มาอีกแล้ว…ข่าวที่บริษัทประกันชีวิตแจ้งจดหมายไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันได้ เพราะเจอว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวที่มีมาก่อน… ได้แต่ถอนหายใจหลายๆ รอบ … แล้วก็นึกในใจว่ามีมาอีกแล้ว… แล้วก็คิดในใจอีกว่าเมื่อไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกันชีวิตและการโฆษณาจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้กันเสียที…
เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่ามีแบบไหนบ้างที่ทำให้ไม่สามารถได้รับเงินประกันจาก ประกันชีวิตผู้สูงอายุ เอาแบบที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ ก่อนเลย ก็คือ
การทำประกันชีวิตจะมีระยะเวลาการรอคอย คือ ภายใน 2 ปีนับจากวันที่อนุมัติกรมธรรม์ ถ้าเกิดมีการเสียชีวิตเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ บริษัทประกันชีวิตจะไม่จ่ายเงินค่าประกันคืนให้กับทายาทของผู้เอาประกันภัย แต่จะจ่ายคืนเฉพาะค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับบริษัทกับผลตอบแทนอีกนิดหน่อยเท่านั้น ว่ากันง่ายๆ ระยะเวลาการรอคอยนี้ก็เหมือนจะเป็นระยะปลอดภัยของผู้สูงอายุ ประมาณว่าถ้าบริษัทประกันอนุมัติกรมธรรม์มาให้แล้ว และสามารถมีชีวิตอยู่รอดภายใน 2 ปีแล้วล่ะก็ แสดงว่าเป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงอยู่
ส่วนเงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างที่ทำให้บริษัทประกันชีวิตไม่จ่ายค่าทดแทนเมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต ถึงแม้ว่าจะสามารถอยู่ได้มากกว่า 2 ปีนับจากวันอนุมัติกรมธรรม์ ก็คือ เงื่อนไขทางกฎหมายที่เชื่อได้เลยว่าคนที่ซื้อประกันชีวิตน้อยคนนักจะรู้ว่ามีกฎหมายข้อนี้บังคับใช้อยู่ด้วย นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. มาตรา 865 ที่บอกไว้ว่า ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
อ่านเพิ่มเติม >> ซื้อประกันผู้สูงอายุ ให้พ่อกับแม่ ดีหรือเปล่า ? <<
และโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครองมีอยู่ 9 โรค ได้แก่
- โรคมะเร็งลำไส้
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็ง
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคลมชัก
- โรคไตวายร้ายแรง
- โรคดีซ่าน
ซึ่งอธิบายได้ง่ายๆ เช่น ถ้าสมมติคุณลุงของเราเป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว และก็ไปทำประกันชีวิตผู้สูงวัยตามที่เห็นในทีวี โดยที่คุณลุงไม่ได้บอกกับคนขายว่าเป็นโรคเบาหวาน (ก็ไม่มีใครถามอ่ะ) หลังจากจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตไปได้ 5 ปี คุณลุงเกิดเสียชีวิตขึ้นมาด้วยโรคหัวใจที่ถึงแม้ว่าจะตรวจเจอหลังจากทำประกันไปแล้วก็ตาม คุณลุงก็จะไม่ได้รับเงินคืน เพราะบริษัทประกันชีวิตก็ใช้ มาตรา 865 นั่นแหละมาเป็นเหตุผลที่ไม่จ่ายเงินประกันคืนให้กับลูกหลานของคุณลุง เพราะวันที่ทำประกันคุณลุงไม่ได้บอกว่าเป็นโรคเบาหวานนั่นเอง อีกทั้งก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับลูกหลานของคุณลุง บริษัทประกันก็จะตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของคุณลุงที่โรงพยาบาลก่อน ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 90 วันในการตรวจสอบ แล้วถึงจะแจ้งผลให้ทราบว่าไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้
หรือจะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สมมติว่าคุณลุงคนเดิมที่เป็นโรคเบาหวานและทำประกันสูงวัย ต่อมาอีกไม่ถึง 1 เดือนนับจากที่ทำประกันไป คุณลุงดันเกิดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วการเสียชีวิตครั้งนี้คุณลุงน่าจะต้องได้รับเงินคืน แต่ก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายคืนก็จะไปตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของคุณลุงก่อน แล้วพอเจอว่าคุณลุงเป็นโรคเบาหวานมาก่อนทำประกัน บริษัทประกันก็จะใช้มาตรา 865 อีกเหมือนกันมาเป็นเหตุผลที่จะไม่จ่ายเงิน
นี่แหละคือสิ่งที่บริษัทประกันไม่ได้บอกเราเวลาที่เราตัดสินใจซื้อ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ และทำให้หลายๆ คนไม่ได้รับเงินจากบริษัทประกันเวลาที่เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ตัวว่าเราเป็นโรคอะไรแล้วก็ตาม และยังมีความต้องการทำ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ อีกแล้วล่ะก็ บอกคนขายประกันไปก่อนเลยว่าฉันมีโรคนี้อยู่นะ ฉันเป็นโรคนั้นอยู่นะ จะรับฉันทำประกันหรือเปล่า รีบบอกไปก่อนเลย เราจะได้ไม่ต้องมาเสียค่าโง่ในภายหลัง
อ่านเพิ่มเติม >> รู้ทัน กลยุทธ์ขายประกัน <<