พอร์ตทางการเงินของเรา หรือเรียกอีกมุมหนึ่งว่า การวางแผนทางการเงินของเรานั้น เรื่องของการทำประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ และประกันในทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีในการวางแผนทางการเงินของเรา ปัจจุบันโฆษณาเกี่ยวกับประกันก็มีมากมายเต็มไปหมด หนังโฆษณาชวนเชื่อบางเรื่องทำได้น่ารักน่าสนใจ ดูแล้วอยากโทรไปซื้อประกันทันที แต่บางทีโฆษณาประกันทางทีวีก็บอกไม่หมด เน้นแต่เรื่องง่ายๆดีๆ แต่เงื่อนไขบางข้อที่สำคัญกลับไม่ได้บอก ประมาณว่ากั๊กไว้ แต่ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันไว้บ้าง ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาที่เกินจริง เรียกว่าไม่ได้เคลิ้มไปตามคำชี้ชวน
1 ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เป็นรูปแบบประกันที่เน้นการออมเงินเพื่อการเกษียณ คือต้องจ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ เช่น 55 ปี 60 ปี 65 ปี ตามแต่แบบกำหนด หลังจากเกษียณแล้วจะได้เงินคืนทุกปี จนครบ อายุตามที่แบบกำหนด เบี้ยประกันแพง ข้อดีคือ จ่ายผลตอบแทน มีเงินคืน ผลตอบแทนต่ำ การคุ้มครองต่ำ เหมาะกับคนที่ต้องการสร้างวินัยการออม
2 ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน
เป็นการประกันที่ให้เรานำเบี้ยส่วนหนึ่งไปลงทุน เบี้ยอีกส่วนเป็นเบี้ยของประกันชีวิต สามารถกำหนดวงเงินและระยะเวลาทำประกันได้เอง เบี้ยประกันถูก ข้อดีคือมีอิสระในการกำหนดวงเงินและระยะเวลาเอง ต้นทุนประกันจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เหมาะสำหรับคนที่ชอบกำหนดความคุ้มครองด้วยตนเอง
3 ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
เน้นการคุ้มครองระยะสั้น เลือกช่วงเวลาในการจ่ายเบี้ยได้ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี เบี้ยประกันถูกที่สุด เลือกระยะเวลาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ เป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง ไม่มีเงินคืน เหมาะกับคนที่ชอบคุ้มครองระยะสั้น
4 ประกันแบบสะสมทรัพย์
เป็นประกันที่เน้นการออมเงิน มีทั้งแบบสั้น กลาง และยาว จุดเด่นคือ เป็นการออมที่มีเป้าหมายชัดเจน ความเสี่ยงต่ำ ข้อด้วยคือ ทุนประกันไม่สูง จึงไม่เหมาะที่จะทำเพื่อความคุ้มครอง เป็นการบังคับลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างวินัยการออมเงิน
5 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
เป็นการประดันที่เน้นความคุ้มครองระยะยาว ส่วนใหญ่จะไม่มีเงินคืนระหว่างช่วงเวลาประกัน ข้อดีคือ เบี้ยถูก คุ้มครองนาน แต่สามารถปิดกรมธรรม์เพื่อขอเงินคืนได้ เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองในระยะยาว
สรุปได้ว่า ประกันแต่ละประเภทมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นกับผู้ทำประกันว่าจะเลือกแบบไหนให้เหมาะกับงบประมาณและวงเงินของตัวเอง ประกันแบบที่คล้ายกับการออมเงินมากที่สุดคือ ประกันแบบสะสมทรัพย์ อีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกันคือ ประกันแบบบำนาญ ที่บังคับให้สร้างวินัยในการออม เช่นกัน จะเห็นว่าการวางแผนทางการเงินไม่ใช่แค่คิดว่าจะเอาเงินไปลงทุนอะไรบ้าง แต่เป็นการมองภาพรวมเกี่ยวการเงินในชั่วชีวิตของเราและอาจวางแผนเผื่อไปถึงลูกหลานและกองมรดกด้วย การทำประกันชีวิตช่วยได้ทั้งเรื่องของการป้องกันเสี่ยงโดยได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่างๆ และยังช่วยสร้างวินัยทางการโดยบังคับให้เราต้องออมตามเงื่อนไขสัญญาของกรมธรรม์
แต่ทั้งนี้ต้องรู้จักจัดการเงินให้สมดุลกับรายรับและรายจ่ายของเรา ไม่ทำประกันในวงเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยมากเกินไป หรือทำประกันหลายประเภทหลายแบบเกินไป จนเป็นภาระที่หนักอึ้งหรืออาจถึงขั้นเป็นหนี้ได้ ประกันมีข้อดีในแง่บริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตการเงินการลงทุนให้กับชีวิตของเราและยังหมายรวมถึงลูกหลานและบุคคลในครอบครัวของเราด้วย การทำประกันมีความจำเป็น แต่จะทำมากหรือทำน้อยนั้น ขึ้นกับรายรับรายจ่ายของเรา ควรเลือกทำให้พอดี ไม่มากเกินและไม่น้อยเกินไป แต่จำเป็นต้องทำ