เกือบทุกคนมีโอกาสได้รู้จักกับประกันสังคมก็น่าจะเมื่อเริ่มต้นทำงานกับบริษัทมีรายได้ประจำแล้วเงินเดือนหรือรายได้เราต้องถูกหักสมทบประกันสังคมไปนั่นแหละ เราถึงเริ่มอยากรู้จักว่าประกันสังคมคืออะไรทำไมมีสิทธิ์มาหักเงินเดือนเราไปทุกเดือน หักไปทำอะไร แล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์อะไรจากประกันสังคมบ้าง หากเราทำงานกับบริษัทเอกชนที่พนักงานตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป ก็จะต้องเข้าระบบประกันสังคมที่เรียกว่าเป็นประกันสังคมภาคบังคับหรือมาตรา 33 นี้ โดยที่ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ โดยการส่งเงินสมทบจะส่งจากตัวผู้ประกันตน 5% นายจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% ของเงินเดือน ตั้งแต่ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และจะได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองทั้งหมด 7 กรณีด้วยกัน คือ รักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ เสียชีวิต ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพและว่างงาน
ตราบใดที่เรายังทำงานเป็นพนักงานประจำกับบริษัทเอกชนอยู่ก็จะต้องอยู่ในระบบประกันสังคมไปตลอด แม้มีการโยกย้ายเปลี่ยนงานเปลี่ยนบริษัทก็ตามก็ยังคงต้องอยู่ในระบบประกันสังคมภาคบังคับนี้ต่อไป ยกเว้นลาออกไปทำอาชีพอิสระ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตเท่านั้น
รู้หรือยังว่าตัวเองเป็นผู้ประกันตนประเภทไหน ? > อ่าน <
ถ้าเป็น อดีตลูกจ้างบริษัทเอกชน
มีคำถามว่าหากเราเคยอยู่ในระบบประกันสังคมภาคบังคับเคยทำงานกับบริษัทเอกชนมาก่อน แต่ภายหลังลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองหรือทำอาชีพอิสระ และไม่อยากเสียสิทธิ์ประกันสังคมไปเพราะส่งเงินสมทบไปเป็นเวลานานยังอยากรักษาสิทธิประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ ไว้จะมีวิธีใดที่สามารถทำได้บ้าง ในกรณีนี้เราสามารถสมัครประกันสังคมโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ได้เพื่อให้เรายังอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป
สำหรับมาตรา 39 นี้มีเงื่อนไขในการสมัครว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับในมาตรา 33 มาก่อนไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ การส่งเงินสมทบจะเป็นเงินรายเดือน ๆ ละ 432 บาท รัฐจะสมทบให้อีกเดือนละ 120 บาท โดยสิทธิประโยชน์จะได้รับเหมือนเดิมตามมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงานกรณีเดียวที่มาตรา 39 จะไม่ได้รับเงินทดแทน
หากลาออกไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่ได้ประกันตนเอง โดยสมัครใจตามมาตรา 39 ส่วนของเงินสมทบกรณีชราภาพที่เคยส่งมาในช่วงที่ทำงานจะไม่สูญหายไปไหน เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้รับคืนตามเงื่อนไขของประกันสังคม แต่หากเรายังอยากได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต รวมถึงยังอยากที่จะส่งเงินสมทบกรณีชราภาพอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเลือกสมัครประกันสังคมมาตรา 39 นี้ได้ หากพ้นจากเงื่อนไขที่กำหนดจะไม่สามารถสมัครกลับเข้ามาในระบบประกันสังคมได้อีก ยกเว้นต้องกลับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนใหม่เท่านั้น
ขั้นตอนการสมัครก็สามารถเดินทางไปสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง โดยเตรียมเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา กรอกแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 หรือ แบบ สปส.1-20 ส่วนเงินสมทบรายเดือน ๆ ละ 432 ก็สามารถเลือกจ่ายได้หลายช่องทาง ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน ธนาณัติหรือจ่ายผ่านไปรษณีย์ เคาน์เตอร์ธนาคารหรือตัดผ่านบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 ได้ตามลิงค์นี้ http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=875
ถ้าเป็น อดีตข้าราชการ หรือประกอบอาชีพอิสระ
การเลือกประกันตนเองโดยสมัครใจ นอกจากมาตรา 39 แล้วก็ยังมีมาตรา 40 ที่ทางประกันสังคมออกมาเพื่อรองรับประชาชนที่ทำงานอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่เคยทำงานกับบริษัทเอกชนและไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39
กรณีของข้าราชการที่ลาออกจากราชการและต้องการสมัครเข้าประกันสังคมก็ต้องสมัครในมาตรา 40 นี้เช่นกัน เมื่อสมัครมาตรา 40 นี้ สามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ 2 แบบด้วยกัน
- แบบแรก จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท รัฐช่วยสมทบ 30 บาท รวมเป็นเดือนละ 100 บาท ในกรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณีด้วยกัน คือ เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต
- แบบที่สอง จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท รัฐช่วยสมทบ 50 บาท รวมเป็นเดือนละ 150 บาท ในกรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณีด้วยกัน คือ เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและกรณีชราภาพ
การประกันตนเองตามมาตรา 40 นี้ จะไม่รวมสิทธิการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ ผู้ประกันตนจะต้องเลือกใช้จากสิทธิ์อื่น ๆ ที่เรามีอยู่เช่น บัตรทอง หรือประกันสุขภาพที่ทำไว้เอง เป็นต้น และมาตรา 40 ไม่รวมกรณีคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรด้วย เนื่องจากเป็นเงินกองทุนที่ประกันสังคมบริหารคนละส่วนกันกับเงินกองทุนในมาตรา 33 และ 39
ขั้นตอนการสมัครก็สามารถเดินทางไปสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง โดยเตรียมเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา กรอกแบบขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 หรือ แบบ สปส.1-40 ส่วนเงินสมทบรายเดือนก็สามารถเลือกจ่ายได้หลายช่องทางที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยหรือตัดผ่านบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน รวมถึงจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 40 ได้ตามลิงค์นี้ http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=774
สำหรับการประกันตนเองโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ผู้ประกันตนควรส่งเงินสมทบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้สิทธิ์ประโยชน์ตามประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องไม่ขาดเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน เพราะจะทำให้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่งและภายใน 12 เดือน ต้องส่งเงินสมทบครบ 9 เดือน มิเช่นนั้นก็จะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนที่ส่งเงินไม่ครบ 9 เดือน เช่นกัน
ส่วนมาตรา 40 การส่งเงินสมทบขึ้นอยู่กับผู้ประกันตน หากลืมส่งเงินสมทบจะไม่สามารถส่งย้อนหลังได้ ให้จ่ายเงินสมทบเดือนต่อไปตามปกติ แต่เมื่อมีการเบิกสิทธิ์ ประกันสังคมจะนับสิทธิตามงวดเงินสมทบที่นำส่งเท่านั้น
แม้ลาออกจากงานประจำหรือลาออกจากราชการ ทางประกันสังคมก็ยังมีทางเลือกให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ในการส่งเงินสมทบเพื่อประกันตนเองต่อทั้งในมาตรา 39 และมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับสิทธิ์คุ้มครองจากประกันสังคมตามเงื่อนไขที่กำหนด คนที่ทำงานประจำที่ส่งเงินสมทบมานานก็สามารถคลายกังวลได้ว่าเงินที่เราส่งไปไม่ได้หายไปไหนและเรายังสามารถส่งเงินสมทบต่อเนื่องได้ด้วยการสมัครประกันตนเอง
ข้าราชการที่ลาออกหรือคนมีอาชีพอิสระก็เช่นเดียวกัน หากอยากได้รับสิทธิ์ประกันสังคมโดยเฉพาะในเรื่องของกรณีชราภาพก็สามารถเลือกประกันตนเองตามมาตรา 40 ได้เช่นเดียวกัน