ปัจจุบัน ตามธนาคารต่างๆมีแคมเปญโปรโมชั่นมากมายที่คอยดึงดูดให้เราไปเปิดบัญชีด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจแตกต่างกันมาเป็นจุดขาย แต่น้อยนักที่จะบอกเงื่อนไขต่างๆกับผู้บริโภคจนหมดเปลือก นอกจากจะตามอ่านเอาเองในแผ่นโบชัวร์หรือเอกสารที่เป็นอักษรตัวเล็กๆลายตาจนน่ามองผ่าน ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัวเราก็ตกเป็นผู้เสียผลประโยชน์ในบางเรื่องไปเสียแล้ว
วันนี้เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการ ฝากเงิน ในธนาคารมาฝากกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
-
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สูงกว่าดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์เสมอ
สองรูปแบบบัญชีนี้มีข้อแตกต่างกันเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น อันดับแรกเลยก็คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่ามาก ถ้านับตามระยะเวลาที่เท่ากัน รวมไปถึงค่าธรรมเนียมรายปีต่างๆอีกด้วย ซึ่งก็น่าสนใจกว่าการฝากแบบออมทรัพย์มากทีเดียว แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมฝากแบบนี้ก็เพราะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ก่อนกำหนด หรือถอนได้แต่จะไม่ได้ดอกเบี้ยใดๆ เลย ซึ่งการฝากแบบนี้จะเหมาะกับคนที่ต้องการเก็บออมเงินโดยเฉพาะนั่นเอง
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้น มีค่ารักษาบัญชี และค่าบริการบัตร ATM รายปี ซึ่งตกปีหนึ่งขั้นต่ำๆหลายร้อยถึงหลายพันบาท ตรงกันข้ามกับบัญชีเงินฝากประจำ ที่มีเพียงค่าธรรมเนียมรายปีที่น้อยกว่า และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในบริการด้านอื่นเพิ่มอีก แต่กลับได้ดอกเบี้ยที่สูงมาก เพียงแค่ฝากเงินตรงเวาและครบตามกำหนด และไม่ถอนเงินออกก่อนกำหนดเท่านั้น
-
ยิ่งเงินในบัญชีเหลือน้อย ก็จะยิ่งถูกหักค่าธรรมเนียมมากขึ้น
เพราะในมุมมองของธนาคาร บัญชีเงินฝากที่มีจำนวนเหลือน้อย และไม่มียอดเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นภาระและมีค่าใช้จ่าย จึงมีการหักค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีตามอัตราที่ทางธนาคารกำหนดในทุกๆเดือน ซึ่งจะถูกหักไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ไม่มีการเคลื่อนไหวในบัญชี และเมื่อถูกหักจนยอดเงินเหลือ 0 บัญชีนั้นก็จะถูกปิดลงในทันทีตามเงื่อนไขที่ทางธนาคารกำหนดไว้
อัตราการหักค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีของแต่ละธนาคาร โดยส่วนใหญ่แล้ว จะถูกหักที่ 50 บาท/เดือน เฉพาะบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว 1 ปีขึ้นไป และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 2,000 บาท อาจมีบางธนาคารที่ตั้งเรทราคาไว้สูงถึง 100บาท/เดือนก็มี เพราะฉะนั้นควรฝากเงินไว้ในบัญชีให้เกินยอดที่เขากำหนดเสมอ เพื่อลดค่าธรรมเนียมที่อาจจะถูกหักออกไปนั่นเอง
-
ทางธนาคารมีสิทธิ์หักเงินในบัญชีเราเพื่อชำระหนี้ได้เสมอ
หากคุณเกิดหนีหนี้ เบี้ยวหนี้ จากเจ้าหนี้รายใดก็ตาม ถ้าทางเจ้าหนี้ตามตัวคุณไม่ได้และได้รับคำอนุญาตจากศาลแล้ว พวกเขาก็มีสิทธิ์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของคุณได้ตามกฏหมาย โดยที่ทางธนาคารไม่ต้องขออนุญาตจากเรา เนื่องจากมีเงื่อนไขตั้งแต่ตอนที่เราไปเปิดบัญชีครั้งแรก ตามข้อสัญญาที่ว่า “หักกลบลบหนี้ หรือ (set-off)” นั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีหนี้ก็อย่าหลบหนีหนี้เป็นอันขาดเลยนะ เพราะอย่างไรซะหากในบัญชีของคุณมีเงินอยู่เขาก็สามารถที่จะหักเงินออกไปจากบัญชีของคุณได้ในทันทีนั่นเอง หรือถ้าให้ดีก็อย่ามีหนี้จะดีกว่านะ
-
เปิดบัญชีที่ไหน ต้องปิดบัญชีที่นั่น
ยุคนี้ ความสะดวกสบายทำให้หลายคนเข้าใจระบบการทำงานของธนาคารแบบผิดๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดและปิดบัญชีเงินฝาก ซึ่งที่ถูกต้องคือ เปิดบัญชีที่สาขาไหน ต้องไปปิดบัญชีที่สาขานั้น เนื่องจากฐานข้อมูลการรับฝากเงิน และการทำธุรกรรมต่างๆอยู่ที่ธนาคารต้นสาขาทั้งหมด ซึ่งธนาคารที่เปิดบัญชีให้กับคุณ จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องยอดเงินคืนและความเสี่ยงทั้งหมดนั่นเองค่ะ ดังนั้นหากคิดจะปิดบัญชี ควรไปปิดบัญชีที่สาขาที่คุณเปิดเอาไว้จะดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง และเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากหลยขั้นตอนนั่นเอง
-
ทำไมเงินฝากบัญชีประจำจึงห้ามถอนก่อนกำหนด
เพราะในเงื่อนไขสัญญาระหว่างลูกค้าและทางธนาคารคือ กำหนดยอดเงิน และระยะเวลาในการฝากไว้ตามแต่จะตกลงกัน โดยที่ทางธนาคารจะเป็นฝ่ายปันผลตอบแทนเจ้าของบัญชีด้วยการให้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษที่ระบุไว้ในเงื่อนไขท้ายบัญชี
ตรงกันข้าม หากทางเจ้าของบัญชีถอนเงินฝากออกก่อนกำหนด ถือว่าผิดสัญญาตามข้อตกลง ทางธนาคารมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลนั้นๆให้แก่เจ้าของบัญชี แต่จะคืนเงินต้นให้ทั้งหมด พร้อมเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่คงเหลือจากการหักค่าธรรมเนียมแล้ว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทางธนาคารกำหนดไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อความเสมอภาคกัน คือหากคุณฝากเงินได้ครบตามกำหนดเวลาคุณก็จะได้ดอกเบี้ยที่สูงตามที่ตกลงไว้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการฝากเงินออมโดยเฉพาะนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม >> เลือก บัญชีเงินฝาก ยังไงให้เหมาะกับการออมมากที่สุด! <<
ทั้งหมดนี้ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆและค่าธรรมเนียม เพื่อให้คุณได้รู้ข้อมูลและรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเองไว้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องตั้งคำถามกับคนรอบข้างที่อาจทราบข้อมูลไม่ละเอียดเพียงพออีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวของธนาคารยังไม่หมดเท่านี้ แต่ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเช็คและอีกมากมาย ซึ่งเราจะพูดถึงในบทความต่อไป โดยคุณสามารถหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมได้เลยครับ