วันนี้มีโฆษณา ประกันผู้สูงอายุ มาอีกแล้ว แถมวิธีการโฆษณาก็ยังบอกรายละเอียดในการทำประกันไม่หมดอีกอยู่ดี ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าจะต้องมีผู้ใหญ่ภายในครอบครัวของใครอีกหลายๆ คน เข้าใจผิดกับโฆษณาการทำประกันแบบนี้ก็เป็นได้ ถ้าเราเป็นลูกเป็นหลานก็อย่าลืมใส่ใจกับผู้สูงอายุในครอบครัวของเราด้วย
ประกันสำหรับผู้สูงอายุ คือ การทำประกันที่คุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บให้กับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี และคุ้มครองยาวไปถึงอายุ 90 ปี เป็นประกันที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่มีการถามคำถามสุขภาพ และจ่ายเบี้ยประกันคงที่ตลอดระยะเวลาที่ต้องจ่ายเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เราจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยไปจนถึงอายุ 90 ปี ถ้าไม่จากโลกใบนี้ไปเสียก่อน และต้องมีชีวิตอยู่มากกว่า 2 ปีแรกที่ทำประกันถึงจะได้รับเงินคืนหากมีการเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้าเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บภายใน 1-2 ปีนับจากวันทำประกันภัยก็จะได้คืนเพียงค่าเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไปแล้วรวมกับผลตอบแทนอีกนิดหน่อยประมาณ 2-3% ของค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป แต่ถ้าหากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุภายใน 1-2 ปีหลังจากทำประกันไปแล้วบริษัทก็จะจ่ายตามวงเงินที่คุ้มครองตามสัญญาในกรมธรรม์
แต่สิ่งที่บริษัทประกันไม่เคยบอกให้คนทำประกันสูงวัยได้รับรู้เลยก็คือ หากผู้สูงวัยของเรามีโรคภัยไข้เจ็บเป็นโรคประจำตัวอยู่ก่อนทำประกันแล้ว และไม่ได้แจ้งให้ตัวแทนประกันได้ทราบในวันที่ทำประกันก็จะทำให้เราไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาในกรมธรรม์ ซึ่งโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครองหรือจะเรียกร้องเงินประกันคืนไม่ได้มีอยู่ 9 โรค ได้แก่
- โรคมะเร็งลำไส้
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็ง
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคลมชัก
- โรคไตวายร้ายแรง
- โรคดีซ่าน
ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าข้างต้นนี้เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ที่บอกไว้ว่า ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
เพราะฉะนั้นบริษัทประกันจึงใช้ข้อกฎหมายมาตรานี้ที่เป็นเหมือนช่องโหว่มาใช้ทำการตลาด เพื่อจูงใจให้มีการซื้อประกันของบริษัทตัวเอง เพราะจากสถิติแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ก็มักจะมีโรคประจำตัวยอดฮิตกันก็คือ โรคเบาหวาน แต่ในเมื่อตอนทำประกันไม่มีใครถามก็เลยไม่ได้ตอบหรือแจ้งให้ตัวแทนบริษัทประกันทราบ ทีนี้เมื่อทำประกันไปแล้ว พ้นระยะเวลา 2 ปี หรือที่เรียกตามธุรกิจประกันว่า “ระยะเวลาการรอคอย” แล้วผู้สูงอายุได้เสียชีวิตลงด้วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคเบาหวาน และเพิ่งเป็นหลังจากทำประกันไปแล้ว ก็จะไม่ได้รับเงินประกันคืนเหมือนกัน เพราะบริษัทประกันจะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 มาใช้กับการจ่ายคืนเงินประกันในกรณีนี้นั่นเอง
หรือแม้แต่ว่าผู้สูงอายุที่ได้ทำประกันสูงวัยกับบริษัทประกัน มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน แต่ ณ วันทำประกันไม่ได้แจ้งกับตัวแทนอีกเหมือนกัน หากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ลูกหลานของผู้สูงอายุในกรณีนี้ก็จะไม่ได้รับเงินทดแทนตามสัญญาในกรมธรรม์อีกเหมือนกัน เพราะบริษัทประกันก็จะอ้างมาตรา 865 ขึ้นมาอีกเช่นกัน ซึ่งก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายคืนเงินให้กับลูกหลานได้นั้น บริษัทก็จะมีการตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุกับโรงพยาบาลต่างๆ ก่อน ซึ่งใช้เวลานานถึง 90 วัน จึงจะแจ้งผลให้ทราบได้ว่าบริษัทจะจ่ายเงินคืนให้ตามสัญญาหรือเปล่า