เฮลั่น! กันไประลอกหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 59 ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลประกาศบังคับเพิ่มค่าจ้างสูงสุด 700 บาท ให้กับแรงงานฝีมือ 20 สาขา หากผู้ประกอบการใดไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
คราวนี้ถึงคิวแรงงานฝีมืออีก 12 สาขา เตรียมรับฟังข่าวดีให้ชื่นใจ รับค่าจ้างเพิ่มในเดือน ต.ค. 59 ที่จะถึง เมื่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ออกมากล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 12 สาขาอาชีพ ในวันที่ 6 ก.ย. 59 ว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต้องการพัฒนาประเทศจากประเทศไทย 3.0 ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เป็น “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เพื่อนำพาให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จึงต้องการพัฒนาศักยภาพแรงงานในวงกว้าง ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือให้มีคุณภาพรองรับความต้องการของโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่สิ้นสุด
“การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ” จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะเป็นแรงจูงใจอย่างดีเยี่ยมในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นผู้ใช้แรงงานได้พัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) โดยพัฒนาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ที่ยังไม่มีทักษะฝีมือ หรือยังมีทักษะเพียงเล็กน้อย (Unskilled labour) ไปจนถึงช่างระดับฝีมือ (Skilled labour) ให้เกิดกำลังใจในการทำงานให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้บริโภคได้สินค้าและการบริการที่ดี ตัวผู้ประกอบการก็จะได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจ และในที่สุดประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์โดยรวมนั่นเอง
ในปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผลบังคับใช้แล้วใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 55 สาขาอาชีพ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหาร ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น ซึ่งมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 320-775 บาท ตามระดับความสามารถ
สำหรับ 12 สาขาอาชีพ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล/ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ/ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง/ช่างเทคนิคไฮโดรลิก
- อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 4 สาขา คือ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น/ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่/ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก/พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ
- อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ/ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม/ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัดอีดีเอ็ม/และช่างขัดเงาแม่พิมพ์
โดยทั้งหมดจะมีร่างอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 385-550 บาท ในมาตรฐานฝีมือ 2 ระดับ ซึ่งจะต้องนำเข้าเสนอคณะอนุกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดเข้าระบบตามสูตรการคำนวณ ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาในลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
ปลัดกระทรวงฯ ยังได้ให้ความเห็นในส่วนของนายจ้างว่า น่าจะมีความพร้อมในการจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้กับลูกจ้างที่มีฝีมือ ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดสมรรถนะความสามารถในสาขาอาชีพต่างๆ และกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างมีแรงจูงใจในการพัฒนาความรู้และทักษะของตนให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
เมื่อพิจารณาให้ดี หากทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกันอย่างดี นอกจากประโยชน์จะตกสู่ทั้งสองฝ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ประเทศไทยเองก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดด้วยเช่นกัน เพราะการพัฒนาคนด้วยมาตรฐานที่ดี จะทำให้สินค้าและบริการจากไทยเป็นที่ยอมรับสู่ระดับมาตรฐานโลกได้ไม่ยากเลยทีเดียว
…เพราะคนไทยมีฝีมือ ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว…
ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1473152569