เดี๋ยวนี้บ่อยครั้งที่เวลาเราเข้าไปอ่านใน Social Media ต่างๆ ทั้งหลาย เรามักจะเจอว่ามีหลายๆ คนที่เข้ามาแบ่งปันวิธีการเก็บเงินออม เช่น วันนี้มี 1 ล้านแรกแล้ว หรือไม่ก็เป็น สำเร็จแล้วมีเงินหลักล้านแบบคนอื่นแล้ว อะไรทำนองนี้ แล้วพอหันกลับมามองตัวเองกลับพบว่าทำไมฉันยังไม่เป็นแบบคนอื่นบ้างสักที ทำไมทำงานมาตั้งนานแล้วยังไม่มีเงินเก็บเลย หรือมีแต่ก็ยังเป็นแค่หลักหมื่น นั่นอาจจะเป็นไปได้ว่าเรายังไม่เคยตั้ง เป้าหมายทางการเงิน ให้ตัวเองสักที หรือไม่ บางทีตั้งเป้าหมายไว้แล้วแต่ก็ล้มเลิกกลางคัน ดังนั้น ถ้าเราอยากเป็นเหมือนคนอื่นบ้างเราลองมาตั้งเป้าหมายทางการเงินของเราให้ SMART กัน
เป้าหมายทางการเงินที่ SMART นั้นคืออะไร เรามาเรียนรู้และลองตั้งเป้าหมายทางการเงินไปพร้อมๆ กันเลย โดยเป้าหมายทางการเงินที่ SMART นั้นมาจากคำ 5 คำ คือ Specific (ต้องชัดเจน) Measurable (ต้องวัดผลได้) Accountable (รู้ว่าต้องทำอย่างไร) Realistic (ต้องทำได้จริง) และ Time Bound (ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอน) ซึ่งเรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ตัวนั้นจะต้องทำแบบไหนกันบ้าง
เริ่มที่เป้าหมายทางการเงินตัวแรกกันว่า
ต้องชัดเจน หรือ Specific คือ เป้าหมายที่ดีต้องบอกให้ชัดไปเลย ว่า เป้าหมายของเรานั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นแบบไหน ไม่คลุมเครือ เพื่อทำให้เป้าหมายของเรานั้นสามารถจับต้องได้ เช่น เราอยากมีเงินออมอยู่ ดังนั้น เป้าหมายทางการเงิน ของเราในวันนี้จึงน่าจะเป็น ฉันจะต้องมีเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารเท่าไหร่ หรือถ้าปีนี้เราตั้งใจจะลงทุนเป้าหมายของเราก็ควรจะเป็น ฉันจะต้องมีเปิดบัญชีและซื้อหุ้นเข้าพอร์ตตัวเอง หรือฉันจะต้องเปิดบัญชีและซื้อกองทุนให้กับตัวเอง
ตัวถัดมาคือ M เป้าหมายทางการเงินที่ดีต้องวัดผลได้ หรือ Measurable ซึ่งเป้าหมายที่จะวัดผลได้ก็ต้องเป็นตัวเลขหรือตัวเงินที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยทำให้เรารู้ได้ว่า อีกนานแค่ไหนที่เราจะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ เช่น
- ฉันจะต้องมีเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 500,000 บาท
- ฉันจะต้องมีหุ้นในพอร์ตทั้งหมด 500,000 บาท
- ฉันจะต้องมีกองทุนเป็นของตัวเอง 500,000 บาท
ทีนี้พอเราเห็นเป้าหมายของเราที่เป็นตัวเลขแล้วก็ทำให้รู้แล้วว่าเราจะต้องเริ่มแบบไหนดี
ต่อมาคือ A เป้าหมายทางการเงินที่ดีต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย หรือ Accountable ซึ่งจากสองตัวแรกที่เราตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนและวัดผลได้นั้น จะช่วยให้เรารู้ว่าเราจะทำแบบไหนดีให้ไปถึงเป้าหมายของเรา เช่น จะมีเงินฝากในบัญชีธนาคาร 500,000 บาท เราจะต้องแบ่งเงินจากบัญชีเงินเดือนฝากเข้าบัญชีธนาคารสำหรับการออมโดยทำเป็นการตัดบัญชีอัตโนมัติ ทุกวันที่เงินเดือนออก เดือนละ 10,000 บาท หรือจะเป็นการเปิดบัญชีกองทุนและแจ้งความประสงค์กับ บลจ.ว่าขอตัดบัญชีอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นต้น
เป้าหมายทางการเงินอีกตัวคือ ต้องทำได้จริง หรือ Realistic ซึ่งจะหมายถึงว่าเป้าหมายที่เราตั้งมานั้นจะต้องสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อที่เป้าหมายของเราจะไม่ได้เปลี่ยนเป็นฝันกลางวันไปเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ง่ายเสียจนเมื่อพอเราทำได้ก็จะรู้สึกเฉยๆ กับสิ่งที่สำเร็จ เช่นสมมติว่าเราเป็นพนักงานธรรมดามีเงินเดือน เดือนละ 50,000 บาท ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าฉันจะมีเงินออมสัก 100,000 บาท แบบนี้ก็ดูจะง่ายเกินไปเพราะใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำได้แล้ว หรือเป้าหมายที่เป็นแบบฝันกลางวัน เช่น ฉันจะมีเงินฝากธนาคาร 50 ล้านบาท แบบนี้ก็ดูจะยากจนเกินไป เพราะเป้าหมายที่ดีนั้นต้องทำได้จริง ง่ายไปก็ดูไม่ตื่นเต้น ยากเกินไปก็อาจจะทำให้ท้อจนกลายเป็นฝันในอากาศไปไม่ถึงสักที
นอกจากนั้นแล้ว ถ้าต้องการให้เป้าหมายสำเร็จสิ่งที่ต้องกำหนดไว้อีกตัวก็คือ มีกำหนดเวลาที่แน่นอน หรือ Time Bound เราต้องบอกให้ได้เลยว่าเป้าหมายทางการเงินของเรานั้น เราอยากเห็นผลเมื่อไร เพราะถ้าเราไม่กำหนดเวลาไว้ เราก็จะทำไปแบบเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะทำได้ตามเป้าหมายของเราสักที
ดังนั้น เรามาเริ่มต้นตั้งเป้าหมายทางการเงินของเราให้ SMART กันเสียตั้งแต่วันนี้กันเลยดีกว่า เพราะเพิ่งจะเป็นต้นปีเอง ดังนั้นเรามาเริ่มตั้งเป้าหมายทางการเงินกัน สมมติว่าเป็นพนักงานบริษัทมีเงินเดือน 50,000 บาท เพราะฉะนั้นเราก็เลยตั้งเป้าหมายให้ SMART แบบนี้เลย
S = ฉันจะมีเงินออมในบัญชีเงินฝาก
M = 120,000 บาท
A = โดยการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับเงินออมทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท
R = เป็นการหักเงินประมาณ 20% ของเงินเดือน
T = โดยจะต้องทำให้ได้ภายในสิ้นปี 2559
อ่านจบก็ตั้ง เป้าหมายทางการเงิน ให้ตัวเองกันเลย บางทีสักวันเราอาจจะได้เป็นคนที่เข้าไปแชร์ประสบการณ์การเก็บเงินใน Social Media เหมือนคนอื่นบ้างก็เป็นได้