แน่นอนว่าทุกคนที่มีเงินกู้บ้านอยู่ก็คงจะอยากมีความสามารถในการชำระหนี้คืนตามกำหนดของธนาคาร จนกว่าจะครบสัญญา และสุดท้ายบ้านก็จะกลายเป็นของเราอย่างเต็มตัว คนที่ผ่อนบ้านอยู่ต่างก็รอคอยวันเวลาที่เราจะได้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่เราผ่อนที่เป็นบ้านที่เราอยู่อาศัยกันทุกคน แต่ความแน่นอนก็คือไม่แน่นอนบนโลกใบนี้ เนื่องจากหนี้กู้บ้านเป็นหนี้ก้อนใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาในการคืนที่ค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น ระยะเวลาที่ยาวนานนั้นทำให้อาจมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันกับชีวิตของคนเราได้เช่นกัน
เมื่อเราต้องเดินทางมาถึงจุดที่เราไม่อยากจะเจอ ก็คือ ผ่อนบ้านไม่ไหว อาจจะด้วยเจอพิษเศรษฐกิจทำให้รายได้ลดลงหรือตกงานเพราะบริษัทเลิกจ้าง แม้จะพยายามหางานใหม่ทำหรือหารายได้เพิ่ม แต่ดูแล้วคิดว่าไม่น่าจะรอดแน่ ๆ ที่ต้องผ่อนรายเดือนก็เป็นจำนวนเยอะอยู่ แถมระยะเวลาที่จะต้องคืนก็อีกตั้งยาว เมื่อเริ่มมีสัญญาณของการผ่อนหนี้บ้านไม่ไหว ก็ต้องเริ่มมีการวางแผนแล้วว่าจะทำอย่างไรกันดี
จะบอกว่าอย่าเครียดก็คงจะไม่ได้ หากเราเป็นหนี้ก้อนใหญ่ขนาดนั้นแล้วยังมีปัญหาจ่ายคืนไม่ไหว เป็นใครก็คงต้องกังวลกันแน่นอน แต่ก่อนอื่นขอให้เราตั้งสติ กังวลได้แต่ก็ต้องวางแผนรับมือด้วย เริ่มคิดทบทวนถึงปัญหาทางการเงินของเราก่อนว่า เป็นปัญหาระยะสั้นชั่วคราวหรืออาจเป็นปัญหาระยะยาวถาวรแบบต่อเนื่องไป เพราะมันมีผลกับวิธีการในการแก้ปัญหาของเราด้วย
ขอประนอมหนี้
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเริ่มมีปัญหาไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด ก็คงจะต้องเป็นการเข้าไปพูดคุยปัญหากับเจ้าหนี้ก่อน บอกให้ธนาคารรู้ว่าเรามีปัญหาไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้ธนาคารเสนอแนะวิธีที่จะสามารถช่วยเหลือเราได้ ด้วยการพูดคุยกัน เช่น ธนาคารอาจถามว่าเราสามารถผ่อนคืนได้เหลือเดือนละเท่าไหร่ สิ่งที่ธนาคารจะช่วยเราได้บางครั้งก็คือการพักชำระดอกเบี้ยไว้ 1 ปี และปรับค่างวดที่ต้องผ่อนให้เหลือต่ำลงเท่าที่เราจะพอจ่ายไหว หากปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นกับเราเป็นปัญหาระยะสั้นหรือชั่วคราว วิธีนี้ก็อาจเป็นวิธีที่ดี เนื่องจากไม่มีผลกระทบอะไร เพียงแค่เราให้ธนาคารช่วยปรับโครงสร้างการชำระหนี้ของเราให้น้อยลงและยาวขึ้น
ประกาศขายบ้าน
หากปัญหาทางการเงินของเราเป็นเรื่องใหญ่และถาวร ในอนาคตอันใกล้นี้เราน่าจะยังไม่สามารถมีเงินมาจ่ายเงินกู้บ้านได้อย่างแน่นอน ก็ควรคิดถึงเรื่องการขายบ้านออกไป โดยให้เริ่มประกาศขายบ้านในขณะที่ก็ต้องอย่าขาดส่งค่างวดบ้าน เพราะหากเราขายบ้านได้สำเร็จก็จะมีเงินมาปิดหนี้บ้านได้ แถมหากขายได้ราคาดี บางครั้งอาจมีกำไรด้วย ไม่ต้องมีประวัติหนี้เสียหรือถึงขั้นโดยยึดบ้าน แต่หากเราต้องการขายบ้านออกไปได้เร็วหรือบ้านเราอยู่ในทำเลไม่ได้ดีนัก ขายยากก็ไม่ควรตั้งราคาขายที่สูงนัก ขายเท่าทุนหรือบางครั้งขาดทุนก็ต้องยอมเพื่อให้ได้เงินก้อนมาปิดหนี้ที่มีอยู่ มีลูกหนี้บางรายบ้านราคาสูงมาก ผ่อนไปแค่ 2-3 ปี เงินต้นยังเหลืออีกมาก ต้องยอมขายขาดทุน แถมยอมจ่ายค่าโอน ค่าธรรมเนียม ทุกอย่างเหมือนเป็นการตัดแขนตัดขาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
