หลังจากผู้เขียนได้อ่านกระทู้ https://pantip.com/topic/36984807 ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตการเปลี่ยนแปลงทางการเงินจากการทำงานเป็น รปภ. ก็เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า สำหรับคนที่ทำงานหนักตลอด 12 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้หยุดพัก จะมีการบริหารเงินเดือนให้เหลือเก็บในแต่ละเดือนได้อย่างไร และยังมีอีกหลายภาระทางการเงินที่จะต้องจัดการ ซึ่งนั่นเท่ากับว่ารายจ่ายในแต่ละเดือนก็ต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จุดที่น่าสนใจจากประสบการณ์ในการบริหารจัดการเงินนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคนิคและวิธีการแก้ปัญหาที่ดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดและทัศนคติในการใช้ชีวิต เรามาดูกันดีกว่า ว่า รปภ.ท่านนี้ มีวิธีการบริหารจัดการเงินในแต่ละเดือนได้อย่างไร
1.การลงทุนด้านความคิด
เมื่อเราทำความเข้าใจแล้วว่า รายได้จากงานประจำที่ทำอยู่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทั้งของตนเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าเทอมลูก การปรับหรือคิดที่หาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มหรือหางานทำใหม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นย่อมมีมากกว่า
2.การหารายได้
การสร้างหรือการหารายได้ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องมีเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะจัดการเงินได้ ซึ่งโดยปกติแล้วความสามารถในการหารายได้ของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันออกไป และแหล่งรายได้ที่เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการหาเงินนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
– รายได้จากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นค่าตอบแทนที่แลกมาจากการทำงานอย่างหนัก
– รายได้จากทรัพย์สิน หรือที่เรามักเรียกว่า Passive Income ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากกองทุนรวม หุ้น ค่าเช่า สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับเราอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นเครื่องทุ่นแรงให้กับเราได้
3.การใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
ทุกวันนี้เรามีความจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรธิดา ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เราจะต้องจ่ายอยู่เป็นประจำ ซึ่งในจุดนี้สามารถจัดสรรงบค่าใช้จ่ายได้ ด้วยการบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพราะการจัดทำงบค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเองได้ ว่าจะต้องปรับงบค่าใช้จ่ายหรือปรับนิสัยการใช้จ่ายอย่างไร
4.การออม
ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ หลาย ๆ คนมองว่า การออมเป็นเรื่องที่ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะการออมเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัวนั้นจำเป็นต้องรู้วิธีการสะสมเงินออมให้เป็นเสียก่อน บางคนหาเงินได้มาก รายได้สูงแต่ก็ใช้หมด บางคนเงินน้อยแต่สามารถเก็บเงินได้หลักล้าน
5.ความมีวินัยทางการเงิน
ความมีวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่ดูเหมือนง่าย แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการออมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จทางการเงิน แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้น การเริ่มทำและลงมือปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยจะช่วยให้เรามีวินัยในทางการเงินโดยอัตโนมัติ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดีตาม
6.การลงทุนในตัวเอง
การลงทุนในที่นี้หมายถึง การลงทุนสุขภาพ เพราะสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั่นไม่ต้องใช้เงิน เพียงแต่จ่ายด้วยเวลา เมื่อได้รับการนอนพักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่แล้วก็จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพราะว่าสมองแจ่มใส
7.การบริหารเวลา
หลาย ๆ คนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับในเรื่องของการจัดสรรเวลาหาเงิน เวลาพักผ่อน เวลาส่วนตัว เวลาที่จะให้ครอบครัว เพราะตารางงานที่แน่นและไม่สามารถที่จะหยุดพักได้อย่างอาชีพอื่น ๆ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด คือ การพูดคุยและทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว และเมื่อบริหารเวลาได้อย่างเต็มที่ในสิ่งที่ทำ ไม่มีความสุขไหนเท่ากับการได้อยู่กับครอบครัวที่เรารัก
จากการแชร์เรื่องราวประสบการณ์การทำงานเป็น รปภ. โดยส่วนตัวแล้วทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากความกล้าที่คิดจะปรับเปลี่ยนช่องทางการสร้างรายได้ และหลักการบริหารค่าใช้จ่ายนั้นเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีอยู่ 3 หัวข้อด้วยกัน คือ
1.พอประมาณ คือ การใช้ชีวิตได้อย่าเหมาะสม ซึ่งความพอประมาณในที่นี้หมายถึง เราควรมีความพอประมาณทั้งรายได้และความพอประมาณในการใช้จ่าย ด้วยการทำงานในอาชีพที่สุจริต ทำงานอย่างเต็มความสามารถ เน้นการพึ่งพาตัวเอง ไม่ใช้จ่ายเกิดตัว เกินฐานะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
2.มีเหตุผล จะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องมีเหตุผล มีหลักการ มีการวิเคราะห์ รู้เท่าทันตัวเองและผู้อื่น และสิ่งที่ตัดสินใจทำลงไปนั้น มีความจำเป็นหรือสิ่งไหนที่ไม่จำเป็น ดังนั้นการตัดสินใจจำเป็นต้องใช้สติและการไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่ใช่ทำตามกระแส หรือเอาอารมณ์มาใช้ในการตัดสินใจหรือทำตามเพราะคนอื่นบอก
3.มีภูมิคุ้มกันที่ดี การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะส่งผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคต การตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทจะช่วยให้เราสามารถลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ได้
จะเห็นได้ว่า แนวทางพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น มีความเรียบง่ายที่เราทุกคนทำตามได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพใดก็ตาม