การทำธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เรามักเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าธุรกิจ 10 ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้เพียงแค่ 1-2 ธุรกิจเท่านั้น อีก 8-9 ธุรกิจจะต้องล้มหายตายจากไป พอฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกได้เลยว่าการทำธุรกิจให้ได้ผลกำไรอยู่ได้แบบยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายจริง ๆ
โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องทรัพยาบุคคล รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่มีสเกลใหญ่กว่า จึงทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ยิ่งยากขึ้นไปด้วย
แต่อย่าเพิ่งหมดหวังกันไปค่ะ เพราะก็มีธุรกิจ SME ไม่น้อยเหมือนกันที่แม้จะเริ่มจากเงินทุนเพียงน้อยนิด ทำธุรกิจในสเกลเล็ก ๆ แต่สุดท้ายก็สำเร็จกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งถึงกับเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีเช่นกัน ดังนั้นหนทางของธุรกิจ SME จึงไม่ใช่ว่าจะมืดมนไปเสียทีเดียว สิ่งสำคัญคือเราจะต้องเรียนรู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีความสำคัญที่จะเป็นตัวส่งเสริมให้ทำธุรกิจจนเกิดผลกำไรได้ ช่องทางหนึ่งก็คือเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน
ดังนั้นวันนี้เราจึงมีคำแนะนำที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีประโยชน์มากสำหรับเจ้าของธุรกิจ SME มาฝากค่ะ
- ใหม่ ชัด และโดน ธุรกิจ SME ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แตกต่าง พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องใหม่ ต้องชัด และต้องโดนใจลูกค้านั่นเอง เทรนด์ความนิยมสินค้าในโลกนี้นั้นเปลี่ยนแปลงไป จากแต่ก่อนที่จะเน้นสินค้าแบบต้องผลิตมาก ๆ ราคาต้นทุนจะได้ถูก ใครขายได้ราคาถูกกว่าก็กินส่วนแบ่งตลาดไป แต่สำหรับธุรกิจ SME ต้องสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นจากตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพราะเราไม่สามารถไปแข่งขันกับธุรกิจใหญ่ที่ผลิตสินค้าจำนวนมาก ๆ ได้อยู่แล้ว ธุรกิจ SME ก็ต้องหันมาฉีกสร้างไอเดียลงสินค้าให้แตกต่าง พอนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรต่างได้อีก ก็ต้องหันมาสร้างความต่างจากกระบวนการผลิตแทน เช่น กาแฟเหมือนกัน แต่ของเราใช้ Slow drip ทำให้ได้กาแฟที่หอมนุ่มละมุนไม่เหมือนใคร สินค้าชิ้นนี้ผ่านโรงงานผลิตที่มีกระบวนการ ISO9001 ได้มาตรฐาน หรือกระเป๋าหนังสไตล์กิ๊บเก๋ใบนี้แตกต่างเพราะใช้มือเย็บ เป็นต้น ถ้าไม่แตกต่างก็ยากที่จะต่อสู้ในสมรภูมิธุรกิจที่มีคู่แข่งมากมายได้
- มองหาพาร์ทเนอร์ที่ดี พาร์ทเนอร์ที่ดีมีส่วนช่วยให้ธุรกิจ SME ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องมองหาผู้ร่วมทุนจะเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจของเราให้ได้ อย่างว่าเราทุนน้อย ธุรกิจก็เริ่มจากเล็ก ถ้าอยากขยายก็จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุน แล้วเรื่องการบริหารก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง นอกจากหาเงินก็ต้องหาผู้ช่วยที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราไม่รู้ด้วย เครือข่ายของพาร์ทเนอร์ที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าขึ้นได้มากและเร็ว การกำหนดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้ร่วมทุนก็สำคัญ ควรออกแบบให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ยึดหลักให้เขาถือหุ้นโดยที่เราต้องไม่เสียอำนาจในการบริหารในมือไปด้วย หากไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวอาจหาทนายมาเป็นที่ปรึกษาให้ การกำหนดโครงสร้างไว้ให้ดีตั้งแต่แรกจะดีกว่ามาเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
- ศัตรูสำคัญที่ทำให้ล้มเหลวคือตัวเอง มีหลายคนเข้าใจผิดว่าศัตรูสำคัญที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลวก็คือคู่แข่ง แท้จริงแล้วก็คือตัวเอง เพราะตราบใดที่เจ้าของกิจการเริ่มปล่อยวาง รู้สึกสบาย ๆ ทิ้งให้ธุรกิจที่สร้างมาค่อย ๆ เดินไปด้วยตัวเอง ไม่มีการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนอะไร เพราะคิดว่ามันอยู่ได้แล้ว นี่เป็นความคิดที่น่ากลัวมาก เพราะมันหมายถึงความประมาท อย่าลืมว่าทุกธุรกิจที่อยู่บนโลกใบนี้มีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่หมุนเวียนเข้ามาอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าเราหยุดอยู่เฉยก็ไม่ต่างอะไรกับเรากำลังถอยหลังในขณะที่คนอื่นเขากำลังก้าวเดินไปข้างหน้า ดังนั้นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้ธุรกิจ SME ล้มเหลวก็คือตัวเจ้าของธุรกิจเอง การพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SME ประสบความสำเร็จได้แบบยั่งยืน ไม่ใช่มีกำไรแค่ไม่กี่ปีแล้วก็ล้มหายตายจากไป
- คิดบวก แจ๊ค หม่า ได้เคยให้คำแนะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึง SME ไทยเมื่อคราวที่เดินทางมาประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยแจ๊ค หม่าได้บอกถึงเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้เจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ก็คือเรื่องของทัศนคติในเชิงบวกนั่นเอง ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่โลกเราเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเหมือนยุคปัจจุบัน ตัวเขาและนักธุรกิจอีกหลายคนทั่วโลกก็ยังผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาแล้วจนมีวันนี้ได้ แต่วันนี้โลกเรามีแทบทุกอย่างครบ ก็อยู่แค่ว่าเราจะหยิบยกอะไรไปใช้กับธุรกิจของเรา ตอนเขาเริ่มต้นทำธุรกิจไม่มีใครให้เงินทุนเขามาทำเลย สุดท้ายเขาและเพื่อน ๆ ต้องนำเงินทั้งหมดมากองรวมกันได้ห้าหมื่นดอลลาร์สหรัฐ ก็เริ่มด้วยเงินทุนก้อนนั้น ไม่ได้ยืมใคร เงินจำนวนนี้ช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ได้ถึง 10 เดือน นับจนถึงทุกวันนี้มีแต่คนถามเขาว่าทำไมผู้ลงทุนในอาลีบาบามีแต่คนอเมริกันกับญี่ปุ่นทั้งนั้น เขาก็เลยตอบไปว่าก็ตอนนั้นไม่เห็นมีใครให้ผมยืมเงินหรืออยากร่วมลงทุนกับผมเลย แจ๊ค หม่า ยังได้ทิ้งท้ายไว้ในเรื่องความสำเร็จว่าไม่ได้วัดกันที่ว่าเราจะทำเงินได้มากแค่ไหน แต่วัดจากที่เมื่อแก่ตัวไปแล้ว เรามีเรื่องราวมากมายแค่ไหนให้พูดถึงต่างหาก ประสบการณ์ชีวิตจึงมีค่ามากกว่าเงิน
การทำธุรกิจ SME ให้สำเร็จถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แจ๊ค หม่าก็ได้เคยพูดไว้ว่าตัวเขาเองชอบที่จะพูดคุยกับนักธุรกิจเจ้าของกิจการขนาดเล็ก เพราะเขาจะสัมผัสได้ถึง passion และความมุ่งมั่นของคนเหล่านั้น ดังนั้นในเมื่อเรามีความตั้งใจและความฝัน ก็เพียงแต่สานต่ออย่างถูกทาง โดยนำคำแนะนำข้างต้นไปวางแผนหรือต่อยอดกับธุรกิจ SME ของคุณเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนจนวันหนึ่งอาจกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับคุณก็ได้