โอนทรัพย์ชำระหนี้
หากประกาศขายบ้านแล้วไม่สามารถขายได้สักที ให้ลองติดต่อธนาคารเพื่อขอโอนทรัพย์ชำระหนี้ คือ โอนบ้านให้กับธนาคารเพื่อเป็นการชำระหนี้ วิธีนี้ปกติธนาคารจะไม่ชอบและอาจจะไม่ดำเนินการให้ อย่างไรก็ตามหากธนาคารไม่ดำเนินการให้ ธนาคารต้องแจ้งเหตุผลในการไม่ดำเนินการให้เราด้วย หากธนาคารไม่แจ้งเหตุผลหรือมีเหตุผลที่ไม่เหมาะสมเรามีสิทธิ์ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แม้สุดท้ายวิธีอาจใช้ไม่ได้ แต่เราก็ควรลองดูนะคะ
ปล่อยให้บ้านโดนยึด
ที่จริงคงไม่มีใครอยากให้ถึงขั้นปล่อยให้บ้านโดนยึดกันหรอก แต่หากเรามีปัญหาการเงินมากแบบถาวร ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้แน่ แถมประกาศขายมาตั้งนานแล้วก็ขายไม่ได้สักที พยายามส่งค่างวดให้ต่อเนื่องแต่ก็ไม่ไหวแล้ว ประนอมกับหนี้ธนาคารไปรอบหนึ่งแล้ว หนี้ต่อเดือนก็ลดแล้ว แต่ก็ยังจ่ายไม่ไหวอีก ไม่รู้จะทำอย่างไรจริง ๆ แบบนี้ก็ขอให้หยุดจ่ายไปก่อน อย่างไรเสียธนาคารจะไม่สามารถมายึดบ้านเราภายในวันนี้พรุ่งนี้ ขั้นตอนต่าง ๆ จะใช้เวลาเป็นปีทำให้เรามีโอกาสที่จะได้อยู่บ้านหลังนั้นต่อไปก่อน และหาช่องทางในการเก็บเงินเพื่อคืนหนี้หากเงินจากการขายทอดตลาดจากธนาคารไม่เพียงพอ ปกติธนาคารจะไม่ส่งฟ้องศาลเร็วเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่อยากจะพูดถึง เนื่องจากคดีความเรื่องบ้านมีอายุความนานถึง 10 ปี ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องรีบ ธนาคารจะรอเวลาให้หนี้ของเราเกิดดอกเบี้ยทบต้นพอกพูนไปพอสมควรก่อน เนื่องจากขั้นตอนการส่งฟ้องศาลรวมถึงการขายทอดตลาดต่าง ๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการและเสียเวลาเป็นอย่างมาก ธนาคารเขาก็ต้องเผื่อของเขาไว้ด้วย
เมื่อหนี้พอกพูนมากพอ ธนาคารก็จะส่งเรื่องฟ้องศาล หากศาลช่วยไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ เช่น ลดหนี้ ขยายเวลา ก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่หากตกลงกันไม่ได้ศาลอาจอนุญาตให้นำบ้านออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ได้ เมื่อถึงขั้นตอนการขายทอดตลาด หากเงินที่ขายจากการทอดตลาดได้น้อยมาก ในฐานะลูกหนี้เราก็มีสิทธิ์คัดค้านการขายทอดตลาดครั้งนั้น ก็จะต้องมีการขายทอดตลาดกันใหม่ และสุดท้ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็จะถูกนำไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หากยังไม่พอธนาคารก็จะมีสิทธิ์มาบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ต่อไปเพื่อให้ครบจำนวนหนี้
อ่านเพิ่มเติม : แนวทาง ผ่อนชำระหนี้บ้าน ในปี 2559