รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนในประเทศที่มีอายุเข้าเกณฑ์ที่กำหนดได้รับการศึกษาฟรีเป็นระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมถึง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ( ปวช.) และระดับการศึกษานอกโรงเรียน ( กศน.) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ต้องการศึกษาทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น เครื่องแบบแต่งกาย อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเด็กบางกลุ่มเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายก็ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพราะไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน ทำให้เราเห็นภาพที่คุ้นชินที่วัยรุ่นซึ่งมีอายุตั้งแต่ 11-21 ปี บางกลุ่มจะต้องพยายามหารายได้เสริมพิเศษเพื่อเป็นเงินออมสะสมใช้เป็นทุนการศึกษาต่อไป
การออมเงินนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของกลุ่มวัยรุ่นที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้มีความพร้อมเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศอย่างมั่นคง ซึ่งวิธีการออมเงินเพื่อปูทางเข้าสู่การเรียนต่อในประเทศ มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม >> เตรียมตัวเตรียมใจ ออมเงิน เรียนมหาลัย <<
1.เริ่มต้นวางแผน
กิจกรรมใด ๆ ก็ตามจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องเริ่มด้วยการวางแผนเพื่อเป็นแนวทางช่วยให้สามารถเดินไปสู่เป้าหมาย ไม่พลาดพลั้งต่อสิ่งเร้าอื่น ๆ หรือสิ่งกระตุ้นนอกจุดประสงค์หลักอันจะทำให้แผนการแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ โดยการวางแผนการออมเงินต้องดำเนินการ 3 อย่าง คือ
1.1 วางแผนการใช้จ่าย
เริ่มด้วยการจดบันทึกรายจ่าย การจดบันทึกทำให้ทราบรายการและจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละวัน ทราบว่าใช้เงินไปกับส่วนใดมากที่สุด ซึ่งจะทำให้สามารถสรุปพฤติกรรมการจับจ่ายของตนเองได้ นั่นทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่าย โดยการปรับลดหรือหยุดใช้จ่ายเงินในส่วนที่ไม่จำเป็น ทำให้เงินที่ได้มาเพียงพอใช้ในแต่ละวัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้มีเงินเหลือเพื่อใช้ในวันต่อไปหรือเก็บไว้เป็นเงินออม
1.2 วางแผนหาแหล่งที่มาของรายรับ
แหล่งที่มาของรายรับเป็นสิ่งที่สามารถสร้างเงินออมได้ทางหนึ่ง เช่น เงินที่ได้จากผู้ปกครอง ซึ่งหากวัยรุ่นเก็บสะสมเงินดังกล่าว ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ก็จะมีเงินเหลือเพื่อเก็บสะสมต่อไป หรือเงินที่ได้จากการหาด้วยตนเอง เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความคิดก้าวไกล คิดแตกต่าง กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ หากวัยรุ่นหารายได้เสริมจากสิ่งที่ตนเองสนใจ สิ่งที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจ ก็จะทำให้วัยรุ่นมีรายได้พิเศษที่สามารถเก็บไว้เป็นเงินออมได้
1.3 วางแผนหาแหล่งเพิ่มค่าเงินออม
เงินออมสามารถสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นได้ เพียงแต่ต้องศึกษาแหล่งการลงทุน เลือกการลงทุนและกระจายการลงทุนให้เหมาะสม โดยแหล่งการลงทุนมีหลายแห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งการลงทุนในแต่ละแห่งย่อมมีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรตัดสินใจเลือกการลงทุนภายใต้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยไม่อิงกับความรู้สึกของตนเองมากจนเกินไปเพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ
-
ลงมือปฏิบัติ
สิ่งที่วัยรุ่นสามารถทำได้เพื่อสร้างการออมเงิน มีดังนี้
2.1 ทำงานพิเศษที่ตนเองมีความถนัดหรือที่ตนเองสนใจ
เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำให้สำเร็จ เช่น ประดิษฐ์งานศิลปะ รับจ้างถ่ายภาพ ออกแบบงานตกแต่งในคอมพิวเตอร์ รับสอนพิเศษในวิชาที่ตนเรียนมา สอนศิลปะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ยึดเป็นอาชีพหลักในอนาคตก็เป็นได้ อีกทั้งยังเป็นการสะสมประสบการณ์การทำงานไปด้วยในตัว
2.2 การสร้างวินัยทางการเงิน โดยลงมือทำตามแผนการที่วางไว้
เช่น ใช้จ่ายเงินตามรายการที่ได้กำหนดไว้ สร้างพฤติกรรมพกเงินให้น้อยที่สุดเพื่อลดการใช้จ่ายกับสิ่งของฟุ่มเฟือย พยายามอย่างแวะเวียน เฉียดเข้าใกล้แหล่งที่ต้องเสียเงิน (ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านเกม ร้านกิ๊ฟช็อป ฯลฯ) อย่าเลียนแบบผู้ที่ชื่นชอบ ดาราที่ชื่นชอบ เนทไอดอลที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าการแต่งกาย เครื่องประดับ ทรงผม เพราะนั่นย่อมเป็นสิ่งที่ต้องแลกด้วยเงินออมในอนาคตทั้งสิ้น
2.3 ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
โดยเน้นการฝากเงินประจำกับธนาคาร เนื่องจากดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์และยังทำให้ลดพฤติกรรมการเบิกถอนตามใจ เพราะหากถอนก่อนครบกำหนด จะทำให้ได้ผลตอบแทนลดลง ซึ่งเงินฝากที่ควรออม เช่น เงินฝากประจำ 6 หรือ 12 เดือน เงินฝากประจำ 24 เดือน (แบบไม่เสียภาษี) เงินฝากประจำพิเศษที่มีสิทธิ์ถอนได้เพียง 1 ครั้งต่อเดือน เป็นต้น
2.4 ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางและสูง
เช่น กองทุน หุ้นสามัญ หุ้นกู้ ทองคำ เป็นต้น ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูงแต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วย หากศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างละเอียดและมั่นใจกับภาวะตลาด การลงทุนประเภทนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถสร้างเงินออมได้มากและรวดเร็ว
-
การติดตามผลเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการออมให้เหมาะสม
เมื่อได้ลงมือออมเงินแล้ว วัยรุ่นควรติดตามผลการออมเงินเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น หากออมเงินโดยฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว แม้จะคุ้มครองเงินต้นทั้งหมดแต่ผลตอบแทนที่ได้จะต่ำ ดังนั้นหากต้องการผลตอบแทนสูงขึ้น ควรกระจายการออมเงินไปส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้น หากสามารถรับความเสี่ยงได้ ควรเปลี่ยนประเภทการลงทุนโดยลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีหรือไม่ลงทุนใด ๆ เลย แต่นำเงินออมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่ถนัด เช่น ทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้
อ่านเพิ่มเติม >> วางแผน ออมเงินเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ <<
หากวัยรุ่นนำ 3 ขั้นตอนออมเงิน ไปประยุกต์ใช้กับการออมในแนวทางของตนแล้ว ย่อมทำให้วัยรุ่นมีทุนออมเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเองในระดับการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศได้