กรมากนัก แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ดี เพราะบุคคลทุกคนสามารถมีพัฒนาการได้เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับการค้นคว้าและการเอาใจใส่ของแต่ละบุคคลมากกว่า
ความสำเร็จตามความฝันไม่ได้หมายความถึงมีรายได้มากกว่าเดิม แต่หมายถึงมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น มีเวลาอยู่ใกล้ชิดครอบครัว โอกาสแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ความจริงแล้วการเป็นมนุษย์เงินเดือนทำให้มีความสุขได้หากรู้จักจัดสรรเวลา ปรับทัศนคติในแง่บวกต่อการทำงาน รวมไปถึงวางแผนการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนในระยะยาวเพื่อขยับขยายไปเปิดธุรกิจทำงานที่ตนเองรักในอนาคตได้
เมื่อมนุษย์เงินเดือนรู้สึกว่ามาถึงทางตัน จึงตัดสินใจเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนงานโดยมากหมายถึงการเปลี่ยนที่ทำงาน หรืออาจหมายถึงการเปลี่ยนลักษณะงานก็ได้ การเปลี่ยนงานเพื่อไปทำงานที่ดีกว่า ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เติบโตในหน้าที่การงาน เรียนรู้เพิ่มประสบการณ์จากตำแหน่งงานใหม่ เงินเดือนดีกว่า และมีความมั่นคงมากกว่า อาจเป็นการเริ่มอาชีพใหม่ที่ชอบมานานหรือทำในสิ่งที่เรียนมา
ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงานต้องพิจารณารอบคอบและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ หากการลาออกด้วยเหตุผลว่าเจ้านายไม่ชอบ เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ หรือมีความสามารถด้อยกว่าคนอื่น ทั้งที่ยังมีความสุขกับการทำงาน รักงานที่ทำอยู่ การตัดสินใจหนีปัญหาดังกล่าวอาจผิดพลาด ทำให้สูญงานดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากปัญหาต่างๆเหล่านี้สามารถแก้ไขได้
ช่วงกำลังตัดสินใจเปลี่ยนงานถือเป็นจุดลังเลของชีวิต หลายคนยึดติดอยู่กับความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่เดิม เมื่อไม่ยอมก้าวออกไปพบกับสิ่งใหม่และปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ยิ่งขาดความมั่นใจที่จะออกไปประกอบอาชีพใหม่ บางคนมีเหตุผลด้านภาระหนี้ เช่น ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ที่ฉุดรั้งให้หาจังหวะเปลี่ยนงานยาก ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการจะเปลี่ยนงานควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนงานคือควรเตรียมแผนการให้รอบคอบ ต้องแน่ใจว่าเมื่อก้าวออกจากที่ทำงานเดิมจะต้องมีงานที่ใหม่รองรับ มีรายได้อย่างแน่นอน ไม่เคว้งคว้างกลางอากาศ และรายได้รับจากที่ใหม่ต้องครอบคลุมรายจ่ายด้วย
ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในช่วงตัดสินใจเปลี่ยนงาน เริ่มจาก
- การเขียนเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของงานปัจจุบัน โดยลำดับไปทีละข้อ เช่น เงินเดือน ปริมาณงาน โอกาสก้าวหน้า การเดินทาง หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน สวัสดิการ เป็นต้น หลังจากนั้น
- เขียนเป้าหมายความเป็นไปได้ในอนาคต อาจจะ 2 ปี 5 ปีข้างหน้า เรียงไปทีละหัวข้อ เพื่อให้เดินตามแผนที่ได้ตั้งเอาไว้
- ขั้นตอนต่อไปคือเขียนข้อมูลข้อเสนอของบริษัทใหม่ ตามด้วยเป้าหมายความเป็นไปได้ในอนาคต เช่นเดียวกับงานแรก
- แล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าต้องการทำงานไหนมากกว่ากัน งานใดทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มีความสุขขึ้น มองหาสิ่งดี ๆ ที่ทำให้มีความมั่งคั่งและมั่นคงต่อไปในอนาคต
เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนงานแล้ว การลาออกเป็นขั้นตอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในชีวิต ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มนุษย์เงินเดือนตัดสินใจลาออกจากงาน พิจารณาได้ 3 แง่มุม คือ
ข้อแรกคือความสุข
เริ่มต้นจากการทำงานที่รัก มีความถนัด มีความกระตือรือร้นให้งานออกมาสำเร็จและมีประสิทธิภาพ เพื่อนร่วมงานและหัวหน้านิสัยและอัธยาศัยดี การพิจารณาผลงานมีความเป็นธรรม มีช่วงเวลาพักผ่อนกับครอบครัวอย่างเหมาะสม ค่าตอบแทนน่าพอใจ รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนอื่น ๆ ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในชีวิต
ข้อที่สองคือความทุกข์
เกิดจากความเบื่อหน่ายงานที่ไม่มีโอกาสก้าวหน้า ระบบการทำงานที่จำกัดทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์กร แรงกดดันของหัวหน้า การคาดหวังประสิทธิภาพสูงแต่จำกัดอิสรภาพไม่ให้ใช้ศักยภาพสูงสุด ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนแล้ว รายได้ไม่พอจ่ายค่าครองชีพ เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ งานมากจนไม่สามารถแบ่งเวลาให้ครอบครัว
ข้อที่สามคือมีตำแหน่งงานใหม่ที่ดีกว่ารออยู่
เป็นงานที่มีความชอบและความถนัดมากกว่า ขณะที่งานในปัจจุบันไม่ถนัด ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้สร้างงานที่มีประสิทธิภาพได้ การออกไปหางานใหม่ที่มีความชอบและความถนัดมากกว่าจึงน่าจะสร้างโอกาสให้ประสบความสำเร็จในการทำงานได้ดีกว่า
ก้าวออกจากงานประจำเร็วขึ้นเท่าไร ยิ่งมีโอกาสแสวงหาหนทางประกอบอาชีพอื่นและประสบความสำเร็จตามความฝันเร็วขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี การตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงานอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกเสมอไป แต่การรู้จักพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยพัฒนาระบบงานเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณก้าวไปข้างหน้าได้ดีที่สุด เพราะอุปสรรคเป็นบทพิสูจน์คุณค่าความสามารถ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะต้องมองหางานใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งไม่มีงานใดๆในโลกที่ไม่ต้องการการพัฒนา